02 149 5555 ถึง 60

 

ปวดกราม เครียดจัด นอนกัดฟัน อาจเป็นสัญญาณของโรค “ทีเอ็มดี” ( TMDs)

ปวดกราม เครียดจัด นอนกัดฟัน อาจเป็นสัญญาณของโรค “ทีเอ็มดี” ( TMDs)

สยามรัฐออนไลน์ 14 ธันวาคม 2561 09:30 วาไรตี้-โซเชียล

บริหารขากรรไกรด้วยด้วยการใช้กำปั้นรองใต้คางต้านการอ้าปาก

บริหารขากรรไกรด้วยด้วยการใช้กำปั้นรองใต้คางต้านการอ้าปาก

ชีวิต...เลือกได้

เคยเป็นไหมคะ ที่เวลาอ้าปากหาวแล้วขากรรไกรค้าง แล้วรู้สึกปวดแปลบตรงข้อต่อขากรรไกร ต่อเนื่องไปถึงในหู และบางครั้งก็ปวดศีรษะตื้อๆหนักๆ เหมือนโดนคีมยักษ์บีบ หรือบางครั้งก็ปวดกกหู หรือปวดกรามขึ้นมาดื้อๆ อย่างนั้นแหละ กินยาแก้ปวดแล้วก็บรรเทาอาการได้เพียงชั่วคราว แล้วก็กลับมาปวดอีกเมื่อหมดฤทธิ์ยา

ผู้เขียนเป็นค่ะ หลังๆ มากก็เริ่มสังเกตตัวเองก็พบว่าเวลาที่อ้าปากหาว บ่อยครั้งที่มีอาการขากรรไกรค้างและปวดจนเข้าไปถึงในหู ดังที่ได้อธิบายมาแล้วในย่อหน้าแรกนั่นแหละค่ะ แถมเวลาขยับจะอ้าปากยังมีเสียงกึกกักบริเวณข้อต่อขากรรไกรอีก และเมื่อลองเอามือกดลงไปบริเวณดังกล่าวก็จะรู้สึกเจ็บๆ บางเวลาแม้ไม่เอามือกดดูก็ยังมีอาการปวดศีรษะตื้อหน้าหูไปจนถึงขมับ เรื่อยขึ้นไปจนถึงด้านบนสุดของศีรษะ

ไปหาหมอครั้งต่อมาหมอก็ถามว่าในแต่ละวันนั้นมีความเครียดมากไหม มันก็มีเหมือนกันโดยเฉพาะเวลาเดินทางบนท้องถนน เครียดกับปัญหาจราจร เรียกได้ว่าเครียดเช้าเครียดเย็นเลย

หมอถามอีกว่าตื่นขึ้นมารู้สึกปวดกรามบ้างไหม บางครั้งก็ปวดเหมือนกัน แต่หลังๆ มา มันปวดของมันเองในขณะตื่นอยู่ตอนกลางวัน ไม่ใช่หลังตื่นนอนเช้า แถมเวลาเคี้ยวอาหารก็รู้สึกปวด แต่ดูสภาพฟันกรามแล้วก็ไม่เห็นรอยผุ หมอก็เลยสรุปว่าน่าจะเป็นความผิดปกติของข้อต่อขากรรไกรและกล้ามเนื้อบดเคี้ยว หรือที่ว่าโรค ทีเอ็มดี (Temporomandibular disorder : TMDs)

โรคนี้พบได้บ่อยมาก และส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะไม่ทราบว่าอาการปวดศีรษะที่ตนเป็นอยู่นั้นมีผลมาจากความผิดปกติของกระดูกข้อต่อขากรรไกรและระบบกล้ามเนื้อบดเคี้ยว จึงทำให้มีอาการปวดบริเวณอวัยวะที่ได้กล่าวมาแล้วทั้งหมดนั่นแหละค่ะ

ตามปกติแล้วกระดูกข้อต่อขากรรไกรจะเป็นข้อขนาดเล็กอยู่บริเวณหน้าหูเหนือขากรรไกรขึ้นไปเล็กน้อย เป็นข้อต่อที่มีความสำคัญมาก เพราะมันทำหน้าที่ร่วมกับกล้ามเนื้อบดเคี้ยว ที่ช่วยในการอ้าและหุบปาก และช่วยในการเคี้ยวอาหาร โดยภายในข้อต่อขากรรไกรจะประกอบด้วยแคปซูลหุ้มข้อ แผ่นรองข้อ และน้ำไขข้อ ที่ช่วยให้ข้อไม่ฝืด

ถามว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้เกิดความผิดปกติของข้อต่อขากรรไกรและกล้ามเนื้อบดเคี้ยว ปัจจัยแรกเลยก็เป็นพฤติกรรมส่วนตัวที่ชอบกัดฟันไถไปมาจนเป็นนิสัย หรือชอบกัดฟัน หรือมีความเครียดในชีวิตประจำวันมากจนแม้กระทั่งเวลานอนหลับก็ยังนอนกัดฟันโดยไม่รู้ตัว หรืออีกปัจจัยหนึ่งก็คือตำแหน่งของศีรษะและคอไม่สมดุลกัน นั่นก็หมายถึงศีรษะไม่ตั้งตรงอยู่บนลำคอ อาจจะก้มมาข้างหน้า หรือเงยไปข้างหลัง หรือเบี้ยวไปทางใดทางหนึ่ง หรืออีกปัจจัยหนึ่งก็คืออุบัติเหตุ โดยผู้ป่วยอาจจะเคยประสบอุบัติเหตุบริเวณข้อต่อขากรรไกร หรือบริเวณใกล้เคียงมาก่อน หรืออาจจะเกิดจากการสบกันของฟันเปลี่ยนไป

ผู้เขียนมาถึงบางอ้อว่าตัวเองเข้าข่ายเป็นผู้ป่วยโรค “ทีเอ็มดี” เอาก็ต่อเมื่อมีอาการปวดขณะอ้าปากแล้วมีเสียงกึกกักเพราะขากรรไกรค้างเวลาอ้าปากหาว ประกอบกับอาการปวดทั้งหลายทั้งปวง นั่นแหละค่ะ

หมอบอกว่าโรคนี้สามารถรักษาให้หายขาดได้โดยให้ผู้ป่วยลดปัจจัยเสี่ยงทั้งหมด เช่น เลิกนิสัยชอบกัดฟัน พยายามคิดบวก ปล่อยวางเพื่อให้จิตใจผ่อนคลายไม่ตึงเครียดกับสิ่งที่ผ่านมากระทบอารมณ์ความรู้สึกแล้วเก็บไปฝังลึกอยู่ในจิตใต้สำนึกโดยไม่รู้ตัว ซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุสำคัญของการนอนกัดฟันในเวลาหลับ

แต่ในเบื้องต้นส่วนใหญ่หมอจะให้ยาบรรเทาอาการปวด และยาแก้อักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เพื่อลดปัญหาในเบื้องต้น

ในคนไข้บางรายที่มีปัญหาของการนอนกัดฟันและการสบกันของฟันเปลี่ยนแปลงก็อาจจะให้ใส่เฝือกสบฟัน เพื่อแก้ปัญหาอาการปวดจากการนอนกัดฟัน

การรักษาโรค ทีเอ็มดี ให้ได้ผลดีอีกวิธีหนึ่ง คือ การบริหารข้อต่อขากรรไกรและกล้ามเนื้อบดเคี้ยว ควบคู่กับการประคบร้อนหรือประคบเย็น เพื่อให้กล้ามเนื้อแข็งแรงและมีความยืดหยุ่น จะช่วยให้บรรเทาอาการปวด และทำให้ขากรรไกรเคลื่อนไหวในแนวทางที่ถูกต้อง

การบริหารขากรรไกรเป็นสิ่งจำเป็นและมีประโยชน์มากสำหรับผู้ป่วยโรค ทีเอ็มดี แต่วิธีการบริหารแต่ละท่าจะขึ้นอยู่กับระยะของโรค ดังนั้นผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ก่อนว่าตัวท่านเองป่วยอยู่ในระยะใด เพื่อจะได้เลือกท่าบริหารที่เหมาะสมได้ แต่ที่สำคัญคือก่อนการบริหารขากรรไกร ต้องประคบร้อนประมาณ ๑๕ นาที เพื่อให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย

ทีนี้เรามาดูวิธีการบริหารขากรรไกรกันนะคะ

ท่าแรก เป็นการผ่อนคลายใบหน้า ขากรรไกร และลิ้น โดยการสังเกตว่าเวลาอยู่เฉยๆนั้นฟันล่างกับฟันบนสัมผัสแตะกันหรือไม่ ถ้าแตะกัน แสดงว่าท่านกำลังเกร็งกล้ามเนื้อใบหน้าและขากรรไกรโดยไม่รู้ตัว โดยปกติแล้วฟันล่างกับฟันบนจะแตะกันเฉพาะเวลาที่เคี้ยวอาหารหรือเวลาที่เปล่งคำพูดบางคำเท่านั้น ถ้าแตะกันตลอดเวลาจะทำกล้ามเนื้อเกร็งตลอดเวลา จะทำให้มีอาการปวดเมื่อยตามมา

เพราะฉะนั้นเราต้องฝึกเราฝึกผ่อนคลายริมฝีปาก ใบหน้าและลิ้นด้วยการฝึกพูดคำว่า “เอ็ม” หรือ “เอ็น” บ่อยๆ จะทำให้ริมฝีปาก ลิ้น และการสบของฟันอยู่ในท่าผ่อนคลายโดยอัตโนมัติ

ท่าที่สอง บริหารการอ้าและหุบปากให้อยู่ในแนวตรง โดยการยืนอยู่หน้ากระจกแล้วใช้นิ้วชี้แตะที่ข้อต่อขากรรไกรทั้งสองข้างแล้วอ้าและหุบปากช้า สังเกตว่าการอ้าของปากอยู่ในแนวตรงหรือไม่

ท่าที่สาม บริหารโดยใช้ปลายลิ้นแตะที่กลางเพดานในปาก แล้วอ้าปากช้าๆ โดยที่ปลายลิ้นยังแตะอยู่ที่เพดาน ค้างไว้ ๕ วินาที แล้วหุบปากช้าๆ ทำอย่างนี้สลับกันไปเรื่อยๆ วันละ 4-6 รอบ รอบละ 5– 10 ครั้ง

ท่าที่สี่ บริหารด้วยการยืดเหยียดกล้ามเนื้อบดเคี้ยว โดยการอ้าปากให้สุดโดยไม่ปวด ค้างไว้ 5 วินาทีแล้วหุบพัก แล้วทำซ้ำไปเรื่อยๆสัก 10 ครั้ง นับเป็นหนึ่งรอบ วันหนึ่งทำสัก 4-6 รอบ แล้วเปลี่ยนเป็นยืดคางมาข้างหน้าให้สุดโดยไม่ปวด ค้างไว้ 5 วินาที แล้วหดกลับ ทำซ้ำเป็นรอบตามข้างต้น แล้วเปลี่ยนเป็นยืดคางไปด้านซ้ายและขวาค้างไว้ 5 วินาที สลับกันเหมือนที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

ท่าที่ห้า บริหารกล้ามเนื้อบดเคี้ยวให้แข็งแรง โดยการเอากำปั้นรองไว้ใต้คางแล้วอ้าปากให้กำปั้นต้านการอ้าปาก ค้างไว้ห้าวินาที แล้วอ้า-หุบสลับกันเป็นรอบๆ ในเวลาเท่ากับข้างต้น

ท่าที่หก ยืดเหยียดกล้ามเนื้อบดเคี้ยวโดยมีตัวช่วย เพื่อช่วยให้อ้าปากได้มากขึ้นจากกล้ามเนื้อที่หดเกร็ง โดยการอ้าปากแล้วใช้ไม้ไอศครีมสอดไว้ที่กรามหลังให้ลึกที่สุดเพื่อให้อ้าปากได้กว้างที่สุด แล้วค้างไว้ 1-2 นาที แล้วตามด้วยม้วนลิ้นแตะเพดาน 6 รอบ เพื่อคลายกล้ามเนื้อสลับกัน ทำวันละสามรอบ เช้า กลาง วันเย็น

ทำได้ไหมคะ สำคัญมากนะคะสำหรับผู้ป่วยโรค ทีเอ็มดี เพราะถ้ากล้ามเนื้อบดเคี้ยวและขากรรไกรมีปัญหาก็จะทบสุขภาพโดยรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการย่อยและการดูซึมอาหารทำได้ไม่ดี ร่างกายก็จะแย่ไปทั้งระบบในระยะยาว

อยากอยู่อย่างเป็นสุขก็ต้องอดทนทำกันหน่อยนะคะ

14 December 2561

ที่มา สยามรัฐ

Posted By ์์Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 154859

 

Preset Colors