02 149 5555 ถึง 60

 

8 วิธีช่วยเด็กๆสร้างคุณค่าในตัวเอง

8 วิธีช่วยเด็กๆสร้างคุณค่าในตัวเอง

โดยปกติแล้วคุณพ่อคุณแม่ทุกคนต่างมุ่งหวังให้ลูกๆเติบโตไปในทิศทางที่เหมาะสมทั้งทางร่างกายและจิตใจ การให้ความรักและความอบอุ่น การเอาใจใส่ดูแลเรื่องการศึกษา รวมถึงการสร้างหลักประกันความมั่นคงและปลอดภัยในครอบครัว แม้จะเป็นพื้นฐานสำคัญในการเสริมสร้างพัฒนาการที่ดีให้กับเด็กๆ แต่อาจไม่เพียงพอสำหรับการดำเนินชีวิตเป็นฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคม

คุณพ่อคุณแม่ยังมีงานที่ต้องทำในการเตรียมความพร้อมให้กับเด็กๆสามารถเข้าสู่สังคมและใช้ชีวิตได้อย่างราบรื่น สิ่งสำคัญคือการช่วยเด็กๆสร้างคุณค่าในตัวเอง เด็กที่ขาดการเตรียมพร้อมด้านจิตใจมักแสดงออกในลักษณะของการไม่เห็นคุณค่าและไม่เชื่อมั่นในตัวเอง มีแนวโน้มที่จะไม่สามารถรับมือกับความคาดหวังทางสังคมซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการสร้างความสำเร็จในชีวิต

การเห็นคุณค่าในตัวเอง (Self-esteem) มีความสำคัญมากสำหรับเด็กที่จะสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างราบรื่นและมีความสุข แสดงถึงความมั่นคงทางจิตใจของตัวเด็กที่ไม่หวั่นไหวไปกับข้อจำกัด ความบกพร่องหรือความล้มเหลวที่อาจเกิดขึ้นได้เสมอ สามารถรักษาความเชื่อมั่นในตัวเอง มีมุมมองทางบวก มีกำลังใจที่เป็นแรงผลักดันในการสร้างสรรค์ความสำเร็จและสิ่งที่ดีให้กับตัวเองและสังคมโดยรวม

ตรงกันข้าม เด็กที่ไม่เห็นคุณค่าในตัวเองมักมีทัศนคติต่อตัวเองและสิ่งรอบตัวในทางลบ เลือกมองเฉพาะข้อจำกัดและจุดอ่อน คิดว่าตัวเองอ่อนด้อยกว่าคนอื่น จึงทำให้รู้สึกวิตกกังวล ขาดความเชื่อมั่นในตัวเองกลัวความล้มเหลวจนไม่คิดว่าจะสามารถทำอะไรให้สำเร็จเป็นชิ้นเป็นอันได้ อย่างไรก็ตาม การที่เด็กด้อยค่าตัวเองนั้นไม่สามารถเกิดขึ้นได้เอง แต่มีผลมาจากการเลี้ยงดูและปัจจัยสภาพแวดล้อมเป็นสำคัญ

ต่อไปนี้จึงเป็น 8 วิธีการที่คุณพ่อคุณแม่สามารถสนับสนุนให้เด็กๆสร้างคุณค่าในตัวเองขึ้นมาได้

1.เด็กเปรียบเสมือนผ้าขาว – คุณพ่อคุณแม่พึงระลึกอยู่เสมอว่าเด็กเกิดมาโดยไม่มีสิ่งใดติดตัวมาด้วย การทำกิจกรรมในแต่ละวันคือช่วงเวลาที่เด็กกำลังเรียนรู้สิ่งใหม่ๆอยู่ตลอดเวลา จึงไม่แปลกที่จะทำผิดหรือเบี่ยงเบนไปจากความคาดหวังของผู้ใหญ่ในบางครั้ง หน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่คือคอยดูแลให้คำแนะนำที่ถูกต้องอย่างใกล้ชิดและมีความอดทนกับการเรียนรู้ของเด็กเสมอ

2.ตั้งเป้าหมายที่เป็นไปได้ – คุณพ่อคุณแม่มักแสดงความผิดหวังเมื่อพบว่าเด็กไม่สามารถทำอะไรให้สำเร็จได้อย่างที่ต้องการ จนไปบั่นทอนกำลังใจ ทำให้เด็กมีความเครียดและกดดัน โดยหลงลืมไปว่าไม่มีใครสมบูรณ์แบบ วิธีการที่จะช่วยพัฒนาเด็กคือการช่วยตั้งเป้าหมายให้เหมาะสมกับแต่ละช่วงวัย เริ่มจากเรื่องง่ายๆหรือความคาดหวังที่เป็นจริงได้ แล้วค่อยขยับไปสู่เป้าหมายที่ท้าทายมากขึ้น

3.ชื่นชมความพยายาม – การพูดชื่มชมเมื่อเด็กทำได้ดีเป็นการเสริมแรงและช่วยสร้างแรงจูงใจทางบวก แต่ไม่ควรเลือกชื่นชมเฉพาะเวลาที่ทำงานสำเร็จ เพราะเมื่อใดที่ผลลัพธ์ไม่เป็นดังที่หวัง จะยิ่งทำให้เด็กรู้สึกผิดหวังและขาดความเชื่อมั่นในตัวเองได้ คุณพ่อคุณแม่จึงควรกล่าวคำชื่นชมไปที่ความพยายามของเด็กในการเตรียมตัวและการทำงานหนัก ทำให้ชัดเจนว่าไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไรก็ยังรักและให้กำลังใจเสมอ

4.ช่วยพัฒนาทักษะใหม่ๆ – คุณพ่อคุณแม่ควรพัฒนาทักษะของเด็กโดยการทำกิจกรรมใหม่ๆร่วมกันเสมอ เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้และตื่นเต้นไปกับความสำเร็จใหม่ๆ โดยขยับความก้าวหน้าในการเรียนรู้ไปทีละขั้นตอน บางครั้งการหาผู้ช่วย เช่น ครูสอนพิเศษ ครูสอนดนตรี หรือครูฝึกสอนกีฬา ก็เป็นอีกทางเลือกที่ดีที่จะช่วยให้เด็กมีความมั่นใจและสามารถเพิ่มพูนทักษะใหม่ๆในสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ถนัดได้

5.ช่วยค้นหาความสามารถพิเศษ – เด็กแต่ละคนมีความสนใจหรือความถนัดที่พัฒนาเป็นความสามารถพิเศษของตัวเองได้แตกต่างกันไป คุณพ่อคุณแม่จึงควรมีบทบาทช่วยผลักดันให้เด็กได้มีโอกาสลองทำกิจกรรมหลายๆอย่างจนค้นพบว่ามีความรักที่จะทำและทำได้ดี เด็กบางคนไม่สนใจในครั้งแรก แต่หากให้กำลังใจอย่างเหมาะสม การทำสิ่งที่ยากหรือสิ่งที่เคยไม่สนใจได้สำเร็จจะช่วยเพิ่มความมั่นใจได้

6.สนับสนุนความท้าทาย – ความรู้สึกเบื่อหรือจำเจจากกิจกรรมเดิมช่วยกระตุ้นให้เด็กได้สำรวจสิ่งใหม่ๆรอบตัว ค้นหาสิ่งที่อยากทำหรือสนใจด้วยตัวเอง ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์และทักษะในการแก้ปัญหา คุณพ่อคุณแม่มีหน้าที่ผลักดันให้เด็กกล้าลองผิดลองถูกและไม่กลัวความล้มเหลว สนับสนุนให้ใช้โอกาสหรือความท้าทายใหม่ๆที่เข้ามาเพื่อเรียนรู้และสร้างความมั่นใจที่จะทำสิ่งแตกต่างมากขึ้น

7.ช่วยกำหนดกิจวัตรประจำวัน – คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยเด็กกำหนดกิจวัตรประจำวันของตัวเองและทำตาม เพื่อให้เด็กรู้ว่าแต่ละช่วงเวลามีหน้าที่และความรับผิดชอบต้องทำอะไรบ้าง เช่น ทบทวนบทเรียน ออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมกับกลุ่มเพื่อน ความชัดเจนในการทำกิจกรรมช่วยลดภาวะความสับสนและความไม่มั่นคงในจิตใจ รวมทั้งช่วยให้เด็กสามารถจัดสรรเวลาในการเพิ่มพูนทักษะใหม่ๆได้

8.เป็นแบบอย่างที่ดี – เด็กเรียนรู้จากคนใกล้ชิดรอบตัวเสมอ โดยสามารถเลียนแบบสิ่งที่มีคนพูดและทำได้ตลอดเวลา หากต้องการให้เด็กเห็นคุณค่าและเชื่อมั่นในตนเอง คุณพ่อคุณแม่ก็จำเป็นต้องแสดงออกให้เด็กเห็นอย่างชัดเจนด้วยเช่นกัน คุณพ่อคุณแม่ยังสามารถให้เวลากับเด็กเพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องที่ดีและไม่ดีในแต่ละวันของกันและกัน ให้เด็กได้รู้สึกถึงความใกล้ชิด มีคนอยู่เคียงข้างและคอยรับฟังเสมอ

ด้วยเหตุนี้ หน้าที่สำคัญของคุณพ่อคุณแม่คือ การดูแลและปลูกฝังให้เด็กเรียนรู้จากการลงมือทำ ความพยายาม ความสำเร็จ ความผิดพลาดและการแก้ไขปัญหานั้นถือเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต การยอมรับและเข้าใจความเป็นไปดังนี้จะช่วยให้เกิดการรับรู้คุณค่าในตัวเอง (Self-esteem)ซึ่งทำให้เด็กสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างราบรื่นและมีความสุข

25 February 2562

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 2201

 

Preset Colors