02 149 5555 ถึง 60

 

คนเป็นแม่เจ็บยิ่งกว่า! เหตุจากมือถือ ลูกวัยขวบกว่า น้ำตาเป็นเลือด

คนเป็นแม่เจ็บยิ่งกว่า! เหตุจากมือถือ ลูกวัยขวบกว่า น้ำตาเป็นเลือด

นับตั้งแต่มือถือเข้ามามีบทบาทชีวิตของคนทุกวัย หากไม่พึงระวังการใช้อย่างมีวินัยอาจเกิดเหตุร้ายได้ ดังเรื่องราวอุทาหรณ์ล่าสุด คงช่วยเตือนใจพ่อแม่ผู้ปกครองในการเลี้ยงดูบุตรหลานให้เข้มงวดมากขึ้น

“เคยเห็นแต่แม่ๆ คนอื่น โพสต์กันเรื่องให้ลูกดูโทรศัพท์ แล้วตาบวม ตาแฉะ พอมาเจอกับลูกตัวเอง สงสารลูกจับใจ เห็นลูกเจ็บปวด คนเป็นแม่เจ็บยิ่งกว่า อยากฝากเป็นอุทาหรณ์ให้แม่ๆ อย่าตามใจลูกมาก เราจะเสียใจเอง รักลูกอย่าตามใจลูก”

น.ส.มลจิรา พิบาล คุณแม่เลี้ยงเดี่ยว อายุ 23 ปี จ.ปทุมธานี ซึ่งมีอาชีพขายของออนไลน์ เปรยความรู้สึกกับทีมข่าวฯ เมื่อต้องเห็นลูกรัก “ด.ญ.กนกกาญจน์ พิบาล หรือ น้องมัสก้า วัย 1 ขวบ 6 เดือน ร้องไห้ด้วยความเจ็บปวด จากการที่ปล่อยให้ลูกสาวดูการ์ตูนและสารคดีจากโทรศัพท์มือถือ จ้องหน้าจอโทรศัพท์เป็นเวลานานร่วมเดือน โดยไม่เปิดไฟ

“ปกติให้ยายเลี้ยงลูก เพราะต้องทำงาน ก็เคยบอกยายตลอดว่าอย่าให้เล่นโทรศัพท์เด็ดขาด แต่ยายก็แอบให้ดูตลอด ทุกคืนก่อนนอนลูกก็เล่นตามประสาเด็กแล้วก็หลับไป แต่พอมาเห็นคุณตาเปิดยูทูบดู เลยอยากดูด้วย พอไม่ให้เล่นก็นอนดิ้น ร้องไห้งอแงบอกอยากดูการ์ตูน เลยให้เล่นทุกคืนอยู่เกือบเดือน ก่อนนอน 1-2 ชั่วโมง ตั้งแต่เวลา 1 ทุ่มถึง 3 ทุ่ม ในห้องนอนที่ปิดไฟ มีแต่แสงไฟจากมือถือ” คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวเล่าถึงจุดเริ่มต้นที่เป็นเหตุให้ลูกรักต้องปวดร้าวโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์

ตาเร่ิมแฉะบวม เพราะจ้องจอโทรศัพท์เป็นเวลานานร่วมเดือน

ทั้งนี้ น.ส.มลจิรา พิบาล ยังเผยข้อมูลเตือนใจที่เกิดขึ้นกับตนเองและลูก ถึงอันตรายที่ลูกรักจ้องหน้าจอโทรศัพท์เป็นเวลานานๆ มีอาการเร่ิมจากจู่ๆ น้ำตาก็ไหล ตาบวม ตาแฉะ ตาอักเสบ มีขี้ตาปนหนอง จนมีอาการหนักถึงขั้นน้ำตาไหลเป็นลิ่มเลือด โชคดีที่รักษาได้ทันการณ์ หมอชี้แสงสีฟ้าในมือถือทำให้เส้นเลือดฝอยแตก ดวงตาอักเสบทั้งสองข้าง เสี่ยงตาบอดหากปล่อยไว้นาน

“ก่อนมีอาการหนักจนน้ำตาเป็นเลือด จู่ๆ ลูกน้ำตาก็ไหลเยอะมาก ตาฉ่ำ ตื่นเช้ามาขี้ตาติดกรังจนลืมตาไม่ค่อยได้ อาการมาหนักเมื่อเช้าวันที่ 25 เม.ย. ตื่นมาขี้ตามีหนองเต็มทั้ง 2 ตา เหมือนผู้ใหญ่ที่เจ็บตามากๆ ลืมตาไม่ได้ ต้องใช้น้ำอุ่นเช็ด จากนั้นเริ่มมีอาการแดงบวม

น้ำตาเป็นสายเลือด หมอชี้ปล่อยไว้นานเสี่ยงตาบอด

แต่พอประมาณ 4 โมงเย็น ลูกบอกว่าเจ็บตาๆ ไม่ยอมให้จับดู บอกไม่เอาๆ เจ็บ และร้องไห้ออกมาเป็นเลือดเหมือนในภาพ มีลิ่มเลือดผสมขี้ตาออกมาด้วย ตกใจมาก รีบพาไปหาหมอที่คลินิก หมอบอกว่าลูกเยื่อตาอักเสบเพราะแพ้แสงสีฟ้าในมือถือทำให้เส้นเลือดฝอยแตก

ให้ยามาหยอดตา และให้ยามากินแก้อักเสบ และให้อยู่ห่างจากแสงมือถือ ห้ามดูทีวี เด็กเยื่อตาไม่แข็งแรง ปล่อยให้นานกว่านี้อาจตาบอด หมอแนะนำว่าผู้ใหญ่อย่าใจอ่อน หักดิบอย่าให้ลูกเล่นมือถือ หรือเล่นให้ลูกเห็น ควรชวนกันทำกิจกรรมอย่างอื่นดีกว่า” น.ส.มลจิรา กล่าว

การเล่นมือถือในที่มืดทำให้เกิดอาการดังกล่าวอย่างไร มีอันตรายอื่นซ่อนเร้นอีกหรือไม่ ทีมข่าวฯ สอบถามจาก นพ.ธีรวีร์ หงษ์หยก จักษุแพทย์ กลุ่มงานจักษุวิทยา โรงพยาบาลราชวิถี และอาจารย์แพทย์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า การเล่นมือถือในที่มืด มีข้อเสียคือ กล้ามเนื้อตาถูกใช้งานหนักกว่าปกติ อาจทำให้เกิดอาการสายตาสั้นเทียม หรือถ้าสายตาสั้นอยู่แล้ว อาจเป็นหนักกว่าเดิมได้

“เคสนี้หายากและแปลกเหมือนกัน เด็กเป็นวัยที่กำลังเจริญเติบโตทั้งทางร่างกาย และดวงตา เพราะฉะนั้นการมองหน้าจอใกล้ๆ นานๆ จะเป็นตัวกระตุ้นสำคัญที่ทำให้ลูกตาใหญ่ขึ้น จะส่งผลโตขึ้น ทำให้เกิดสายตาสั้น การมองหน้าจอในที่มืด ม่านตาจะขยาย ทำให้ได้รับแสงจากหน้าจอเข้าไปในตาในปริมาณที่สูงขึ้น ทำให้ตาล้าแสบได้ง่าย รวมทั้งอาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดความเสื่อมของตาระยะยาวมากขึ้นได้

นพ.ธีรวีร์ หงษ์หยก จักษุแพทย์ กลุ่มงานจักษุวิทยา รพ.ราชวิถี และอาจารย์แพทย์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์ ม.รังสิต

การใช้สายตากับจอนานๆ มีกลไกเกิดขึ้น 2 อย่าง ที่เกิดไม่แค่เฉพาะเด็ก ผู้ใหญ่ก็เป็น คือ กะพริบตาน้อยลง 60 เปอร์เซ็นต์ และการเพ่งมองนานๆ เพราะตั้งใจดู ทำให้น้ำตาระเหยออกนาน ส่งผลให้ตาแห้ง แสบเคือง หรือคัน เด็กสื่อสารได้ไม่เต็มที่ ก็ไม่ได้บ่น ไม่ได้บอก ก็จะขยี้ตา ไปแคะ แกะ เกา ทำให้มีเลือดปนมากับน้ำตา”

นพ.ธีรวีร์ ชี้แจงพร้อมชี้แนะการใช้หน้าจอต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นมือถือ ทีวี หรือคอมพิวเตอร์ จากคำแนะนำจากสมาคมกุมารแพทย์อเมริกาว่า เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ไม่ควรดูหน้าจอ อายุ 2-6 ปี ดูได้บ้าง แต่ไม่ควรเกินวันละ 1 ชั่วโมง แนะนำให้ดูในส่ิงที่เสริมความรู้ ส่วนเด็กอายุเกิน 6 ปี ใช้ได้บ้างตามความเหมาะสม เช่น ทำการบ้านผ่านแอป ส่งงานทางอีเมล แต่หากต้องการใช้เพื่อความบันเทิงควรจำกัดเวลาไม่ให้เยอะเกินไป จะเกิดปัญหาหลายๆ อย่างตามมา

“เด็กจะจับโน่นจับนี่ตามประสาเด็ก ควรสนับสนุนให้ล้างมือบ่อยๆ ล้างมือทุกครั้งก่อนจับอาหารและใบหน้า เพราะมือจับโน่นจับนี่เยอะแยะในระหว่างวัน อาจมีเชื้อโรค แบคทีเรีย ไวรัสติดมา ซึ่งเยื่อบุตาจะบางกว่าผิวหนัง หากมีสิ่งสกปรก มีแบคทีเรีย ไวรัส มาโดน มีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายกว่าผิวหนังของร่างกาย” นพ.ธีรวีร์ กล่าว

11 December 2561

ที่มา ไทยรัฐ

Posted By Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 3048

 

Preset Colors