02 149 5555 ถึง 60

 

เปิดกลุ่มน่าห่วงเสพติดข่าว เครียดการเมืองเร้าอารมณ์

เปิดกลุ่มน่าห่วงเสพติดข่าว เครียดการเมืองเร้าอารมณ์

สัปดาห์นี้การเมืองยังระอุ หลายคนเสพติดข่าวไม่รู้ตัวว่าเครียด กลุ่มที่น่าห่วง คือ คนที่ติดตามข่าวแบบลุ้น ตื่นเต้น ใช้เวลานาน จนเสียความสามารถในการควบคุมตัวเอง

แรงสั่นจากแผ่นดินไหวทางการเมืองครั้งประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ในที่สุดก็ทำให้พรรคทษช. ถึงคราวอวสาน แต่กลุ่มที่จิตแพทย์บอกว่าน่าเป็นห่วง...คือ...กลุ่มที่ติดตามข่าวแบบลุ้น ตื่นเต้น ใช้เวลานาน จนเสียความสามารถในการควบคุมตัวเอง

นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จุดที่ควรใช้เป็นบรรทัดฐานในสังคมออนไลน์ คือ นำเสนอข้อมูลด้วยเหตุผล ไม่ใช้ถ้อยคำรุนแรง ต่อว่า ด่าทอ หรือ Hate Speech หากสังคมไทยเราพูดกันด้วยเหตุผลจะหาทางออกกันได้ไม่ยาก ซึ่งควรใช้แนวทางในการก้าวพ้นกับวิกฤติอื่นๆ เพื่อร่วมกันพลิกวิกฤติเป็นโอกาสให้กับสังคมไทยในการพัฒนาประชาธิปไตยที่มีวุฒิภาวะขึ้นท่ามกลางความแตกต่างที่ไม่นำไปสู่ความรุนแรง

โดยสิ่งที่น่าเป็นห่วงคงไม่พ้นเรื่อง การรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่มาก กลายเป็นการลุ้น ตื่นเต้น เหมือนเรากำลังติดตามดูละครจนเรียกได้ว่าเป็น “การเสพติดข่าว” หากเริ่มส่งผลเสียทั้งตนเองและหน้าที่การงาน ต้องรู้จักแบ่งเวลาและใช้วิจารณญาณในการติดตาม ให้ตามข่าวโดยใช้ “สมองส่วนคิด” ซึ่งตรงข้ามกับการติดตามโดยใช้ “สมองส่วนอยาก” ที่จะเน้นความตื่นเต้นและอารมณ์มากเกินไป ทำให้เกิดเสพติดข่าว ถ้าเราจะทำให้ประเทศไทยเดินต่อไปข้างหน้าได้ด้วยดี โดยไม่มีเว้นวรรคประชาธิปไตยก็ต้องช่วยกัน

แล้ว “Hate Speech” ทางการเมืองบ่งบอกอะไรได้บ้าง???

แน่นอนคือการสร้างความเกลียดชังหรือความแตกต่างที่มีผลต่อการใช้ความรุนแรง เพราะไม่ใช่เรื่องส่วนตัวแต่เป็นเรื่องทางสังคม เช่น การเมือง เชื้อชาติ ศาสนา ใช้วาจาต่อว่า เหยียดหยามความคิดเห็นของอีกฝ่าย แม้ที่จริงความเห็นต่างจะไม่ใช่ปัญหา แต่เมื่อลุกลามเป็นเหยียดหยามโต้ตอบกันไปมา จึงกลายเป็นบรรยากาศของ Hate Speech

“คำว่า ฟ้ารักพ่อ หรือ หนักแผ่นดิน เป็น Hate Speech ที่สื่อความหมายไปทิศทางไหน Hate Speech จะนำไปสู่การตอบโต้ซึ่งกันและกัน ถ้าโซเชียลฯ แสดงจุดยืนหาทางออกกันดีๆ ไม่มีใครกล้าขัด แต่ทุกวันนี้ความชัดเจนตรงนี้ไม่มี ฉะนั้นคนที่สร้างความรุนแรงก็จะไต่ระดับไปเรื่อยๆ จากกระทบกระเทียบเปรียบเปรย พอโต้ตอบกันก็จะเริ่มประณาม และโต้ตอบด่าว่า และเหยียดหยาม”

ความจริงแล้วหากจะหยุดยั้งไม่ยากถ้าทุกคนช่วยกัน โดยเฉพาะคนในโซเชียลฯ มีหลักอยู่แค่ 2 ไม่ 1 เตือน “ไม่สื่อสารข้อความที่รุนแรงออกไป” แต่ส่วนหนึ่งที่เราทำไม่รู้ตัวคือส่งต่อ ไม่ที่ 2 จึงสำคัญมากเลย “ไม่ส่งต่อความรุนแรง” เพราะคนส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มนี้ ยิ่งเราส่งต่อกันมากยิ่งเพิ่มความรุนแรง ดังนั้นควรหยุดส่งต่อข้อความที่เหยียดหยาม แต่ให้เราเปลี่ยนเป็น “การเตือนด้วยถ้อยคำที่สุภาพ” และนำเสนอข้อมูลข้อเท็จจริง

จริงๆ แล้วความเป็นพลเมืองในสื่อสังคมออนไลน์ เป็นเรื่องที่มีประโยชน์มากในสังคมไทย เพราะเดี๋ยวนี้ทุกคนผลิตสารได้ ถ้าเราให้ความสำคัญจุดเล็กๆ ตรงนี้ จะช่วยอนาคตประเทศไทยได้ ซึ่งเป็นประโยชน์ทางสังคมของสุขภาพจิตที่สำคัญ

ประเด็นการเสพข่าวมากเกินไป มักเป็นข่าวที่มีสีสัน โดยเฉพาะข่าวการเมืองที่มีการสร้าง Hate Speech ขึ้นมา แต่ข่าวทุกประเภทที่มีสีสันคนจะติดตามมากอยู่แล้ว อยากรู้ว่าเกิดอะไร ใครถูกใครผิด แล้วด้วยความตื่นเต้นของเนื้อข่าวเมื่อติดตามมากเกินโดยไม่รู้ตัวว่าเสพติด เช่น ข่าวPM 2.5 ส่งผลกระทบทำให้เกิดความเครียดจากการเสพข่าว เป็นปัญหาทางสุขภาพจิตที่ต้องให้ความสำคัญ หรือการเสนอชื่อบุคลสำคัญ ล้มเลือกตั้ง พรรคไหนชนะ เป็นต้น

ฉะนั้นความจำเป็นที่ต้องป้องกันตัวเราเองจากความเครียด หลักง่ายๆ ทางจิตวิทยา คือ 1.ใช้สมองส่วนคิดให้มาก รู้จักแบ่งเวลาและใช้วิจารณญาณในเนื้อข่าวต่างๆ ว่าเราจะติดตามข่าวเพียง 1 ชม. ที่เหลือก็นำไปทำกิจกรรมอย่างอื่น 2.หยุดสมองส่วนอยาก ในขณะที่เสพข่าวก็ควรใช้วิจารณญาณด้วย เช่น ฟังความหลายๆ มุม ด้วยความคิดที่เปิดกว้างก็จะช่วยทำให้เราไม่เข้าไปสู่สถานการณ์ความเครียดหรือเสพติดข่าว

โดย 3 เทคนิควิธีการง่ายๆ คือ 1.เลิกติดตามข่าวแบบลุ้น ควรดูแบบสถานการณ์แบบปกติ เช่น คนส่วนใหญ่จะดูข่าวช่วงเย็นและค่ำ ที่เหลือก็ไม่ควรไปติดตามแบบต่อเนื่อง 2.ติดตามข่าวได้เป็นพักๆ จำกัดเวลาในการติดตามข่าว และ 3.รักษาการทำกิจกรรมอย่างอื่นไว้ด้วย เราก็จะเห็นคุณค่าในการทำกิจกรมอื่นถือเป็นอีกตัวที่ช่วยได้

นพ.ยงยุทธ บอกว่า “ประชาธิปไตยที่มีวุฒิภาวะ” เป็นประชาธิปไตยที่มองเห็นความแตกต่างทางการเมือง ไม่ใช่เป็นเรื่องถูกหรือผิด แต่เป็นเรื่องทางเลือกของสังคมที่มีข้อมูลหลากหลาย เพราะฉะนั้นประเทศต้องผ่านจากวุฒิภาวะน้อยไปสู่วุฒิภาวะมาก ประเทศที่วุฒิภาวะน้อยก็อดไม่ได้ที่จะมีคนเห็นต่าง จึงนำไปสู่ความรุนแรงทางวาจาเป็นตัวเริ่มต้น และกลายเป็นความรุนแรงทางกายภาพในภายหลัง เช่น สหรัฐฯ เยอรมัน ยุโรป ก็เคยเป็นแบบนี้ผ่านมาหมดแล้ว แล้วเขามีความเข้าใจดีในหมู่ประชาชนว่า ความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างไม่ใช่เป็นเรื่องดีเหลว แต่ว่า Hate Speech เป็นเรื่องดีเลว ซึ่งถ้าใครมองเรื่องความหลากหลายเป็นเรื่องดีชั่วอันนี้น่ากลัวมาก

“ไทยอยู่ในกลุ่มกำลังพัฒนา ฉะนั้นถ้าเราพัฒนาไปได้มาก มีวุฒิภาวะมากขึ้นที่จะยอมรับความแตกต่างได้ ผมว่าอย่าไปขยาย Hate Speech ต้องเรียกร้องให้สื่อกระแสหลักและสื่อสังคมใช้ 2 ไม่ 1 เตือนด้วยวาจาที่สุภาพ น่าจะเป็นหลักและสิ่งที่ช่วยกันได้ เพราะตอนนี้สถานการณ์การเมืองเราอยู่ในระดับเริ่มต้น แต่อย่ารอให้เป็นถึงขั้นนั้น เหลือง-แดง อย่ารอให้เกิดการชุมนุม เพราะเกลียดกันมากๆ จะเกิดความรุนแรง” ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวทิ้งท้าย....

18 March 2562

ที่มา เดลินิวส์

Posted By Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 738

 

Preset Colors