02 149 5555 ถึง 60

 

ความผิดเกี่ยวกับเพศของ "เด็กกับเด็ก"

ความผิดเกี่ยวกับเพศของ "เด็กกับเด็ก"

ปัญหาเรื่องการข่มขืนกระทำชำเราหรือการล่วงละเมิดทางเพศนับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นในสังคมไทย และพบปัญหานี้มากขึ้นจากการกระทำของคนที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเหยื่อผู้ถูกกระทำ เช่น พ่อกระทำกับลูก ปู่หรือตากระทำกับหลาน พี่กระทำกับน้อง พ่อเลี้ยงกระทำกับลูกเลี้ยง และที่น่ากังวลใจมากยิ่งขึ้นไปกว่านี้ก็คือพบว่า ผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับเพศเป็นผู้มีอายุน้อยลงเรื่อยๆ จนเราไม่สามารถจะเข้าใจได้เลยว่า ทำไมเด็กอายุเพียงแค่ไม่ถึง 10 ปี หรือไม่เกิน 12 ปี จึงเป็นผู้กระทำความผิดในความผิดเกี่ยวกับเพศไปได้

โดยส่วนมากพบว่า เด็กที่กระทำความผิดกับเด็กที่ถูกกระทำมักมีความสนิทสนมคุ้นเคยกันหรืออยู่ในสังคมเดียวกัน เช่น เป็นพี่น้องกัน เป็นเพื่อนบ้านกัน เป็นเพื่อนที่เรียนห้องเดียวกัน หรือเป็นเด็กที่เรียนอยู่โรงเรียนเดียวกัน และมีทั้งกรณีที่ลงมือกระทำผิดเพียงคนเดียวและร่วมกระทำความผิดด้วยกันหลายคน โดยสาเหตุของการที่เด็กลงมือกระทำความผิดนั้นส่วนใหญ่เกิดจากการที่เด็กเหล่านั้นมักเคยตกเป็นเหยื่อทางเพศจากผู้ใหญ่มาก่อน หรือพบเห็นการกระทำการล่วงละเมิดทางเพศมาแล้วต้องการทำตาม

สิ่งที่น่ากังวลอย่างหนึ่งคือมักไม่มีใครรู้ว่าเกิดกรณีที่เด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศจากเด็กด้วยกันเอง เพราะเด็กผู้ถูกกระทำมักไม่เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นว่าตนถูกกระทำให้เกิดความเสียหายอย่างไรบ้าง จึงไม่ได้แจ้งให้พ่อแม่หรือคุณครูได้ทราบ ดังนั้น พ่อแม่หรือคุณครูก็ไม่สามารถที่จะให้ความช่วยเหลือหรือแก้ไขได้ แต่สิ่งที่น่ากังวลไม่แพ้กันคือหากเด็กผู้ถูกกระทำรับรู้และเข้าใจว่าตนเองถูกทำร้ายอย่างไร เด็กจะเกิดความบอบช้ำทั้งร่างกายและจิตใจ ส่งผลต่อการใช้ชีวิตของเด็กคนนั้นไปตลอด ซึ่งพ่อแม่ต้องหาทางช่วยเหลือเยียวยาให้ลูกหายจากความเจ็บปวดที่ได้รับและกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้อีกครั้งหนึ่ง

ในฐานะของคนที่เป็นพ่อแม่ ย่อมไม่อยากให้ลูกตกเป็นทั้งผู้กระทำความผิดหรือตกเป็นเหยื่อของการทำผิดทางเพศอย่างแน่นอน เพราะฉะนั้น สิ่งที่จะต้องทำเป็นอันดับแรกคือการป้องกันไม่ให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นกับลูกของเรา ดังนี้

1.สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องเพศและอวัยวะเพศแก่ลูก

เด็กอายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป จะเริ่มให้ความสนใจในเรื่องเพศและอยากรู้อยากเห็นเกี่ยวกับเรื่องอวัยวะเพศทั้งของตัวเองและของคนอื่น จนอาจถึงขั้นทำสิ่งไม่สมควร เช่น แอบดูคนเข้าห้องน้ำ ไปจับอวัยวะเพศของคนอื่น ดังนั้น พ่อแม่จึงต้องสอนและตักเตือนให้ลูกควบคุมการกระทำไม่ให้ทำเช่นนี้อีกเพราะเป็นสิ่งไม่ดีและต้องสอนให้ลูกป้องกันตัวเอง เช่น ไม่ถอดเสื้อผ้าต่อหน้าคนอื่น เข้าห้องน้ำต้องปิดประตูให้มิดชิด นั่งให้เรียบร้อยจะได้ไม่โป๊ และไม่ให้ใครมายุ่งกับอวัยวะเพศของตนเอง

​2.สอนลูกให้รู้ว่าการล่วงละเมิดทางเพศทำให้เกิดผลเสียอย่างไร

​พ่อแม่ส่วนใหญ่มักไม่ได้สอนลูกให้รู้เกี่ยวกับเรื่องการกระทำผิดทางเพศเพราะคิดว่าไม่ใช่เรื่องที่เด็กต้องรู้ แต่แท้จริงแล้วการสอนให้ลูกรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้จะเป็นทั้งการป้องกันไม่ให้ลูกทำผิดและตกเป็นเหยื่อของการกระทำความผิด ดังนั้น พ่อแม่ควรหาข้อมูลข่าวสารจากแหล่งต่างๆให้ลูกได้ดูได้อ่าน โดยอาจอ่านเนื้อข่าวให้ลูกฟังว่าเหยื่อถูกกระทำที่ไหน อย่างไร และสิ่งที่ตามมาหลังเกิดการกระทำความผิดเป็นเช่นไร เช่น เหยื่อเสียหายและมีความทุกข์มากแค่ไหน และคนกระทำความผิดได้รับการลงโทษอย่างไรบ้าง และสอนลูกไม่ให้กระทำเพราะเป็นสิ่งที่ไม่ดีอีกทั้งสอนให้ลูกป้องกันตัว เช่น ไม่ไปไหนมาไหนหรืออยู่กับใครเพียงลำพัง เพื่อจะไม่เกิดความเสียหายแบบนั้นกับตนเอง

​3. ไม่ให้ลูกอยู่กับบุคคลที่จะนำพาลูกไปในทางที่เป็นภัย

หากพ่อแม่ไม่สามารถดูแลลูกได้ตลอดเวลาและจำเป็นต้องให้ลูกอยู่กับคนอื่น พ่อแม่ต้องเลือกคนที่ลูกจะต้องอยู่ด้วยอย่างดีและเหมาะสมที่สุด เพราะหากเลือกไม่ดีเขาปล่อยปละละเลยหรือสอนลูกเราในทางที่ไม่ดี เช่น ให้ดูสื่อลามกอนาจาร พูดจาหยาบคายในทางเพศ หรือแต่งกายโป๊ให้เห็น จึงต้องเลือกคนที่เขาคนนั้นจะไม่เป็นภัยและเป็นคนที่สามารถปกป้องลูกแทนเราได้ด้วย

​ทำอย่างไรหากลูกถูกล่วงละเมิดทางเพศ

​เมื่อลูกถูกล่วงละเมิดทางเพศ นอกจากจะดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายแล้ว สิ่งที่สำคัญที่พ่อแม่ต้องทำต่อจากนั้นมีอะไรบ้าง

​1.แสดงความรักและความห่วงใย

​กอดลูกให้ลูกรู้ว่านี่คือที่ๆลูกจะรู้สึกปลอดภัย ลูกไม่ต้องกลัวอะไรเพราะต่อจากนี้จะไม่มีใครทำอันตรายลูกได้อีกและพูดให้ลูกรู้ว่าพ่อแม่รักลูกมากเพียงใดและจะช่วยเหลือลูกทุกอย่างอย่าลืมว่า พ่อแม่และคนในครอบครัวต้องให้กำลังใจแก่กันและกันด้วย เพราะปัญหาลูกถูกล่วงละเมิดทางเพศไม่ใช่ปัญหาที่สร้างความเจ็บปวดแก่ลูกเพียงคนเดียว แต่คนในครอบครัวก็รู้สึกเจ็บปวดด้วยเช่นกัน

​2.ค่อยๆถามถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อให้ได้ทราบข้อเท็จจริงต่างๆ

​เมื่อรู้สึกว่าลูกพร้อมที่จะพูดแล้ว ให้ถามลูกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร ด้วยการใช้คำถามสั้นๆง่ายๆ เมื่อลูกพูดตอบ ควรตั้งใจฟังโดยไม่ชี้นำคำตอบหรือแสดงความคิดเห็นของตัวเองลงไป คอยสังเกตว่าลูกเป็นอย่างไรระหว่างพุดคุย หากเห็นว่าลูกเริ่มไม่สบายใจที่จะพูดแล้วก็ไม่ควรบังคับให้พูดต่อ แต่ให้เปลี่ยนไปพูดคุยเรื่องอื่นหรือเปลี่ยนไปทำกิจกรรมอื่นจนลูกรู้สึกสบายใจก่อน

​3.อยู่ใกล้ชิดลูกให้มากที่สุด

​อย่าให้ลูกอยู่เพียงลำพังเพราะช่วงนี้เป็นช่วงที่ลูกอ่อนแอที่สุด พ่อแม่ควรดูแลลูกอย่างเอาใจใส่ทั้งอาหารการกิน การนอนหลับพักผ่อน การทำกิจกรรมต่างๆ แต่อย่าทำให้ลูกรู้สึกอึดอัดมากจนเกินไปด้วยการตัวติดกับลูกตลอดไม่ให้ลูกคลาดสายตา แต่ให้ลูกได้มีพื้นที่ส่วนตัวบ้าง เช่นให้ลูกได้เล่นอะไรของเขาอยู่ในระยะที่สามารถมองเห็นได้ หรือให้ลูกได้พักผ่อนในห้องของเขาโดยพ่อแม่เข้าไปดูแลหรือถามไถ่เป็นระยะๆก็พอ

​4.ปรึกษาจิตแพทย์

​การพาลูกไปพบจิตแพทย์เป็นการช่วยเยียวยาลูกได้อีกทางหนึ่ง โดยเฉพาะเมื่อลูกถูกทำร้ายเช่นนี้ย่อมมีความบอบช้ำทางจิตใจสูง จิตแพทย์สามารถช่วยเหลือได้โดยให้คำปรึกษา ทำจิตบำบัด และหากเป็นมากก็จำเป็นที่ต้องให้ยาเพื่อรักษา ซึ่งเป็นผลดีแก่ลูกที่จะทำให้ลูกกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติได้

​แน่นอนว่า ย่อมไม่มีใครอยากให้เกิดการล่วงละเมิดทางเพศของเด็กกับเด็ก โดยเฉพาะสำหรับพ่อแม่แล้ว ไม่ว่าลูกจะต้องไปตกอยู่ในฐานะผู้กระทำหรือผู้ถูกกระทำย่อมสร้างความเจ็บปวดให้แก่ครอบครัวด้วยกันทั้งนั้น ดังนั้น การะป้องกันไม่ให้เกิดย่อมเป็นทางที่ดีที่สุดที่พ่อแม่จะต้องทำ และไม่มีสิ่งใดที่จะใช้เป็นเกราะป้องกันได้ดีมากไปกว่า “ความรัก การดูแลและการเอาใจใส่” ของคนในครอบครัว

12 November 2561

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 5980

 

Preset Colors