02 149 5555 ถึง 60

 

ส่องระบบ “คลินิกลอยน้ำ” แห่งแรกของไทย รองรับอุบัติเหตุฉุกเฉิน

ส่องระบบ “คลินิกลอยน้ำ” แห่งแรกของไทย รองรับอุบัติเหตุฉุกเฉิน

เปิดตัวอย่างเป็นทางการแล้วสำหรับ “ศรีสวัสดิ์โมเดล” คลินิกลอยน้ำแห่งแรกของประเทศไทย ในทะเลสาบเหนือเขื่อนศรีนครินทร์ อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี เพื่อดูแลช่วยเหลือประชาชนและนักท่องเที่ยวจากการเกิดอุบัติเหตุฉุกเฉินทางน้ำได้อย่างรวดเร็ว ส่งต่อผู้ป่วยได้ทันท่วงที ลดโอกาสเสียชีวิต ส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ปลอดภัย

ล่าสุด มีการลงนามความร่วมมือระหว่าง 11 หน่วยงาน เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. ที่ผ่านมา ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กรมการแพทย์ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมการท่องเที่ยว กรมเจ้าท่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เลขาธิการแพทยสภา จังหวัดกาญจนบุรี และโรงพยาบาลกรุงเทพ สนามจันทร์ ในการขับเคลื่อนคลินิกลอยน้ำดังกล่าว

นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า คลินิกลอยน้ำ “ศรีสวัสดิ์โมเดล” จะรองรับบริการอุบัติเหตุ เจ็บป่วยฉุกเฉิน เจ็บป่วยทั่วไป นอกจากนี้ ยังมีบริการนวดเพื่อสุขภาพ ด้วยทีมแพทย์ พยาบาล สหวิชาชีพ จากโรงพยาบาลท่ากระดาน และทีมอาสาสมัครจากทั่วประเทศ มีอุปกรณ์ช่วยชีวิตบนแพ ได้แก่ เครื่องช่วยหายใจ เครื่องกระตุกหัวใจ ชุดยาและอุปกรณ์ช่วยชีวิตฉุกเฉิน รถเข็น เบาะนอนคนไข้ ยา เวชภัณฑ์ และครุภัณฑ์ทางการแพทย์ มีเรือเร็ว (เจตสกี) รถพยาบาลฉุกเฉินขั้นสูงรองรับการส่งต่อไปยังโรงพยาบาลแม่ข่าย ดำเนินงานภายใต้กลไกคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิต (พชอ.) เปิดให้บริการในวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ ซึ่งมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเป็นจำนวนมาก

สาเหตุที่ต้องจัดบริการคลินิกลอยน้ำ เนื่องจาก จ.กาญจนบุรี มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติจำนวนมาก และส่วนใหญ่เป็นการท่องเที่ยวทางน้ำ ทำให้เกิดธุรกิจแพที่พัก แพล่อง เครื่องเล่นทางน้ำ รีสอร์ทขนาดกลางและขนาดใหญ่จำนวนมาก มีผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกว่า 140 ราย นักท่องเที่ยวปีละประมาณ 800,000 คน ซึ่งจากข้อมูลพบว่า มีนักท่องเที่ยวประสบอุบัติเหตุทางน้ำและเครื่องเล่นทางน้ำอยู่บ่อยครั้ง ล่าสุดปี 2561 มีผู้บาดเจ็บ 143 ราย เสียชีวิต 8 ราย ขณะที่ อ.ศรีสวัสดิ์ อำเภอเดียว มีผู้บาดเจ็บถึง 64 ราย เสียชีวิต 3 ราย ซึ่งหากคลินิกลอยน้ำ “ศรีสวัสดิ์โมเดล” ประสบความสำเร็จ ก็จะกลายเป็นโมเดลให้แก่พื้นที่ท่องเที่ยวทางน้ำอื่นๆ ด้วย

นพ.ปานเนตร ปางพุฒิพงศ์ ผู้ตรวจราชการ สธ.เขตสุขภาพที่ 5 ซึ่งดูแล จ.กาญจนบุรี กล่าวว่า อุบัติเหตุส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นจะเป็นการเล่นเครื่องเล่นทางน้ำ เช่น สไลเดอร์ที่มีความสูง เมื่อเกิดพลาดก็ทำให้ไหล่หลุด ฟกช้ำ แผลฉีกขาด ซึ่งเครื่องเล่นบางอย่างไม่เหมาะสมกับเด็กอายุน้อย แต่ไม่มีการติดป้ายเตือนว่า ห้ามคนอายุต่ำกว่าเท่าไรในการเล่น ส่วนการจมน้ำมักจะเกี่ยวข้องกับการเมา และมีการกระโดดน้ำจากที่สูง ทำให้สำลักถึงแก่เสียชีวิตได้ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นการเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ เพราะกว่าจะช่วยเหลือและกู้ชีพได้ก็ไม่ทันการณ์ แต่หากมีหน่วยด้านการแพทย์คอยดูแลบริเวณนี้ก็จะเข้าถึงผู้เจ็บป่วยได้รวดเร็ว ลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตได้ และสร้างความมั่นใจให้นักท่องเที่ยวว่ามาแล้วจะได้รับการดูแล จึงเป็นที่มาของคลินิกลอยน้ำดังกล่าว

สำหรับแผนการบริหารจัดการของคลินิกลอยน้ำ นพ.ปานเนตร กล่าวว่า ในระยะเริ่มต้นเราได้รับความอนุเคราะห์ในเรื่องของแพที่ใช้จัดทำคลินิก และอุปกรณ์ทางการแพทย์จากโรงพยาบาลท่ากระดาน ส่วนบุคลากรทางการแพทย์ที่วางไว้ คือ ประมาณ 6-10 คน แบ่งเป็น ทีมกู้ชีพ 2 คน คนขับเรือ 2 คน แพทย์ 1 คน พยาบาล 2 คน และคนงานทั่วไป 1-2 คน และมีให้บริการนวดแผนไทยในแพที่ติดกันด้วย ซึ่งระบบการดูแลนั้นจะมีการแจ้งเหตุผ่าน 3 ทาง คือ ทางโทรศัพท์ 1669 ผ่านทางวิทยุคลื่นเฉพาะของทางเขื่อน และผ่านทางโปรแกรมของทีโอทีที่จะมาติดตั้งให้ ซึ่งจะบอกตำแหน่งที่เกิดเหตุได้ทันที เมื่อไปถึงก็สามารถทำการกู้ชีพและส่งต่อผู้ป่วยได้ โดยพื้นที่ที่คลินิกดูแลได้อยู่ในระยะ 10 กิโลเมตร คลุมหน้าเขื่อนศรีนครินทร์ทั้งหมด เพราะการช่วยชีวิตนาทีทอง คือ 8 นาที เมื่อคำนวณจากความเร็วของเรือที่จะไปช่วยเหลือนั้นให้เต็มที่ 6 นาที ก็จะได้ระยะทางดังกล่าว ดังนั้น หากต้องการให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น อนาคตอาจต้องเปิดยูนิตเพิ่ม ซึ่งไม่ต้องเป็นคลินิกลอยน้ำ แต่อาจเป็นจุดที่มีเจตสกีและทีมกู้ชีพประจำ เพื่อให้ความช่วยเหลือที่เร็วขึ้น

สำหรับการส่งต่อนั้น นพ.ปานเนตร กล่าวว่า หากไม่รุนแรงมากก็ส่งไปยังโรงพยาบาลใกล้เคียง เช่น รพ.ท่ากระดานได้ แต่หากรุนแรงก็ต้องส่ง รพ.พหลพลพยุหเสนา ซึ่งจะมีการประสานในการทำลานจอดเฮลิคอปเตอร์ลอยน้ำ เพื่อส่งต่อผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันและโรคหลอดเลือดสมองตีบแตกเฉียบพลัน เพราะ รพ.พหสพลพยุหเสนา เป็น รพ.เดียวที่ดูแลได้ แต่อยู่ห่างไปกว่า 100 กิโลเมตร ต้องใช้เวลาในการเดินทางทางรถมากกว่า 1 ชั่วโมงในวันปกติ และมากกว่า 2 ชั่วโมงในวันหยุด ซึ่งรถจะติดมาก ซึ่งจะเกินเวลาทองในการรักษาแล้ว แต่หากขึ้นเฮลิคอปเตอร์จะใช้เวลา 30 นาที ซึ่งมีการประสานขอความร่วมมือในการใช้เฮลิคอปเตอร์ทั้ง รพ.กรุงเทพ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) และมูลนิธิปอเต็กตึ๊ง ซึ่งตรงนี้จะขึ้นกับความต้องการของผู้ป่วยและญาติด้วย เช่น หากมีความสามารถในการจ่าย อยากเข้า รพ.กรุงเทพ ก็จะประสาน เฮลิคอปเตอร์ของ รพ.กรุงเทพ มารับ หรือหากไป รพ.พหลฯ ก็ใช้ของ สพฉ.เป็นต้น

“คลินิกลอยน้ำนี้จะคล้ายกับเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) อีกแห่ง แต่มีศักยภาพที่สูงกว่า เพราะมีเครื่องมือที่ดูแลได้ทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยฉุกเฉิน ซึ่งช่วง 2 สัปดาห์แรกนั้นบุคลากร รพ.ท่ากระดานได้เข้ามาเซตระบบต่างๆ และจัดทำคู่มือปฏิบัติงานเอาไว้เพื่อแนะนำทีมใหม่ที่จะเข้ามาแทน ซึ่งเป็นลักษณะของจิตอาสาที่จะเข้ามาช่วย โดย 1 ปีจะใช้ทั้งหมด 52 ทีม ซึ่งมีผู้สมัครเข้ามาแล้วจำนวนมากเยไปจนถึงช่วงปีใหม่นี้ ซึ่งตรงนี้ถือเป็นข้อดี เพราะบุคลากรที่มาก็เหมือนได้มาเที่ยวด้วย เพราะเราให้บริการศุกร์-อาทิตย์ โดยเข้ามาเตรียมความพร้อมต่างๆ วันศุกร์ แต่กว่านักท่องเที่ยวจะเข้ามาจริงๆ ก็บ่ายวันเสาร์ ทำให้บุคลากรยังมีเวลาพักผ่อน อย่างไรก็ตาม ยังเปิดให้บริการครอบคลุมไปถึงช่วงวันหยุดราชการ นักขัตฤกษ์ หรือวันหยุดหยาวตามประกาศของรัฐบาลด้วย เพราะเป็นช่วงที่มีคนมาท่องที่ยวจำนวนมาก” นพ.ปานเนตร กล่าว

นพ.ปานเนตร กล่าวว่า สำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเป็นความรับผิดชอบของ รพ.ท่ากระดานทั้งหมด โดยค่ารักษาพยาบาลนั้นเนื่องจากเป็นอุบัติเหตุฉุกเฉินก็สามารถเบิกได้ทั้ง 3 กองทุนสุขภาพ ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติก็ต้องจ่ายค่าบริการเอง แต่ไม่ได้อยู่ในระดับที่แพงมาก นอกจากนี้ ยังมีบริการนวดแผนไทย ซึ่งจะเป็นรายได้ให้แก่คลินิกอีกทาง ขณะที่ชาวบ้านทั่วไปก็มาขอรับบริการเมื่อเจ็บป่วยได้ หรือผู้ป่วยที่ต้องไปรับยาที่ รพ.แต่อยู่ใกล้คลินิกลอยน้ำ ก็สามารถมาติดต่อขอรับบริการที่นี่ได้ ทั้งนี้ หากดำเนินการแล้ววิเคราะห์ว่าประสบความสำเร็จ มีความพร้อมมากขึ้น ก็อาจขยายเปิดบริการ 7 วัน 24 ชั่วโมง แต่การจัดสรรจำนวนบุคลากรก็ขึ้นกับจำนวนนักท่องเที่ยวว่ามีมากน้อยเพียงใด รวมถึงจะวิเคราะห์ว่าเมื่อดำเนินการแล้วเราต้องการคลินิกรูปร่างหน้าตาแบบใด เพื่อสร้างคลินิกลอยน้ำให้เหมาะสมกับการบริการ เพราะปัจจุบันเป็นการหยิบยืมสถานที่และอุปกรณ์

นพ.ปานเนตร กล่าวว่า การก่อสร้างจะใช้งบประมาณรวมทั้งหมด 5 ล้านบาท แบ่งเป็น ส่วนแพของคลินิกประมาณ 1 ล้านบาท ซึ่งจะต้องจัดทำระบบอย่างดี ทั้งระบบไฟฟ้า โซลาร์เซลล์ ระบบกรองน้ำดื่ม ระบบของเสียต่างๆ ตามมาตรฐาน Green&Clean Hospital ส่วนศาลานวดประมาณ 3-5 แสนบาท ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ 9 แสนบาท เครื่องมือพทย์ต่างๆ เช่น เครื่องกระตุกหัวใจ เครื่องช่วยหายใจต่างๆ อีกราว 2 ล้านบาท ทั้งนี้ เบื่องต้น สธ.ได้มอบงบประมาณมาแล้ว 1 ล้านบาท ส่วนที่เหลือน่าจะใช้วิธีการระดมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ รวมถึงกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นอกจากนี้ หลังจากเปิดตัวคลินิกลอยน้ำแล้วก็ถือเป็นโมเดลที่ได้รับความสนใจ ซึ่งทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ก็จิดจ่อขอให้ไปเปิดสาขา 2 ที่เขื่อนภูมิพล และเขื่อนวชิราลงกรณ์ด้วย ซึ่งก็อาจเป็นโมเดลให้ทางพื้นที่ท่องเที่ยวทางน้ำอื่นๆ นำไปประยุกต์เป็นต้นแบบได้

คลินิกลอยน้ำถือเป็นอีกโมเดลที่จะมาช่วยสร้างความเชื่อมั่นและนำมาโปรโมตการท่องเที่ยวไทยได้ ว่ามีความสามารถในการดูแลนักท่องเที่ยวยามเจ็บป่วยฉุกเฉิน

19 December 2561

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 650

 

Preset Colors