02 149 5555 ถึง 60

 

ดูแลสุขภาพจิตเด็กตามแนวคิด “ใจแข็งแกร่ง กายแข็งแรง”

ดูแลสุขภาพจิตเด็กตามแนวคิด “ใจแข็งแกร่ง กายแข็งแรง”

“เป็นเด็กเป็นเล็ก จะเครียดเรื่องอะไรกันนะ” อาจเป็นสิ่งที่หลายคนแอบคิด แต่จากข้อมูลของกรมสุขภาพจิตเมื่อปี 2560 พบว่า มีวัยรุ่นไทยป่วยด้วยโรคซึมเศร้าแล้วกว่า 1 ล้านคน และมีความเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคซึมเศร้าอีกกว่า 3 ล้านจากวัยรุ่นทั้งหมดประมาณ 8 ล้านคน เนื่องจากการที่เด็กไทยไม่ได้รับการดูแลด้านสุขภาพจิตและพัฒนาการณ์ทางอารมณ์อย่างทั่วถึง จนอาจส่งผลกระทบต่อพฤติกรรม ลักษณะนิสัย ทัศนคติต่อตนเองและผู้อื่น รวมไปถึงพฤติกรรมที่อาจก่อให้เกิดความรุนแรงในสังคม เพราะสุขภาพจิตเป็นรากฐานสำคัญของการมีสุขภาพกายและสภาพความเป็นอยู่ที่สมบูรณ์ หากสุขภาพจิตเด็กไทยไม่มั่นคง โอกาสที่สังคมไทยจะสามารถพัฒนาบุคลากรที่มีคุณภาพในอนาคตก็ลดน้อยลงไปด้วย

เพื่อเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญของการดูแลสุขภาพจิตใจของเด็กให้กับกลุ่มคนที่ใกล้ชิดกับเด็กมากที่สุดอย่างพ่อแม่ผู้ปกครองและครู กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS จึงรวบรวมความรู้จากแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตหลายท่านมาเป็น “5 อาหารใจให้ลูกทุกวันหลังเลิกเรียน” ฝากเป็นเคล็ดลับง่ายๆให้คุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครองและคุณครูนำไปปรับใช้

1.ให้ความใส่ใจ คุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครองและคุณครูควรให้ความใส่ใจและคอยสังเกตพฤติกรรมของเด็กๆ ในกรณีที่สังเกตเห็นว่าเด็กมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป เช่น เงียบหรือเก็บตัวมากกว่าปกติ หรือมีพฤติกรรมการรับประทานอาหารแปลกไปจากปกติ เช่นทานมากขึ้นหรือน้อยลง ควรเข้าไปพูดคุยสอบถาม พร้อมแสดงความห่วงใยและเข้าอกเข้าใจ เด็กๆ จะรับรู้ได้ว่าคนรอบข้างให้ความสนใจและความเข้าใจ ถือเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กรู้สึกสบายใจ สามารถระบายสิ่งที่อยู่ในใจได้สะดวกใจยิ่งขึ้น

2.ให้การสนับสนุน โดยไม่สร้างความกดดัน แม้การตั้งเป้าหมายสำหรับอนาคตอาจเป็นสิ่งที่ดีในการสร้างแรงจูงใจให้แก่เด็กๆ คุณพ่อคุณแม่และคนรอบข้างควรจะระมัดระวังพฤติกรรมการแสดงออกของตนเอง โดยทำให้แน่ใจว่าตนเองมอบความสนับสนุน โดยไม่สร้างแรงกดดันให้แก่เด็กๆ เพราะการสร้างแรงกดดันอาจจะทำให้เด็กเครียดได้ ในกรณีที่เด็กมีความอ่อนไหวต่อความรู้สึก แม้ว่าคนรอบข้างจะไม่ได้กดดันเขา หรือไม่ได้คาดหวังอะไร ก็มีความเป็นไปได้ที่เด็กจะรู้สึกเครียดเอง ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่และคนรอบข้างควรระมัดระวังพฤติกรรมการแสดงออกของตนเอง และเน้นย้ำให้เด็กเข้าใจว่า ไม่ว่าเป้าหมายนั้นจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ตัวเขามีคุณค่าและมีความสำคัญ และมีคนรอบข้างที่พร้อมจะสนับสนุนเขาอยู่เสมอ

3.ให้ความเข้าใจ ไม่ควรดุ ตำหนิ หรือตีเด็ก เพราะการดุด่า หรือการตีโดยไม่ให้เหตุผลที่เพียงพอ หรือการใช้อำนาจเป็นตัวตัดสิน นอกจากจะทำให้เด็กรู้สึกไม่ดี และรู้สึกว่าคุณพ่อคุณแม่ และคนรอบข้างไม่รัก ไม่เข้าใจเขาแล้ว อาจนำไปสู่พฤติกรรมต่อต้าน ก้าวร้าว หรือแม้กระทั่งนำเอาวิธีที่ปฏิบัตินั้นไปใช้กับคนอื่น ทางที่ดีก็คือคุณพ่อคุณแม่และคนรอบข้างควรตั้งสติ พยายามทำความเข้าใจและใช้เหตุผลกับเด็กให้ได้มากที่สุด

4.ให้ความสนใจ คุณพ่อคุณแม่และคนรอบข้างไม่ควรทำอาการเพิกเฉยต่อเด็ก เพราะบางครั้งเด็กอาจจะต้องการให้คนรอบข้างสนใจและเข้าใจเขา หากเพิกเฉย อาจนำไปสู่พฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรงเพื่อเรียกร้องความสนใจในอนาคต

5.ให้เวลา คุณพ่อคุณแม่ควรจะใช้เวลากับลูกบ่อยๆ เพราะจะทำให้ความสัมพันธ์แนบแน่นยิ่งขึ้น ถ้าหากลูกอยู่ในวัยประถม คุณพ่อคุณแม่อาจจะทำกิจกรรมร่วมกันกับลูก และชมเชยลูกได้ ส่วนถ้าลูกโตขึ้นมาหน่อยหรืออยู่ในช่วงวัยรุ่น คุณพ่อคุณแม่อาจจะทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาพูดคุย เป็นการกระตุ้นให้เขาเปิดใจกับเรา ทำให้เขาไม่เครียด ไม่เก็บกดมาเริ่มต้นให้อาหารใจกับลูกๆหลานๆที่อยู่รอบตัวกัน

4 February 2562

ที่มา โพสต์ทูเดย์

Posted By Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 510

 

Preset Colors