02 149 5555 ถึง 60

 

ไบโพลาร์ ไม่ใช่เรื่องล้อเล่น ปัญหาจิตเวชที่ต้องเข้าใจและรักษา

ไบโพลาร์ ไม่ใช่เรื่องล้อเล่น ปัญหาจิตเวชที่ต้องเข้าใจและรักษา

“เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย เป็นอะไรเนี่ย ไบโพลาร์เหรอ ?” เรามักได้ยินคำพูดในเชิงหยอกล้อเกี่ยวกับโรคไบโพลาร์ทำนองนี้ ไม่ว่าจะพูดด้วยความไม่ได้คิดมาก ไม่ได้คิดว่าจะเป็นประเด็น หรือพูดเพราะคิดว่าเป็นมุขตลกที่เรียกเสียงหัวเราะได้ รวมถึงพูดเพราะไม่ได้รู้จักและเข้าใจโรคนี้อย่างดีพอ จะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามแต่ การนำโรคทางจิตเวชมาพูดในลักษณะดังกล่าวสร้างผลกระทบอย่างมหาศาล ทำให้เกิดความเข้าใจต่อรายละเอียดของโรคอย่างผิด ๆ ซ้ำร้ายยังทำให้ผู้ป่วยหลายรายไม่กล้าเผชิญกับโรคโดยการพบแพทย์เพราะกลัวจะเจอคำครหาว่า เป็นบ้า ประสาท หรือโรคจิต

รู้จักไบโพลาร์

โรคไบโพลาร์ เป็นชื่อเรียกของอาการอารมณ์ 2 ขั้ว บางครั้งอารมณ์ดีสุด ๆ และไม่กี่ชั่วโมงต่อมาก็อาจจะโมโหร้ายและดำดิ่งได้สุด ๆ เช่นกัน แต่อาการแบบนี้ไม่ได้เกิดจากอุปนิสัยความเกรี้ยวกราดส่วนตัวดังที่หลายคนเข้าใจ

ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้ข้อมูลว่า ระยะไบโพลาร์บ่งออกเป็น 2 ขั้วได้แก่ ขั้วอารมณ์เศร้า (depressed) และขั้วอารมณ์ดีมากกว่าปกติ (mania)

ปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการที่ว่ามีหลัก ๆ 3 ประการ ได้แก่ 1.ความผิดปกติของระบบโมเลกุลพันธุกรรมและการเปลี่ยนแปลงสารเคมีในสมอง 2.พันธุกรรม และ 3.สภาพสังคมและความเครียดส่วนตัว

“ความเครียดที่ว่ามักเกี่ยวพันกับอาการผิดหวังอย่างรุนแรง ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในสมอง ทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะซึมเศร้า ดำดิ่งไปกับความผิดหวัง บางครั้งก็เกิดสลับกับอารมณ์มีความสุขสุดขีด นี่จึงเป็นที่มาของชื่อเรียกไบโพลาร์ในภาษาไทยว่า ภาวะอารมณ์แปรปรวน หรือภาวะอารมณ์ 2 ขั้ว”

อาการของระยะ depressed จะมีอารมณ์เศร้า ซึม ความสนใจต่อการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันลดลง นอนไม่หลับติดต่อกันหลายคืน จนไปถึงความรู้สึกสิ้นหวัง หมดกำลังใจ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเกิดภาวะคิดฆ่าตัวตายในขั้วอารมณ์นี้ ซึ่งอาการที่ว่าจะเกิดขึ้นติดต่อกันอย่างน้อย 2 สัปดาห์

ส่วนข้อสังเกตของระยะ mania ที่แม้จะเป็นขั้วอารมณ์ร่าเริงสนุกสนาน ทว่ากลับเป็นการมีความสุขที่สุดโต่งจนขาดความยับยั้งชั่งใจ หากถูกห้ามปรามหรือขัดขวางในสิ่งที่ต้องการจะเกิดอารมณ์หงุดหงิดฉุนเฉียว หรือบางรายที่รุนแรงมักมีอาการหลงผิดคิดว่าตนมีพลังวิเศษ หูแว่ว ประสาทหลอน สามารถเข้าทรง หรือติดต่อด้วยพลังจิตได้ ระยะนี้จะมีอาการคึกคักติดต่อกันอย่างน้อย 4 วัน

ศ.นพ.รณชัยบอกว่า สิ่งที่น่ากังวลสำหรับแพทย์มากที่สุดคือ ผู้ป่วยไบโพลาร์หลายรายไม่รู้ตัวและไม่กล้าเข้ารับการรักษา จากสถิติพบผู้ป่วยกว่า 1-3% ของประชากรในช่วงตลอดชีวิตหรือประมาณ 7 แสนคน แต่กลับมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาเพียง 7 หมื่นคนเท่านั้น บางรายมีอาการในขั้ว depressed ถึงขั้นฆ่าตัวตายสำเร็จ ซึ่งจากสถิติพบว่าคนไข้สามารถฆ่าตัวตายได้สำเร็จกว่า 1 ใน 5

ความ “สุดโต่ง” ที่ไม่ควรปล่อยผ่าน

ถ้าพูดถึงความสุดโต่งของไบโพลาร์แล้วหลายท่านอาจจะนึกถึงพฤติกรรมโลดโผนดังที่เคยเห็นกันตามหน้าข่าว แต่แท้จริงแล้วพฤติกรรมในชีวิตประจำวันเพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เราไม่ทันสังเกตก็นับว่าเป็นสัญญาณบ่งชี้ให้เฝ้าระวังคนใกล้ชิดได้เป็นอย่างดี

ศ.นพ.รณชัยกล่าวว่า เด็กหลายคนมีพฤติกรรมซุกซน ก้าวร้าว และฉุนเฉียวง่าย แต่พ่อแม่ผู้ปกครองกลับคิดว่าคงเป็นนิสัยก้าวร้าวทั่วไปของวัยรุ่นจึงปล่อยไปเรื่อย ๆ ยิ่งไปกว่านั้นเด็กหลายคนที่เรียนหนัสือเก่งมาก มีความเป็นระเบียบเคร่งครัดอย่างสุดโต่งก็เป็นอีกหนึ่งสัญญาณของโรค

เช่นเดียวกัน ทำให้โดยเฉลี่ยแล้วไบโพลาร์มีการวินิจฉัยล่าช้าไปถึง 11 ปี นับว่าเป็นปัญหาใหญ่ของโรคนี้เลยก็ว่าได้

รศ.นพ.ชวนันท์ ชาญศิลป์ นายกสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า แม้แต่ในวงวิชาการจิตแพทย์ อาการไบโพลาร์ในวัยรุ่นก็ถือเป็นเคสที่วินิจฉัยยากพอสมควร ตรงกับที่ผู้ปกครองหลายท่านคิดว่า พฤติกรรมฉุนเฉียวของลูกอาจเป็นไปด้วยอายุ ทำให้การวินิจฉัยในวัยผู้ใหญ่ที่มีภาวะทางอารมณ์คงที่กว่าวัยรุ่นเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งตัวผู้ป่วยและคนรอบข้างจึงสามารถสังเกตพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปได้ง่าย

ไบโพลาร์ก็เหมือนหวัด เป็นได้-รักษาได้

ศ.นพ.รณชัยให้ข้อมูลว่า โรคไบโพลาร์สามารถรักษาได้หากได้รับการติดตามและดูแลอย่างเหมาะสม ในขณะเดียวกันก็สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้ถึงร้อยละ 80-90 โดยมีหลายปัจจัยเป็นตัวกระตุ้น เช่น เหตุการณ์สะเทือนใจ เหตุการณ์พลิกผันในชีวิต ภาวะเครียดรุมเร้า รวมถึงการใช้สารเสพติด ดังนั้นการรักษาโดยการทานยาอย่างต่อเนื่องจึงสำคัญที่สุด

สำหรับขั้นตอนการรักษา รศ.นพ.ชวนันท์บอกว่า ต้องใช้การกินยาเป็นหลักควบคู่ไปกับการเยียวยารักษาทางจิตใจ โดยแพทย์เจ้าของไข้จะให้การบ้านง่าย ๆ สำหรับผู้ป่วย อย่างการออกไปเดินเล่น ปลูกผักสวนครัว หากิจกรรมที่ช่วยให้ผู้ป่วยผ่อนคลาย บวกกับการมี support system หรือการเชื่อมโยงกับคนรอบข้างที่ดีโดยเฉพาะคนในครอบครัวที่ต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจกับโรคไปพร้อม ๆ กับผู้ป่วยด้วย

หากถามว่า เมื่ออาการทุเลาลงแล้วสามารถหยุดกินยาได้หรือไม่ คุณหมอบอกว่า การกินยาเป็นตัวช่วยในการประคับประคองไม่ให้อาการของโรคปะทุหรือกลับมาเป็นซ้ำ ก็เหมือนกับอาการป่วยโรคอื่นอย่างเบาหวานหรือความดันที่ต้องอาศัยการกินยาเพื่อควบคุมให้ร่างกายอยู่ในระดับปกติเท่านั้นเอง

“อย่างคนที่เป็นโรคเบาหวาน จากเดิมที่มีภาวะน้ำตาลสูง 200 กว่ากินยาแล้วเหลือต่ำกว่า 110 ก็เท่ากับว่าคุมเบาหวานได้ดี แต่ต้องกินยาเพื่อให้คงความปกติไว้ สำหรับคนป่วยเมื่อได้รับยาร่างกายต้องตอบสนองกับยาก่อนจึงไปสู่ระดับอาการที่ดีขึ้น แต่สิ่งที่น่ากลัวคือ การกลับมาเป็นใหม่ เพราะระหว่างทางสามารกลับมาเป็นซ้ำได้อีก โดยเฉพาะไบโพลาร์ที่มันจะกลับมาโจมตีในวันที่เราอ่อนแอเสมอ”

นอกจากนี้ รศ.นพ.ชวนันท์ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า เหล้าหรือบรรดาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้อาการของไบโพลาร์รุนแรงขึ้น มีฤทธิ์ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีบางตัวในสมองทำให้การตอบสนองต่อยาลดลง ส่วนคนทั่วไปถ้ามีเรื่องกรรมพันธุ์มาเกี่ยวข้องแอลกอฮอล์ก็สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการของโรคได้เช่นกัน

สิทธิ-ความคุ้มครองที่เสียไป ในวันที่สังคมยังไม่เข้าใจไบโพลาร์

“ประเทศนี้อนุญาตให้คนบ้าได้แค่ 15 วัน” ศ.นพ.รณชัยกล่าวถึงเงื่อนไขการรักษาพยาบาลในประเทศไทย ซึ่งครั้งหนึ่งคุณหมอเองเคยร่วมเดินขบวนประท้วงเกี่ยวกับข้อกำหนดสิทธิการรักษาประกันสังคมและประกันสุขภาพถ้วนหน้าแก่บุคคลที่มีอาการป่วยทางจิตที่ได้ระบุไว้ว่า หากพ้นกำหนด 15 วัน ผู้ป่วยจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด

นอกจากนี้บริษัทประกันภัยเองก็ไม่รับลูกค้าที่มีประวัติหรือกำลังรักษาตัวด้วยอาการป่วยทางจิตทั้งไบโพลาร์หรือโรคซึมเศร้า รวมไปถึงตัวบทกฎหมายที่ไม่มีการคุ้มครองผู้ป่วย ยกตัวอย่างกรณีดังของเสกสรรค์ ศุขพิมาย หรือเสก โลโซได้รับตัดสินโทษทั้งจากพระราชบัญญัติอาวุธปืน ขัดขืนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ และการมีสารเสพติดไว้ในครอบครอง ซึ่งเหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นในระยะ mania ของโรคไบโพลาร์ทั้งสิ้น

หากเรามาลองดูตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 65 ที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดในทางอาญาได้ระบุไว้ดังนี้

“มาตรา 65 ผู้ใดกระทำความผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้เพราะมีจิตบกพร่อง โรคจิต หรือจิตฟั่นเฟือนผู้นั้นไม่ต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น แต่ถ้าผู้กระทำความผิดยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง หรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง ผู้นั้นต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น แต่ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้”

ศ.นพ.รณชัยอธิบายเพิ่มเติมว่า เมื่ออ้างอิงตามมาตรา 65 ไบโพลาร์จึงถูกตีตกไปเพราะผู้ป่วยยังสามารถพูดคุยซักถามรู้เรื่อง ศาลจึงพิจารณาตัดสินให้รับโทษจำคุกตามการกระทำผิด

“นี่คือสิ่งที่กฎหมายยังไม่เข้าใจโรคนี้ ในฐานะที่เขียนตำราเรื่องจิตเวชผมย้ำเสมอว่า ทนายความต้องอ่านหนังสือเล่มนี้เวลาบอกศาลจะได้บอกถูกว่า ขณะกระทำเป็นไบโพลาร์และมีอาการถึงขั้นโรคจิตแล้ว ศาลจึงจะเข้าใจตัดสินตามมาตรา 65 ซึ่งขณะนี้ยังมีผู้ป่วยไบโพลาร์อยู่ในคุกอีกมากมาย”

ไบโพลาร์ไม่ใช่เรื่องตลก

อีกประเด็นที่ควรเฝ้าระวังคือ การนำคำว่า “ไบโพลาร์” มาพูดเล่นเชิงติดตลก จะเห็นได้ตามสื่อละครหรือรายการโทรทัศน์ที่มักจะนำส่วนหนึ่งของอาการมาพูดเล่นออกอากาศบ่อยครั้ง รวมถึงในระดับบุคคลทั่วไปที่การใช้คำและอาการ “ไบโพลาร์” มาเปรียบเปรยหรือล้อเล่น นับเป็นการสร้างความเข้าใจผิด ๆ ให้แก่ผู้รับสื่อ

รศ.นพ.ชวนันท์ยกตัวอย่าง “การทดลองของพาฟลอฟ” ของอีวาน เปโตรวิช พาฟลอฟ นักจิตวิทยาชาวรัสเซียที่นำไปสู่ทฤษฎีการวางเงื่อนไขแบบคลาสสิก ซึ่งคุณหมอมองว่า การที่สื่อหยิบคำว่าไบโพลาร์ไปพูดในความหมายที่บิดพลิ้วให้ความรู้สึกคล้ายกับการทดลองการสั่นกระดิ่งกับสุนัขของพาฟลอฟ

“การทดลองของพาฟลอฟทำให้เกิดการตอบสนองต่อสิ่งเร้าโดยมีเงื่อนไขหรือสร้างสถานการณ์ให้เกิดขึ้น เช่นเดียวกับการนำโรคไบโพลาร์ไปพูดเล่นในสื่อ เรากำลังเทรนด์คนดูให้เกิดความรู้สึกด้านลบกับโรค ทำให้คนดูคิดว่าไบโพลาร์เป็นแบบนั้นแบบนี้ คนที่ป่วยจริง ๆ ก็จะยิ่งรู้สึกกลัวไม่กล้าไปพบแพทย์”

ด้าน ศ.นพ.รณชัยเห็นว่า นอกจากจะทำให้ผู้ป่วยไม่กล้าเปิดเผยตัวเองแล้วยังทำให้เกิดความรู้สึกเป็นสิ่งแปลกปลอมของสังคม ในความเป็นจริงไบโพลาร์ก็คือโรคชนิดหนึ่งไม่ต่างจากการป่วยไข้ เป็นหวัด หรือโรคความดัน-เบาหวาน

จากจำนวนตัวเลขผู้ป่วยที่มีความผกผันกับจำนวนผู้เข้ารับการรักษา รวมถึงสถานการณ์ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคในปัจจุบันก็นับว่าเป็นอีกประเด็นสำคัญที่น่าเป็นห่วง ไม่เฉพาะเพียงไบโพลาร์เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงโรคซึมเศร้าและโรคทางจิตเวชอื่น ๆ ที่ถูกตีตราจากสังคมไม่ต่างกัน

14 December 2561

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ

Posted By Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 13363

 

Preset Colors