02 149 5555 ถึง 60

 

สร้างพลังบวกใน "เรือนจำ"

สร้างพลังบวกใน "เรือนจำ"

​​​​​​​จำนวนนักโทษที่เพิ่มขึ้นอยู่อย่างแออัด ปัญหาสุขภาพตามมา ทั้งโรคติดต่อเรื้อรัง โรคซึมเศร้า แม้จะได้ชื่อว่านักโทษ แต่บางคนทำผิดเพราะมีเงื่อนไขชีวิต ก้าวพลาด แต่บางคนก็เกินเยียวยา

จำนวนนักโทษที่เพิ่มขึ้นอยู่อย่างแออัด ปัญหาสุขภาพตามมา ทั้งโรคติดต่อเรื้อรัง โรคซึมเศร้า แม้จะได้ชื่อว่านักโทษ แต่บางคนทำผิดเพราะมีเงื่อนไขชีวิต ก้าวพลาด แต่บางคนก็เกินเยียวยา ตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบัน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดเรือนจำสุขภาวะในผู้ต้องขังหญิง เพื่อให้ผู้ต้องขังมีประสบการณ์ในทางบวก 7 ด้าน 1. เพิ่มความสามารถในการดูแลตนเองของผู้ต้องขัง 2. ลดความเสี่ยงของการเป็นโรคที่พบบ่อยในเรือนจำ 3. เพิ่มโอกาสการเข้าถึงการบริการสุขภาพ 4. ผู้ต้องขังมีพลังชีวิตคิดบวก5. ดำรงชีวิตอยู่ในความสัมพันธ์ที่เป็นมิตรและเอื้ออาทร 6. สามารถธำรงบทบาทของการเป็นแม่ เป็นลูก และ 7. มีโอกาสสร้างที่ยืนในสังคม

ปัจจุบันมีต้นแบบของเรือนจำสุขภาวะ ในเรือนจำกลางราชบุรี เรือนจำกลางอุดรธานี เรือนจำกลางอุบลราชธานี และเรือนจำกลางสงขลา กิจกรรมหนึ่งที่เกิดขึ้นของเรือนจำสุขภาวะ คือการได้เรียนโยคะ เรือนจำ อนุญาตผู้ต้องหาหญิงได้ออกจากเรือนจำมาแข่งโยคะ

นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กล่าวในงานประชุมวิชาการเชิงนโยบายเรื่อง “การเดินทางของเรือนจำสุขภาวะ” ว่า สสส.สนับสนุนให้เกิด“เรือนจำสุขภาวะ” ในสังคมไทย ให้มีการวิจัยเชิงนโยบายและการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ในหลักการสำคัญของเรือนจำสุขภาวะคือ กระบวนการฟื้นฟูผู้ต้องขังควรบูรณาการเข้าไปในวิถีการดำรงชีวิตตลอดทั้ง 24 ชั่วโมงในเรือนจำ โดยสร้าง สภาวะปกติให้กับเรือนจำ

ด้านน.ส.กุลภา วจนสาระ นักวิจัย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สถานการณ์การเจ็บป่วยของผู้ต้องขังในเรือนจำ 143 แห่ง ทั่วประเทศ พบว่าในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตราว 1,000 คน จากอาการเจ็บป่วยต่างๆ เช่น วัณโรค เอดส์ และโรคหลอดเลือดหัวใจ สอดคล้องกับจากการดำเนินโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาระบบบริการและส่งเสริมสุขภาพในเรือนจำ เรื่อง การให้บริการสุขภาพผู้ต้องขัง: สถานการณ์ปัญหาและอุปสรรค ในเรือนจำพื้นที่ศึกษา 8 แห่ง สำหรับพฤติกรรมสุขภาพพบว่า ผู้ต้องขังส่วนใหญ่ ร้อยละ 58 สูบบุหรี่เป็นประจำ นิยมซื้อกาแฟ นมเปรี้ยว และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปกินเป็นประจำ ส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้กินผักผลไม้ ด้านการออกกำลังกายพบว่า 1 ใน 3ออกกำลังกายเป็นประจำ 1-2 วัน ต่อสัปดาห์ ใช้เวลา 10-20 นาทีต่อครั้ง ผู้ต้องขัง 3 ใน 4 มีปัญหาปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เนื่องจากสภาพแวดล้อมการอยู่อย่างแออัด กว่าครึ่งยังเป็นโรคผิวหนัง หิด ผื่นคัน ร้อยละ 44 มีอาการปวดหัวบ่อยๆ เครียด คิดมาก ผู้หญิงเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังมากกว่าผู้ชาย ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือผู้ต้องขังป่วยเป็นโรคแขนขาอ่อนแรงค่อนข้างสูง เนื่องจากภาวะทุพโภชนาการ ขาดวิตามิน B1 และโปตัสเซียม

ดร.นภาภรณ์ หะวานนท์ ที่ปรึกษาโครงการขับเคลื่อนเรือนจำสุขภาวะ กล่าวเสริมว่า การลดปัญาโรคติดต่อไม่เรื้อรัง ต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่ด้วยการดูแลตัวเองอันเป็นคุณสมบัติเบื้องต้นของมนุษย์ ต้องมีพื้นที่ออกกำลังกาย เช่นโยคะนอกจากร่างกายดีแล้วจิตใจดีตาม เรือนจำปัจจันมีการใช้อำนาจสูงมากที่เรียกว่า “พานอบติคอน” แต่ภายใต้ความมีวินัยทำให้เขามีพลังบวกได้ เช่นงานที่ทำต้องทำให้มีสีสัน มีกรณีผู้ต้องขังที่เกเรสอนให้เขาวาดรูป เขาเปลี่ยนพฤติกรรมได้ เมื่อนำผลงานสู่สังคม เมื่อมีเสียงชื่นชมในความสามารถเขาจะรู้ภูมิใจ เช่นเดียวกันการเยี่ยมผ่านกระจกใส เห็นว่ากระจกนั้นขุ่นมัวเหลือเกิน สิ่งเล็กๆเหล่านี้ปรับได้

“โดยธรรมชาติการทำพื้นที่เรือนจำสุขภาวะในแดนหญิงจะง่ายกว่าแดนชาย แต่ได้พูดคุยกับผู้คุมที่ดูแล นักโทษชาย ทราบว่า 70 % เขาอยากจะทำตัวให้ดีเพื่อจะได้ออก เพราะฉะนั้นเรือนจำชาย ถ้าเราอยากทำงานเชิงสุขภาวะต้องแยกนักโทษ ประเทศที่พัฒนาแล้วจะแยก หากอยู่แล้วพัฒนาขึ้นจะได้อยู่อีกพื้นที่ดีขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากนโยบายคิดว่าเขาอยู่ด้วยกันเขาจะได้เรียนรู้ร่วมกัน กลายเป็นว่าเรียนรู้วิชาอาชญากรรมร่วมกัน มีมาเฟีย เหล่านี้เป็นวิธีคิด จุดอ่อนทำให้คนดีๆเดือดร้อน ไม่เห็นด้วยกับการสร้างเรือนจำความมั่นคงสูง อย่างเขาบิน ระยอง ยิ่งทำให้นักโทษไม่พัฒนาตัวเอง”ดร.นภาภรณ์ ให้ความเห็น ทิ้งท้าย

...เรือนจำสุขภาวะไม่ใช้การสปอยผู้กระทำผิด แต่เป็นการหาจุดสมดุลให้กับชีวิตมนุษย์ที่ควรมี.......

26 December 2561

ที่มา เดลินิวส์

Posted By Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 2354

 

Preset Colors