02 149 5555 ถึง 60

 

"PTSD" ภัยซ้ำสอง! เหยื่ออาชญากรรม จิตแพทย์แนะเลี่ยงถามเหตุ พูดย้ำซ้ำเติม

"PTSD" ภัยซ้ำสอง! เหยื่ออาชญากรรม จิตแพทย์แนะเลี่ยงถามเหตุ พูดย้ำซ้ำเติม

เรียนรู้ ป้องกัน เพื่อช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ให้ก้าวข้ามวิกฤตซึมเศร้า โดยจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกระทรวงสาธารณสุข

หลายต่อหลายครั้งและเหตุการณ์สำหรับเหตุอาชญากรรมที่ส่งผลกระทบต่อเหยื่อไปตลอดชีวิต ล่าสุดในกรณีของ 5 โจ๋เมืองสระบุรีที่ก่อเหตุรุมโทรมเด็กหญิง

แม้คดีจะเข้าสู่กระบวนการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้ว ทว่าในกระแสสังคมและโลกโซเชียลยังคงเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์พูดถึง ซึ่งบางคำหรือบางเรื่องอาจส่งผลกระทบต่อเหยื่อผู้ประสบเหตุจนก่อให้เกิดภาวะซึมเศร้าได้

เหตุอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในหลายเคส ได้ส่งผลกระทบต่อจิตใจของเหยื่ออย่างรุนแรง จนเกิดอาการเครียดหลังจากเหตุการณ์สะเทือนใจ หรือ PTSD ที่หากไม่ได้รับการเยียวยาก็อาจจะนำไปสู่เหตุสลดได้

นายแพทย์ อภิชาติ จริยาวิลาศ จิตแพทย์และโฆษกกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า อาการความเครียดหลังจากเหตุการณ์สะเทือนใจ หรือ PTSD เป็นอาการป่วยที่เกิดขึ้นจากการพบหรือเจอเหตุการณ์ที่เสี่ยงต่อชีวิต เหตุการณ์ที่คุกคามชีวิต อาทิ สงคราม การถูกทารุณกรรม หรือ การถูกข่มขืนล่วงละเมิดทางเพศ โดยมีอาการลักษณะรบกวนการดำเนินชีวิตประจำวันทุกชั่วขณะ ซึ่งหากไม่ได้รับการเยียวยาอาจจะนำไปสู่การฆ่าตัวตาย

1.การนึกถึงประสบการณ์ที่เคยเกิดขึ้นมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ขณะที่ใช้ชีวิตตอนตื่นนอน หรือ ผุดขึ้นมาตอนนอนหลับส่งผลให้ตกใจจนสะดุ้งตื่นและไม่กลัวการนอนหลับ

2.มีความทุกข์ทรมานใจอย่างมากเมื่อเผชิญกับสิ่งที่มาทำให้ระลึกถึง อาจมีความหมายต่อจิตใจหรือเป็นจากสถานการณ์ภายนอกโดยตรง ต่อลักษณะหรือสัญลักษณ์ที่คล้ายคลึงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

3.มีปฏิกิริยาตอบสนองทางร่างกายเมื่อเผชิญกับสิ่งที่มาทำให้ระลึกถึง ตัวอย่างเช่น กลัวผู้ชายจากเหตุถูกล่วงละเมิดทางเพศ

4.อาการการตื่นตัวง่าย สมาธิไม่อยู่กับตัวตกใจทุกสิ่งอย่างที่เข้ามา เนื่องจากรู้สึกเสมือนหนึ่งเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจเกิดขึ้นมาอีก

โฆษกกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ความรุนแรงของการป่วยสามารถเกิดขึ้นได้ทุกช่วงวัย นอกจากนี้ความรุนแรงในรายผู้ประสบเหตุที่อายุน้อยซึ่งการตัดสินใจ การคิด หรือ สติ การควบคุม ไม่ได้สภาพจิตใจแข็งแกร่ง ยิ่งเป็นปัจจัยเกี่ยวข้องที่ทำให้รุนแรงขึ้น

"สาเหตุของการเกิดปัญหานอกจากเกิดจาก “จิตใจ” ที่ได้รับการกระทบกระเทือนรุนแรง “ความผิดปกติของเคมีในสมอง” ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งของการที่ผู้ผ่านเหตุการณ์สะเทือนขวัญป่วยเป็นโรค เพราะสารเคมีต่างๆ ในสมองเสียสมดุลจากปรกติหลังการผ่านการเกิดเหตุการณ์รุนแรง"

‘ฉัน’ อยู่ข้างและรัก ‘เธอ’ เสมอ

วิธีการช่วยเหลือให้ผู้ประสบเหตุกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ นายแพทย์ อภิชาติ ระบุว่า ควรรักษาควบคู่กันระหว่างการใช้ยาช่วยบรรเทาคลายความกังวลและที่สำคัญคือการบำบัดจิต เพื่อให้ผู้ประสบเหตุสามารถระบายความเครียดในใจ ค่อยๆ ปรับตัวจนสามารถเผชิญกับสิ่งที่เกิดขึ้นสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปรกติ

“ครอบครัวควรสังเกตพฤติกรรมว่าผู้ประสบเหตุมีความเครียดหรืออารมณ์ที่ผิดปรกติไปจากเดิมมากน้อยเพียงใด เช่น ซึมเศร้าลง เครียดกว่าเดิม พร้อมกันให้เข้าไปเป็นผู้รับฟังที่ดีว่าเขารู้สึกอย่างไร เป็นอย่างไร พูดง่ายๆ ฟังอย่างเดียว เพราะการอยู่ข้างเขาจะทำให้เขารู้สึกว่าปลอดภัย”

งดถาม ‘เหตุและผล’ ของการเกิดเหตุ

สิ่งที่ต้องระวังและคำนึงถึงสำหรับบุคคลใกล้ชิดที่อยากจะช่วยเหลือจิตแพทย์กรมสุขภาพจิต เผยว่า เวลาเป็นสิ่งสำคัญ ผู้ประสบภัย ต้องใช้ระยะเวลาในการปรับตัว

“การเกิดจากเหตุการณ์บางเหตุการณ์ที่ผ่านมาของแต่ละบุคคลไม่เหมือนกัน และไม่สามารถทำให้กลับมาปกติได้ภายในไม่กี่วัน อาการการไม่อยากได้ยินเรื่องที่เกิดขึ้นหรือพูดเรื่องที่เกิดขึ้นเพราะคล้ายการถูกคุกคามอีกครั้ง ผู้ประสบรู้สึกว่าถูกทรมานซ้ำเติม หลีกเลี่ยงคำพูด กดดัน รวมไปถึงพฤติกรรมของผู้คนที่อยู่รอบข้างด้วย เนื่องจากบ่อยครั้ง คนที่อยากจะช่วยบางทีไม่รู้จะช่วยอย่างไรให้เขาดีขึ้น ก็เครียดไปตามสถานการณ์อาจจะเผลอคิดว่าการยกเคสตัวเองว่าหายนานแล้วเป็นวิธีทีที่จะไปช่วยให้ผู้ประสบเหตุลุกขึ้นมาได้ ตรงกันข้ามมันยิ่งกลับทำให้แย่ลง”

ปรึกษาแพทย์ร่วมขจัดภาพอดีต

อาการ PSTD เป็นอาการสามารถป้องกันได้ก่อนที่ผู้ประสบเหตุจะป่วย ซึ่งนายแพทย์ อภิชาติแนะนำว่า เมื่อทราบหรือพบว่าบุคคลใกล้ชิดได้รับการกระทบกระเทือนทางจิตใจให้รีบไปพบแพทย์ด้วยกันเพื่อเรียนรู้รักษาอาการ ส่วนในกรณีเร่งด่วนสามารถปรึกษาได้ที่สายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323 ได้ 24 ชั่วโมง

“คนรอบข้างเป็นสิ่งสำคัญและรวมไปถึงบุคคลอื่นด้วยต้องเข้าใจในเรื่องนี้ คำพูดทุกอย่างในการที่เข้าข่ายส่งผลต่อจิตใจให้หลีกเลี่ยงให้หมด และพยายามบอกพูดคุยว่ารักเขา มีความสงสัยอย่างไรปรึกษาแพทย์เพื่อแก้ไขเยี่ยวยาเรื่องรักษาอย่างดีที่สุด”

21 December 2561

ที่มา โพสต์ทูเดย์

Posted By Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 2973

 

Preset Colors