02 149 5555 ถึง 60

 

วิธีรับมือกับลูกขี้หงุดหงิด

วิธีรับมือกับลูกขี้หงุดหงิด

คุณพ่อคุณแม่แทบทุกคนย่อมต้องเคยผ่านช่วงเวลาที่ต้องรับมือกับอารมณ์และพฤติกรรมของลูกๆวัยเยาว์ การแสดงอารมณ์ฉุนเฉียวไม่ได้อย่างใจของเด็กๆ ไม่ว่าจะเป็นการร้องไห้งอแงเอาแต่ใจตัวเอง พูดคุยเท่าไรก็ไม่ยอมรับฟัง ตรงกันข้ามกลับยิ่งโมโหร้าย กรีดร้องเสียงดัง ฉุดกระชากลากดึง ขว้างปาสิ่งของ หรือใช้มือเหวี่ยงไปตีทำร้ายคนรอบตัว

คุณลูกขี้หงุดหงิดก็พลอยทำให้คุณพ่อคุณแม่รู้สึกหงุดหงิดตามไปด้วย พาลให้ไม่เข้าใจว่าทำไมลูกถึงต้องมีอารมณ์และพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ ไม่เป็นอย่างที่คาดหวัง ไม่ว่าจะบอกจะสอนอะไรกันก็ไม่ได้อย่างใจ ต่างฝ่ายต่างไม่สบอารมณ์จนปัญหาค้างคากันอยู่อย่างนั้น ถ้ามีคุณพ่อคุณแม่ท่านไหนที่รู้สึกว่ากำลังเผชิญกับสถานการณ์นี้อยู่บ่อยครั้งแล้วล่ะก็อยากแนะนำให้ตั้งสติและทบทวนตัวเองก่อน โดยคุณพ่อคุณแม่ควรเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจว่า ปกติแล้วเด็กในวัยเริ่มรู้ความ เริ่มพูดได้ เดินได้เอง กินได้เองนั้น เป็นช่วงเวลาที่เด็กกำลังทดสอบว่าตัวเองทำอะไรได้บ้างและทดลองการมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลรอบตัว ซึ่งแน่นอนว่าคุณพ่อคุณแม่คือด่านแรกที่เด็กๆจะต้องเรียนรู้เพื่อวางรากฐานบุคลิคภาพเฉพาะตัวในด้านต่างๆ การสร้างความมั่นคงทางอารมณ์ให้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับเด็กในวัยนี้

การที่เด็กดื้อและมักเอาแต่ใจตัวเองจึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญหรือเป็นความผิดของเด็ก (นอกจากมีปัญหาด้านพัฒนาการไม่สมวัย ควรปรึกษาคุณหมอ) แต่มาจากสภาพแวดล้อมและวิธีการเลี้ยงดูเป็นหลัก ถึงเวลาแล้วที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องเริ่มต้นจากตัวเอง ปรับตัวและปรับอารมณ์ให้มั่นคง โดยใช้ 9 วิธีง่ายๆต่อไปนี้ที่จะช่วยคุณพ่อคุณแม่ทั้งมือใหม่และมือเก่าสามารถรับมือกับลูกขี้หงุดหงิดได้ดียิ่งขึ้น

1.เข้าหาเด็กตามสถานการณ์ เด็กแต่ละคนมีการตอบสนองไม่เหมือนกันเมื่อมีอารมณ์หงุดหงิด บางคนต้องการการปลอบประโลมในทันที บางคนต้องการเวลาอยู่กับตัวเองสักพัก คุณพ่อคุณแม่จึงควรคอยสังเกตดูจังหวะเวลาที่เหมาะสมในการเข้าหาเด็กเพื่อบรรเทาความรู้สึกให้เด็กผ่อนคลายได้สอดคล้องกับสถานการณ์

2.ปลอบประโลมอย่างเหมาะสม โดยพื้นฐานของเด็กทุกคนต้องการความสนใจและความเอาใจใส่เสมอจึงไม่แนะนำให้เพิกเฉย การบรรเทาความรู้สึกสามารถทำได้ทั้งการพูดคุยปลอบประโลม สัมผัสเพื่อแสดงถึงความห่วงใย เบี่ยงเบนความสนใจ คำแนะนำที่ผ่อนคลายหรือพาฝึกกำหนดลมหายใจให้ใจเย็นลงก็ช่วยทำให้สถานการณ์ดีขึ้นได้

3.ควบคุมอารมณ์ให้ดี สิ่งที่เกิดขึ้นเสมอคือ เมื่อเด็กแสดงความหงุดหงิดไม่พอใจ คุณพ่อคุณแม่ต่างก็รู้สึกเครียดและกดดันจึงตอบสนองด้วยความหงุดหงิดกลับคืนไป เด็กจะซึมซับสิ่งไม่ดีนี้และรับไปใช้เสมอ คุณพ่อคุณแม่จึงต้องตั้งสติ ควบคุมอารมณ์ให้มั่นคง และตอบสนองเหตุการณ์อย่างใจเย็น

4.บอกให้รู้ว่าอะไรทำได้หรือทำไม่ได้บ้าง คุณพ่อคุณแม่มีหน้าที่สำคัญคือ การกำหนดระเบียบกฏเกณฑ์ที่เป็นไปได้ในครอบครัวว่ามีสิ่งใดบ้างที่ทำได้และมีอะไรบ้างที่ทำไม่ได้ เพื่อให้เด็กทราบแนวทางการแสดงออกที่ชัดเจน โดยจำเป็นต้องให้เวลากับเด็กค่อยๆฝึกฝนเรียนรู้ข้อปฏิบัติจนสามารถทำได้ตามที่คาดหวังและไม่ฝืนธรรมชาติของเด็ก

5.เป็นตัวอย่างที่ดี วิธีการที่ดีที่สุดที่จะทำให้เด็กๆแสดงออกอย่างเหมาะสมตามที่คาดหวังคือ การเป็นตัวอย่างที่ดี หากไม่ต้องการให้ลูกมีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องไม่แสดงอาการหงุดหงิดหรือแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมระหว่างการดำเนินชีวิตประจำวันทั้งต่อหน้าและลับหลังเด็กๆ

6.เปิดพื้นที่สำหรับเด็กๆ บางครั้งคุณพ่อคุณแม่ไม่จำเป็นต้องรอให้เกิดเหตุการณ์ขึ้นก่อนแล้วจึงค่อยตามแก้ไขปัญหา การหมั่นสังเกตพฤติกรรมและการเปิดพื้นที่ให้เด็กๆได้มีโอกาสพูดคุยบอกเล่าความพอใจหรือความไม่พอใจต่างๆสามารถช่วยป้องเกิดการพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ของเด็กๆได้เป็นอย่างดี

7.พาหลีกเลี่ยงความเครียด ในเชิงป้องกันปัญหายังสามารถทำได้โดยการพาเด็กๆหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่เสี่ยงต่อการเกิดความเครียด บ่อยครั้งที่เด็กรู้สึกหงุดหงิดจากผลการเรียนไม่ดี จำใจทำกิจกรรมที่ไม่ชอบหรือเข้ากับเพื่อนๆไม่ได้ คุณพ่อคุณแม่จึงต้องพยายามหาสาเหตุและช่วยลูกๆแก้ปัญหาที่ต้นเหตุนั้น เช่น พาไปเข้ากิจกรรมเสริมทักษะที่เด็กขาดอยู่ หรือหากิจกรรมที่เด็กน่าจะสนใจให้ทำก็จะช่วยปรับพฤติกรรมได้อีกทางหนึ่ง

8.ฝึกอารมณ์ผ่านการเล่น การเล่นกับเด็กเป็นของคู่กัน นอกจากจะสร้างความสนุกสนานเพลิดเพลินแล้วยังช่วยสร้างพัฒนาการที่ดีให้กับเด็กๆด้วย คุณพ่อคุณแม่จึงควรใส่ใจรายละเอียดในการเลือกสรรให้เด็กได้ฝึกทักษะการใช้เหตุผล ความอดทนและการควบคุมอารมณ์ผ่านการเล่นและการทำกิจกรรมต่างๆเสมอ

9.ให้ความรักอย่างถูกวิธี สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับเด็กทุกคนคือการรับรู้ถึงความรักและความเอาใจใส่อย่างถูกวิธีจากคุณพ่อคุณแม่ ให้อย่างถูกวิธีคือ ไม่เอาอกเอาใจเกินพอดีหรือว่ากล่าวทำโทษเกินควร แต่ให้รับรู้ได้ว่าคอยอยู่ใกล้ชิดและเป็นที่พึ่งพิงทางใจให้เสมอ ซึ่งทำให้เด็กมีสุขภาพจิตที่ดีและมีจิตใจอ่อนโยน

เด็กๆคงอยากจะบอกกับคุณพ่อคุณแม่ว่า ไม่มีใครอยากโมโหร้ายและแสดงความไม่พอใจอยู่ตลอดเวลาหรอกนะ คุณลูกขี้หงุดหงิดก็เพียงแค่ต้องการการดูแลเอาใจใส่อย่างเหมาะสมจากคุณพ่อคุณแม่เพียงเท่านั้นเอง

19 March 2562

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By ์์Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 6630

 

Preset Colors