02 149 5555 ถึง 60

 

จ่อประสาน 50 สถาบันอุดมศึกษา มี นศ.เกินหมื่นคน ตั้งคลินิกเฝ้าระวัง "ซึมเศร้า-ฆ่าตัวตาย"

จ่อประสาน 50 สถาบันอุดมศึกษา มี นศ.เกินหมื่นคน ตั้งคลินิกเฝ้าระวัง "ซึมเศร้า-ฆ่าตัวตาย"

กรมสุขภาพจิต ชี้ วัยรุ่นฆ่าตัวตายน้อย แต่เป็นปัญหาสำคัญ ทำตายก่อนเวลาอันควร สูญเสียอายุขัยเฉลี่ย และเศรษฐกิจประเทศ จ่อร่วมมือ 50 สถาบันอุดมศึกษา ที่มีนิสิตนักศึกษามากกว่า 10,000 คน ตั้งคลินิกเฝ้าระวังคัดกรองซึมเศร้า-ฆ่าตัวตาย หวังลดปัญหา อาสัยคนใกล้ตัวร่วมสอดส่อง ตั้งเป้าเป็นจุดประสานงานส่งต่อ

วันนี้ (19 มี.ค.) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงกรณีนักศึกษาฆ่าตัวตายหลายราย ว่า กรมฯ มีการเก็บสถิติการฆ่าตัวตายทุกปี ซึ่งเก็บมาจาก 2 แหล่ง คือ สถานพยาบาล และจากฐานข้อมูลกระทรวงมหาดไทย ซึ่งแบ่งการเก็บข้อมูลออกเป็น 3 วัย คือ วัยรุ่น วัยแรงงาน และวัยสูงอายุ โดยพบว่า วัยแรงงานมีอัตราการฆ่าตัวตายต่อแสนประชากรวัยแรงงานมากที่สุด รองลงมา คือ วัยสูงอายุ และวัยรุ่นนักศึกษา ซึ่งมีอัตราที่ต่ำประมาณ 3 ต่อแสนประชากรวัยรุ่น แม้อัตราจะต่ำแต่เราให้ความสนใจ เพราะการฆ่าตัวตายเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ ซึ่งการตายก่อนเวลาอันควรทำให้สูญเสียอายุขัยเฉลี่ย เช่น ฆ่าตัวตายตอนอายุ 20 ปี แต่อายุขัยเฉลี่ยคนไทย คือ 75 ปี เท่ากับต้องใช้คนอายุ 80 ปี ถึง 11 คนถึงจะเฉลี่ยคืนกลับไปได้ และทำให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจ เพราะกว่า 50 ปีหายไป สามารถทำงานสร้างรายได้ต่างๆ

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ให้ความสำคัญในเรื่องของการดูแลสุขภาพจิตนักเรียนนักศึกษา ดังนั้น กรมฯ จึงเตรียมที่จะจัดประชุมเชิงปฏิบัติการให้แก่สถานศึกษา รวมถึงมีแนวคิดที่จะลงนามความร่วมมือ (MOU) ร่วมกับ 50 สถาบันอุดมศึกษา ที่มีจำนวนนิสิตนักศึกษามากกว่า 10,000 คน เพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาเหล่านี้วางมาตรการในการเฝ้าระวังดูแลภาวะซึมเศร้าและฆ่าตัวตาย ซึ่งการเฝ้าระวังเป็นมาตรการที่ดีที่สุด จะป้องกันการฆ่าตัวตายได้ 60% ซึ่งสามารถเฝ้าระวังได้โดยใช้หลัก 3 ส คือ 1.สอดส่องมองหา เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัว คนใกล้ชิดควรช่วยกันสอดส่องสังเกตว่าเพื่อน คนรอบข้างมีปัญหาหรือไม่ 2.ใส่ใจรับฟัง ซึ่งกลไกทางจิตของคนจะฆ่าตัวตายจะรู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่าและไม่มีใครรับฟัง จึงต้องรับฟังอย่างเข้าอกเข้าใจ มีท่าทียอมรับอยากช่วยเหลือ ความคิดอยากฆ่าตัวตายก็จะลดลง และ 3.ส่งต่อ กรณีที่ไม่สามารถช่วยเหลือได้ รวมถึงการใช้เครื่องมือในการประเมินตนเองด้วยหลัก 8Q

ผู้สื่อข่าวถามว่า สถาบันอุดมศึกษาต้องดำเนินการเฝ้าระวังอย่างไร จัดตั้งเป็นคลินิกหรือไม่ นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า สถาบันอุดมศึกษาจะเป็นผู้ดำเนินการโดยตรงในการวางเทคโนโลยี ออกแบบระบบบริการต่างๆ ซึ่งสถาบันอุดมศึกษาก็มีเจ้าหน้าที่พยาบาล อาจารย์แนะแนว อาจารย์จิตวิทยา รวมถึงสถานที่รักษาพยาบาลเบื้องต้นในสถานศึกษาอยู่ อาจจัดตั้งเป็นคลินิก เพื่อให้มีศักยภาพในการคัดกรองมากขึ้น ซึ่งข้อกังวลเรื่องคนอาจไม่เข้ามารับบริการปรึกษานั้น อยากให้มองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใกล้ตัว ทุกคนสามารถใช้มาตรการ 3 ส ช่วยกันสอดส่องคนใกล้ตัว โดยคลินิกจะเป็นจุดประสานงานในการช่วยเหลือเบื้องต้นและส่งต่อในรายที่ยาก

เมื่อถามถึงมาตรการในกลุ่มโรงเรียน นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ระบบสุขภาพจิตในโรงเรียนมีอยู่แล้ว เพียงแต่อาจจะต้องสนับสนุนให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาอาจจะขาดกำลังคน อุปกรณ์ เครื่องมือในการตรวจประเมิน หรือบุคลากรมีภาระงานหลายอย่าง ซึ่งกรมฯ จะเข้าไปช่วยพัฒนาศักยภาพ เครื่องมือ และระบบบริการส่งต่อให้เข้มแข็งขึ้น รวมถึงการพัฒนาอบรมครูแนะแนว ซึ่งปกติจะมีการประเมินทักษะความสามารถของเด็ก ดูความถนัด ความรู้ความสามารถ ทัศนคติ และเชิงจิตวิทยาอยู่แล้ว ให้มีทักษะเพิ่มมากขึ้น และอาจใช้ชั่วโมงแนะแนวในการประเมินเด็ก เพื่อเข้าถึงและคัดกรองเด็กได้อย่างรวดเร็ว

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า จากการเก็บข้อมูลพบว่า ในแต่ละปีจะมีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จอยู่ที่ประมาณ 4,000 ราย และในปี 2561 พบว่ามี 4 จังหวัดที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูง ได้แก่ 1.แม่ฮ่องสอน มีการฆ่าตัวตาย 17.55 รายต่อแสนประชากร 2.พัทลุงมีการฆ่าตัวตาย 11 รายต่อแสนประชากร 3.สระแก้ว มีการฆ่าตัวตาย 10.23 รายต่อแสนประชากร และ 4.กาฬสินธุ์ มีการฆ่าตัวตาย 8.9 รายต่อแสนประชากร ทั้งจากการเก็บรวบรวมข้อมูลทั่วโลกขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า มีอัตราการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 10 รายต่อแสนประชากร

ทั้งนี้ วันที่ 20 มี.ค. ของทุกปี เป็นวันความสุขสากล ซึ่งความสุขที่แท้จริงต้องเกิดจากภายใน ซึ่งจะอยู่ที่วิธีในการคิด ได้แก่ คิดให้ คิดเป็น และคิดดี โดยเฉพาะความสุขที่เกิดจากการทำประโยชน์ และมีคุณค่า ซึ่งจะทำให้เกิดความสุขที่ยาวนาน ยิ่งการช่วยคนที่มีปัญหาทางใจ เช่น ซึมเศร้า คิดฆ่าตัวตาย ก็จะยิ่งมีความสุขและได้บุญมาก โดยอาศัยหลัก 3 ส สำหรับวันที่ 20 มี.ค. กรมฯ จะจัดกิจกรรมรณรงค์เสริมสร้างความสุขคนไทย ที่สถานีรถไฟฟ้า MRT ตลาดบางใหญ่ สถานีเซ็นทรัลเวสต์เกต โดยจัดนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับความสุข เน้นประชาชนร่วมถ่ายทอดวิธีสร้างสุขของตนเองให้กับคนรอบข้าง รวมถึงจัดประกวดคลิปวิดีโอ ข้อความสั้น ภายใต้หัวข้อ สุขใจ...ไม่สูญเสีย ใน เม.ย.นี้

20 March 2562

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 807

 

Preset Colors