02 149 5555 ถึง 60

 

จิตแพทย์ชี้ฆ่าตัวตายพบร้อยละ 60 จากปัญหาความสัมพันธ์ครอบครัว

จิตแพทย์ชี้ฆ่าตัวตายพบร้อยละ 60 จากปัญหาความสัมพันธ์ครอบครัว

เมื่อวันที่ 7 มีนาคม นพ.ณัฐกร จำปาทอง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่น กล่าวถึงสถิติการฆ่าตัวตาย ว่า เมื่อนับย้อนหลัง 3-4 ปีมานี้ ยังไม่พบว่าการฆ่าตัวตายสูงขึ้นกว่าเดิม จะพบตัวเลขการฆ่าตัวตายสำเร็จอยู่ที่ประมาณ 4,000 ราย หรือบวกลบไม่เกิน100 รายต่อปี อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการฆ่าตัวตายนั้น พบว่ากว่าร้อยละ 60 มีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัว เนื่องจากปัญหาความใกล้ชิดกับคนในครอบครัวนั้น มีผลมาก เพราะผู้ที่คิดจะฆ่าตัวตายจะมีความอ่อนไหวกับเรื่องครอบครัวเป็นหลัก ดังนั้นวิธีการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด คือ คนในครอบครัวต้องมีการพูดคุยกันอย่างสร้างสรรค์ นอกจากนี้ คนในครอบครัวก็ต้องพร้อมที่จะรับฟัง เพราะการฟัง ถือเป็นอาวุธที่สำคัญที่จะช่วยให้ผู้ที่คิดจะฆ่าตัวตายได้ปลดปล่อย สำหรับคนที่มีภาวะหดหู่อยากฆ่าตัวตาย สิ่งหนึ่งที่สำคัญ คือ ต้องหาใครซักคนอยู่ด้วย อย่าอยู่คนเดียวเด็ดขาด หรือหากไม่มีใครให้โทรปรึกษาสายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323

“ สำหรับสัญญาณเตือน ที่เสี่ยงฆ่าตัวตาย คือ ผู้ที่คิดจะฆ่าตัวตายมักโพสต์ข้อความหรือพูดในทำนองว่า หมดหนทางแล้ว เหนื่อยมาก ไม่มีทางออกแล้ว ไม่มีใคร ไม่อยากอยู่ในโลกนี้ แยกตัวออกจากสังคมไปอยู่คนเดียว และที่สำคัญเมื่อเราพบเห็นต้องรีบเข้าไปพูดคุย หรือรับฟังห้ามปล่อยให้อยู่คนเดียว อย่าคิดว่าจะไปขยี้แผลผู้ป่วยต้องเข้าไปพูดคุยให้เขาได้ระบาย” นพ.ณัฐกร กล่าว

ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงกรณี นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอให้ทุกโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมสุขภาพจิต ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย เพื่อดูแลมิติสุขภาพจิตเด็กป้องกันการฆ่าตัวตาย ว่า ที่ผ่านมาก็มีความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา ในการวางระบบการดูแลสุขภาพจิตเด็กในโรงเรียน เพียงแต่อาจจะไม่ได้มีครบทุกแห่ง โดยได้มีการอบรมครูในการสังเกตและประเมินสุขภาพจิตของนักเรียนว่า มีปัญหา มีความเครียด มีปัญหาสุขภาพจิตอะไรหรือไม่ ซึ่งต้องเข้าใจว่า จิตแพทย์ไม่ได้มีจำนวนมาก แต่การสังเกตหรือประเมินอาการเบื้องต้น ครูในโรงเรียนสามารถดำเนินการได้ ซึ่งครูบางท่านก็เป็นนักสุขภาพจิตด้วย ก็สามารถให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นแก่นักเรียนที่มีปัญหา หากเกินความสามารถก็ส่งต่อตามระบบ เช่น ส่งโรงพยาบาลอำเภอ จังหวัด หรือส่งมาที่โรงพยาบาลสังกัดกรมสุขภาพจิต นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินการเรื่อง 1 โรงเรียน 1 โรงพยาบาล ที่จับคู่กันในการดูแลสุขภาพกายและจิตของเด็กด้วย

8 March 2562

ที่มา มติชนรายวัน

Posted By ์์Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 594

 

Preset Colors