02 149 5555 ถึง 60

 

พัฒนาโปรแกรมวิเคราะห์ “สมอง” คนสติปัญญาบกพร่อง-จิตเวช ช่วยวางแผนรักษา ฝึกทักษะอาชีพ

พัฒนาโปรแกรมวิเคราะห์ “สมอง” คนสติปัญญาบกพร่อง-จิตเวช ช่วยวางแผนรักษา ฝึกทักษะอาชีพ

เผยแพร่: 15 พ.ย. 2561 19:01 ปรับปรุง: 15 พ.ย. 2561 19:59 โดย: ผู้จัดการออนไลน์

กรมสุขภาพจิต ร่วมวิศวะ มหิดล และ เอไอเอส ผุดโปรแกรมพัฒนาทักษะอาชีพ “ผู้บกพร่องสติปัญญา” และ “ผู้ป่วยนิติจิตเวช” ช่วยบอกการทำงานที่ผิดปกติของสมอง นำมาวางแผนรักษา ปรับโปรแกรมบำบัดให้ตรงวัตถุประสงค์

​วันนี้ (15 พ.ย.) กรมสุขภาพจิต คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยเรื่องการใช้องค์ความรู้ กระบวนการวิจัยและเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ที่มีภาวะบกพร่องทางสติปัญญาและผู้ป่วยนิติจิตเวชในระดับประเทศ

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า มีความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ที่มีภาวะบกพร่องทางสติปัญญา และผู้ป่วยนิติจิตเวชอย่างยิ่ง เนื่องจากบุคคลกลุ่มนี้ หลังจากการเข้าสู่ระบบการบำบัดรักษาทางด้านสุขภาพแล้ว พวกเขายังต้องการใช้ชีวิตอยู่ได้ด้วยตนเองอย่างอิสระและมีความสุขเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป สถาบันราชานุกูล สังกัดกรมสุขภาพจิต ซึ่งรับผิดชอบด้านการการบำบัดรักษาฟื้นฟูสมรรถภาพผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญา ได้เห็นความสำคัญของการฟื้นฟูสมรรถภาพและการเตรียมความพร้อมด้านอาชีพ โดยมีเป้าหมายให้ผู้บกพร่องทางสติปัญญา และครอบครัวมีอาชีพ สามารถพึ่งพาตนเองได้

จากรายงานของผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล ทราบว่า มีการทดลองนำโปรแกรมพัฒนาทักษะอาชีพด้านการเกษตรปลอดสารพิษ มาใช้กับผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยเป็นภาวะบกพร่องทางสติปัญญา 4 ราย กลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม 2 ราย และภาวะออทิสติก 3 ราย หลังเข้าโปรแกรม เป็นระยะเวลา 3 เดือน พบว่า ผู้ที่เข้าโปรแกรม มีทักษะด้านการเกษตรปลอดสารพิษ และความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวันระดับพื้นฐานและขั้นสูงเพิ่มขึ้นทุกราย (ร้อยละ 100) และพบว่า ผู้บกพร่องฯ ร้อยละ 88.89 มีทักษะทางสังคมที่จำเป็นในการอยู่ในชุมชนเพิ่มขึ้นจากเดิมเมื่อเปรียบเทียบกับก่อนเข้าโปรแกรมฯ และทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีการพัฒนา software และอุปกรณ์สำหรับวัดการทำงานของสมอง ที่มีชื่อ Quantitative EEG หรือ qEEG และบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด มีช่องทางการจำหน่ายสินค้าดิจิทัลออนไลน์ และศูนย์กลางความรู้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการเกษตร กรมสุขภาพจิต โดยสถาบันราชานุกูล และสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ จึงได้ข้อตกลงสร้างความร่วมมือ กับ หน่วยงานรัฐ และเอกชน เพื่อร่วมกันพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้บกพร่องทางสติปัญญาอย่างจริงจัง และจะได้ขยายผลไปยังผู้ป่วยนิติจิตเวชต่อไป

รศ.ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล กล่าวว่า software และอุปกรณ์สำหรับวัดการทำงานของสมอง (Quantitative EEG ,qEEG) ที่พัฒนาขึ้น เป็นการวัดคลื่นสมองเพื่อดูการทำงานของสมองของผู้ป่วย แล้วนำมาคำนวณ วิเคราะห์เป็นภาพการทำงานของสมองทั้งหมด โดยสามารถดูได้ว่า สมองส่วนใดทำงานมาก ทำงานน้อย (Brain activity) โดยจะแสดงเป็นภาพสีของการทำงานของสมองแต่ละส่วน และยังสามารถบอกการทำงานที่ผิดปกติของสมองได้ ทั้งนี้ การนำมาใช้ในเชิงคลินิกกับผู้ป่วย ต้องนำผลที่ได้จาก qEEG มาเชื่อมโยงกับพฤติกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงหลังเข้าโปรแกรม เพื่อเป็นการยืนยันว่า โปรแกรมการบำบัดต่างๆ ส่งผลการเปลี่ยนแปลงต่อการทำงานของสมองจริง และนำผลที่ได้มาประกอบการวางแผนการรักษาและนำมาปรับโปรแกรมบำบัดให้ตรงจุดประสงค์ที่ตั้งไว้ โดยการตรวจฯจะทำทั้งก่อน ระหว่าง และหลังจบโปรแกรม การใช้ qEEG ร่วมกับ software เพื่อวัดผลการเปลี่ยนแปลงการทำงานของสมองผู้ป่วยหรือผู้บกพร่องทางสติปัญญา มีข้อดีอีกประการหนึ่ง คือ มีต้นทุนไม่สูง สามารถบอกการเปลี่ยนแปลงได้ในเชิงวิทยาศาสตร์ ซึ่งแตกต่างจากรูปแบบการวัดผลด้วยแบบประเมินแบบเดิมที่อาจอธิบายในเชิงวิทยาศาสตร์ได้น้อย

นายพงษ์ศักดิ์ ตันวิสุทธิ์ หัวหน้าส่วนงานดิจิทัลฟอร์ไทย บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส กล่าวว่า เอไอเอส ได้นำเทคโนโลยี “ฟาร์มสุขแพลตฟอร์ม” ซึ่งประกอบด้วย ช่องทางการจำหน่ายสินค้าดิจิทัลออนไลน์ ชื่อว่า “ร้านฟาร์มสุข” และศูนย์กลางความรู้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการเกษตร ชื่อว่า “ฟาร์มสุข” โดยบูรณาการนำทั้งสองโมบายแอปพลิเคชันสำหรับประยุกต์ใช้เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ สร้างโอกาสในการพัฒนาอาชีพ และพัฒนาสติปัญญาให้แก่กลุ่มผู้ที่มีภาวะบกพร่องทางสติปัญญา โดยได้สอนความรู้ด้านการปลูกผักอินทรีย์ ได้มีกิจกรรมเพื่อส่งผลไปยังพัฒนาการที่ดีขึ้น รวมทั้งติดตามวัดผลความก้าวหน้าของโครงการอย่างต่อเนื่อง โดยได้เริ่มต้นโครงการมาตั้งแต่ เดือนกรกฎาคม 2561 และเพื่อขยายผลยกระดับความช่วยเหลือให้ครอบคลุมคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ด้อยโอกาสให้มีผลสัมฤทธิ์ยิ่งขึ้น เอไอเอสได้จัดให้มีการเชื่อมโยงการค้นคว้าวิจัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมีความชำนาญด้านการสร้างเครื่องมือวัดผลทางสมองมาผนวกกับเทคโนโลยีดิจิทัลของเอโอเอส โดยมีเป้าหมายเพื่อร่วมกันสร้างระบบจัดการครบวงจรสำหรับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ที่มีภาวะบกพร่องทางสติปัญญาและผู้ป่วยนิติจิตเวชในระดับประเทศ

ทั้งนี้ กรมสุขภาพจิตจะให้ความร่วมมือในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการส่งเสริมป้องกัน การดูแลผู้ป่วยฯ เพื่อการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีการสนับสนุนจากเอไอเอส ภายใต้บันทึกข้อลงในระยะเวลา 5 ปี คาดหวังจะสามารถสร้างผลลัพธ์ ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยทั่วประเทศให้ดีขึ้น อันเป็นพื้นฐานของการพัฒนาและเติบโตได้อย่างยั่งยืน ตามนโยบายของภาครัฐในการพาประเทศสู่ไทยแลนด์ 4.0

16 November 2561

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By ์์Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 830

 

Preset Colors