02 149 5555 ถึง 60

 

หาทางออกสกัดวัยเรียนคิดสั้น!

หาทางออกสกัดวัยเรียนคิดสั้น!

สังคมสะเทือนใจ/เร่งระดมสมองป้องกัน-แก้ไข แนะสังเกตสัญญาณอันตรายก่อนสาย!

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิตเผยว่า สัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวฆ่าตัวตายเกิดขึ้นมากและเป็นที่สนใจของสังคม ในจำนวนนี้มีข่าวฆ่าตัวตายในกลุ่มวัยรุ่น หรือวัยผู้ใหญ่ตอนต้นรวมอยู่ด้วย ซึ่งอัตราฆ่าตัวตายของคนกลุ่มวัย 10-24 ปี จะครอบคลุมวัยเรียนทั้งช่วงมัธยมศึกษาและอุดมศึกษา และอาจรวมถึงผู้ที่เริ่มต้นทำงาน พบอัตราฆ่าตัวตายในปี 61 อยู่ที่ 3.03 ต่อประชากรหนึ่งแสนคน หรือ397 คน เมื่อเทียบกับวัยอื่นที่มีอัตราฆ่าตัวตายอยู่ที่ 6.34 ต่อประชากรหนึ่งแสนคน อาจถือว่าวัย 10-24 ปี มีอัตราฆ่าตัวตายน้อยกว่าวัยทำงาน-สูงอายุ

แต่เนื่องจากที่ผ่านมา สังคมค่อนข้างให้ความสนใจในกลุ่มวัยรุ่น เนื่องจากเป็นการสูญเสียทรัพยากรสำคัญทั้งมีการใช้วิธีที่เด็ดขาดรุนแรงถึงแก่ชีวิต ข้อมูลศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติ รพ.จิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต ได้แยกแยะปัจจัยฆ่าตัวตายสำเร็จในวัย 10-24 ปี ได้แก่ ปัญหาความสัมพันธ์ ใช้สุรา-ยาเสพติด ป่วยทางจิต ซึ่งจะพบสัญญาณเตือนฆ่าตัวตายที่แตกต่างกันออกไปในกลุ่มวัยนี้ ได้แก่ เขียนระบายในรูปแบบข้อความ โพสต์ลง FB ส่งไลน์ สติกเกอร์ บอกลา บางรายเอาของที่ระลึกไปคืนเพื่อนสนิท มากอดลาพ่อแม่ บางรายพบทำร้ายตนเองด้วยวิธีการที่ไม่รุนแรงหรือไม่ถึงแก่ชีวิตมาก่อน ซึ่งในกลุ่มนี้ ร้อยละ 12 พบว่า จะมีการทำร้ายตนเองสำเร็จในเวลาต่อมา

ทั้งนี้ เร็วๆ นี้ กรมฯจะสัมมนาหารือร่วมกับผู้รับผิดชอบของก.ศึกษาธิการ เพื่อทบทวน และเพิ่มศักยภาพคัดกรองความเสี่ยงฆ่าตัวตาย พัฒนาผู้ให้ความดูแลช่วยเหลือ และภาวะที่อาจนำไปสู่การฆ่าตัวตาย ให้มาก และเข้มข้นขึ้น นอกจากนี้ การป้องกันแก้ไขปัญหาคงต้องขอให้คนในครอบครัวหรือคนใกล้ชิดได้สังเกตสัญญาณเตือนซึ่งกันและกัน โดยให้ระลึกไว้ เสมอว่า การส่งสัญญาณเตือนเท่ากับการส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ บางครั้ง คนใกล้ชิด ไม่กล้าถามหรือพูดตรงๆ เพราะกลัวว่าจะพูดไม่ถูกหรือกลายเป็นการกระตุ้นให้คิดหรือทำ

กรมสุขภาพจิตแนะนำวิธีการ 3 ส. คือ สอดส่องมองหา ใส่ใจรับฟัง ส่งต่อเชื่อมโยง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การฟังอย่างใส่ใจนั้น เป็นวิธีการที่สำคัญและมีประสิทธิภาพมาก เพราะเป็นการเชื่อมโยงสายสัมพันธ์ไปยังผู้ที่คิดฆ่าตัวตาย ให้รู้สึกไม่โดดเดี่ยว หรือรู้สึกว่าไม่ถูกทิ้งให้อยู่เบื้องหลัง ทั้งนี้ มีสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ที่สามารถโทรปรึกษาได้ตลอดเวลา และไม่เสียค่าบริการ

อีกแนวทางที่อยากขอความร่วมมือสื่อมวลชน คือ ขอให้เพิ่มความระมัดระวังในการเสนอข่าวเกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย หลีกเลี่ยงการนำเสนอข้อมูล รูปภาพ เกี่ยวกับเหตุการณ์ สถานที่ วิธีการ อุปกรณ์ ที่เกี่ยวกับการทำร้ายตนเอง เพราะการฆ่าตัวตายเป็นพฤติกรรมรุนแรงอย่างหนึ่ง ซึ่งสามารถลอกเลียนแบบและเกิดการแพร่ระบาดได้ สำหรับการเสนอข่าวฆ่าตัวตายนั้น ถ้าพิจารณาแล้วก็ยังเห็นด้วย ที่สื่อควรจะต้องนำเสนอให้สังคมได้รู้ ได้ระวัง และได้ป้องกัน เหมือนเป็นการเสนอข่าวเพื่อเป็นบทเรียนและช่วยเพิ่มพื้นที่ในการหาวิธีป้องกัน โดยเฉพาะสำหรับวัยรุ่นที่อยากยุติปัญหาชีวิตด้วยการทำร้ายตัวเอง

11 March 2562

ที่มา สยามรัฐ

Posted By ์์Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 595

 

Preset Colors