02 149 5555 ถึง 60

 

จิตแพทย์เผยหาเสียงเลือกตั้ง มีแนวโน้มใช้วาทกรรมสร้างความรุนแรง รับการเมืองไทยติดวังวนความเห็นต่าง

จิตแพทย์เผยหาเสียงเลือกตั้ง มีแนวโน้มใช้วาทกรรมสร้างความรุนแรง รับการเมืองไทยติดวังวนความเห็นต่าง

จิตแพทย์ ชี้การเมืองไทยอยู่ในวังวนความเห็นต่าง อาจนำไปสู่ความขัดแย้ง เผยช่วงหาเสียงเลือกตั้ง อยู่ในช่วงต้นการใช้วาทกรรมสร้างความเกลียดชัง แนะหลัก 2 ไม่ 1 ต้อง ป้องกันขัดแย้งรุนแรง

วันนี้ (25 ก.พ.) นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวว่า เฮชสปีช คือวาทกรรมที่สร้างความเกลียดชังอย่างรุนแรงในเรื่องที่เกี่ยวกับอุดมการณ์ การเมือง เรื่องเพศ เรื่องศาสนา ส่วนใหญ่เป็นบริบททางสังคม ที่อาจจะนำไปสู่ความรุนแรงทางกายได้ โดยในอดีตมีการสร้างวาทกรรมที่สร้างความเกลียดชังอยู่มากจนนำไปสู่ความรุนแรงหลายเหตุการณ์ ซึ่งหากวิเคราะห์แล้วในช่วงสถานการณ์ทางการเมืองของไทยตอนนี้ที่อยู่ในโหมดการหาเสียงเลือกตั้ง จะพบว่ามีแนวโน้มของการใช้วาทกรรมที่สร้างความรุนแรงอยู่ หากเทียบกับสถานการณ์ความรุนแรงทางการเมืองในระยะหลายปีที่ผ่านมาของประเทศไทย ตอนนี้ถือว่าอยู่ในช่วงต้นๆ ของการสร้างความเกลียดชัง จึงเป็นที่มาว่าต้องช่วยกันหยุดเรื่องเหล่านี้โดยใช้หลัก 2 ไม่ 1 ต้อง เพื่อไม่ให้ลุกลามเป็นความขัดแย้งรุนแรง

นพ.ยงยุทธ กล่าวต่อว่า หลัก 2 ไม่ คือ 1.ไม่สื่อสารความรุนแรง และ 2.ไม่ส่งต่อความรุนแรง ซึ่งหลายคนจัดอยู่ในกลุ่มนี้ คือไม่ได้เป็นคนคิดสารที่สร้างความเกลียดชัง แต่มีการส่งต่อข้อความที่คนอื่นผลิตขึ้น เป็นการส่งต่อความเกลียดชังโดยไม่รู้ตัว ดังนั้น จึงมาสู่ประเด็น 1 ต้อง คือเมื่อเจอคนที่ผลิตสารที่สร้างความเกลียดชัง เราต้องไม่ส่งต่อ แต่ควรตอบกลับด้วยถ้อยคำสุภาพ และนำเสนอข้อมูลข้อเท็จจริง ซึ่งจากการศึกษาทางสังคมพบว่าการตอบกลับด้วยถ้อยคำสุภาพจะช่วยลดความรุนแรงลงได้ และการไม่แชร์ก็จะเป็นการหยุดการส่งต่อความรุนแรงได้มากเช่นกัน เพราะเป้าหมายของคนที่ผลิตวาทกรรม ติดแฮชแท็กต่างๆ นั้นออกมาก็เพื่อต้องการให้คนสนใจ ยอมรับ หากไม่สนใจ ไม่ยอมรับเฮชสปีชนั้นจะตกไปเอง

“วุฒิภาวะทางการเมืองคือการเดินหน้า ประชาธิปไตยแบบมีวุฒิภาวะต้องยอมรับความเห็นต่าง ไม่มองอีกฝ่ายอย่างเกลียดชัง แต่คนที่เป็นคนผลิตวาทกรรมที่สร้างความเกลียดชัง หลายคนไม่รู้ตัว คิดว่าตัวเองทำในสิ่งที่ตัวเองเชื่อมั่น ศรัทธา ซึ่งหลัก 2 ไม่ 1 ต้อง จะทำให้รู้ว่าสิ่งที่เขาผลิตมาไม่ได้รับการยอมรับ แต่จริงๆ แล้วคนที่ส่งสารแย่ๆ ทางโซเชียลมีเดียพอเอาเข้าจริง มาเจอหน้ากันกลับไม่มีอะไร แต่ที่ทำไปเพราะโลกโซเชียลฯ ไม่เห็นหน้า ที่ทำไปเพราะไม่มีสติ ดังนั้นต้องรู้จักใช้สมองส่วนคิดให้มากกว่าส่วนอยาก” นพ.ยงยุทธ กล่าว

ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า ประเด็นต่อมาคือเรื่องการเสพข่าวสารการเมืองซึ่งมักเป็นประเด็นที่มีสีสัน ทำให้มีการติดตามมากขึ้น ก็มีผลทำให้เกิดความเครียดมากขึ้น โดยความเครียดที่เกิดจากการเมืองกับความเครียดที่เกิดจากสาเหตุอื่นมีทั้งส่วนที่เหมือน และส่วนที่แตกต่างกัน โดยส่วนที่เหมือนกันคือมีภาวะเครียด ลุ้น เสียการควบคุมการทำหน้าที่หลักของตัวเอง แต่ส่วนที่แตกต่างกันคือบรรยากาศจะยาวนาน และมีคู่ปรปักษ์ทำให้มีโอกาสขัดแย้งสูง เครียดสูง ดังนั้น หลักการคือใช้สมองส่วนคิดให้มากกว่าสมองส่วนอยาก จำกัดเวลาการรับข่าวสารไม่ควรเกิน 1 ชั่วโมง และรับเป็นช่วงเวลา เช่น เช้า เย็น แต่ไม่ควรลากยาว ยิ่งตอนนี้สามารถดูย้อนหลังได้อีก ก็ยิ่งทำให้เกิดความเครียด

ผู้สื่อข่าวถามว่า สถานการณ์การเมืองของไทยขณะนี้อยู่ระดับใด นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า ไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนา กำลังเริ่มต้น ซึ่งการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองยังอยู่ในวังวนของความเห็นต่างที่อาจนำไปสู่ขัดแย้งได้ หากเราปรับและป้องกันไม่ให้รุนแรงขึ้น โดยใช้หลัก 2 ไม่ 1 เตือน ก็จะช่วยให้การแสดงความเห็นการเมืองที่ยอมรับกัน ไม่รุนแรง มีวุฒิภาวะที่ไต่ระดับขึ้นเรื่อยๆ

26 February 2562

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By ์์Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 551

 

Preset Colors