02 149 5555 ถึง 60

 

แนะฟิตร่างกายเพื่อสุขภาพ อยู่ดีมีสุขไม่หวั่นแม้สูงอายุ

แนะฟิตร่างกายเพื่อสุขภาพ อยู่ดีมีสุขไม่หวั่นแม้สูงอายุ

นพ.กรกฎ พานิช คณะกรรมการที่ปรึกษาด้านโภชนาการของเฮอร์บาไลฟ์ นิวทริชั่น (NAB) กล่าวว่า จากผลสำรวจล่าสุดของ NAB เกี่ยวกับการ “สูงวัยอย่างมีสุขภาพดี (healthy aging)” โดยมีผู้ตอบแบบสำรวจออนไลน์ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีทั้งสิ้น 5,510 คนจาก 11 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีคนไทยจำนวน 502 คนที่ร่วมทำแบบสำรวจออนไลน์นี้ พบว่าร้อยละ 74 ของผู้ตอบแบบสำรวจชาวไทยตอบว่า การสูงวัยอย่างมีสุขภาพดีคือ “การไม่เป็นภาระให้ลูกหลานยามแก่เฒ่า” ในขณะที่ผู้ตอบแบบสำรวจจากประเทศอื่นๆ ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 66) ตอบว่า คือ “การเคลื่อนไหวได้อย่างกระฉับกระเฉงแม้จะแก่ตัวไปเรื่อยๆ” จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจว่าคนไทยมีมุมมองและความเข้าใจเรื่องการสูงวัยอย่างมีสุขภาพดีที่แตกต่างออกไป และทำให้มีการจัดลำดับความสำคัญต่างๆ ในชีวิตต่างจากคนในประเทศอื่นด้วย

นอกจากนั้น ร้อยละ 98 ของผู้ตอบแบบสำรวจชาวไทยเห็นด้วยว่า พวกเขาสามารถเตรียมพร้อมอย่างจริงจังเพื่อการสูงวัยอย่างมีสุขภาพดีได้เช่นเดียวกับผู้คนส่วนใหญ่ในประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงของเรา อย่างไรก็ดี ผู้ตอบแบบสำรวจชาวไทยร้อยละ 60 มองว่า ช่วงอายุที่เหมาะสมสำหรับการเตรียมพร้อมอย่างจริงจังเพื่อการสูงวัยอย่างมีสุขภาพดี คือช่วงอายุ 40-50 ปี ในขณะที่สัดส่วนของผู้ตอบแบบสำรวจโดยรวมทั้งหมดในเอเชียแปซิฟิกที่มองว่าช่วงอายุที่เหมาะสมสำหรับการเตรียมพร้อมอย่างจริงจังเพื่อการสูงวัยอย่างมีสุขภาพดีในช่วงอายุ 40-50 ปี มีมากถึงร้อยละ 71 นั่นหมายถึงคนไทยผู้ตอบแบบสำรวจอาจคิดถึงการเตรียมตัวที่ช้ากว่าผู้คนที่ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่ในเอเชียแปซิฟิก ในขณะที่แพทย์ทั่วโลกส่วนใหญ่มักจะสนับสนุนให้คนหันมาใส่ใจสุขภาพตนเองมากขึ้นเมื่ออายุเข้าสู่เลข 40 เพราะวัยนี้เป็นต้นไปคือช่วงวัยที่เริ่มเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยและมีโรคภัยต่างๆ ได้ง่ายขึ้นกว่าสมัยยังหนุ่มสาว

คุณหมอได้แนะนำหลักการ 3 ประการที่ช่วยให้สูงวัยอย่างมีสุขภาพดี มีดังนี้ เริ่มจาก 1.โภชนาการที่ดีต่อสุขภาพ การได้รับและเสริมโภชนาการที่สมดุลให้แก่ร่างกายก็จะช่วยลดโอกาสในการเจ็บป่วยได้ แคลเซียมช่วยเสริมสร้างกระดูกและข้อต่อ และลดโอกาสเสี่ยงที่กระดูกจะหักหรือเปราะบางได้ง่ายเมื่อเราหกล้ม นอกจากนี้ การจะดูแลระบบย่อยอาหารให้ดี และเสริมด้วยอาหารที่มีเส้นใยอาหารและจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย สายตาและการมองเห็นก็จะลำบากขึ้นเมื่อเราแก่ตัวลง ดังนั้นให้หมั่นตรวจเช็กสุขภาพสายตาและเสริมด้วยอาหารที่มีสารลูทีน ที่พบมากในข้าวโพดหวาน ฟักทอง แครอต ไข่แดง เป็นต้น

สำหรับระบบหัวใจและหลอดเลือด ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่จะส่งผลเสียต่อระบบหลอดเลือดและหัวใจ เช่น กลุ่มอาหารหวาน มัน เค็ม หมั่นออกกำลังกายและดูแลควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ และที่สำคัญที่สุด ต้องรักษาระดับความเครียดซึ่งเป็นภัยเงียบไม่ให้สูงเกินไป ด้วยการฝึกหายใจช้าๆ หัดสังเกตความรู้สึกของตนเองอย่างมีสติ ก็นับเป็นอีกหนึ่งวิธีการที่ดีที่สุดในการดูแลรักษาสุขภาพหัวใจของคุณด้วย

2.การเคลื่อนไหวและการออกกำลังกาย และจากคำตอบของผู้ตอบแบบสำรวจชาวไทยส่วนใหญ่ที่ว่า “การไม่เป็นภาระให้ลูกหลานยามแก่เฒ่า” ทราบหรือไม่ว่า การออกกำลังกาย เคลื่อนไหวสม่ำเสมอ จะนำมาซึ่งการไม่เป็นภาระแก่ลูกหลานในที่สุด อีกทั้งการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอยังช่วยให้เราสามารถรักษามวลกระดูกและมวลกล้ามเนื้อ ซึ่งส่งเสริมให้เรายังคงมีพละกำลัง มีความยืดหยุ่นของร่างกาย ซึ่งทำให้สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างอิสระ

3.หมั่นทำกิจกรรมที่ฝึกฝนและกระตุ้นให้สมองได้คิดอยู่เสมอ หมั่นฝึกฝนให้สมองได้คิดอยู่เสมอ มองหากิจกรรมที่ช่วยกระตุ้นสมอง เช่น เกมปริศนาปัญหาเชาว์ การอ่านหนังสือ การสร้างงานศิลปะ หรือแม้กระทั่งการทำสมาธิ เพื่อลับสมองให้มีความเฉียบคม ซึ่งอาจช่วยลดความเสี่ยงเรื่องปัญหาความจำและกระบวนการคิดที่จะเกิดขึ้นเมื่อสูงวัยได้

การลงมือปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์เพื่อสุขภาพที่ดีนั้นจะสร้างผลลัพธ์ที่ดีแก่ชีวิตเราแน่นอน และเราโชคดีมากที่สังคมไทยเป็นสังคมที่มีน้ำใจโอบอ้อมอารี และการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน สำหรับการเป็นผู้สูงวัยอย่างมีสุขภาพดีนั้น การได้รับกำลังใจและการดูแลเอาใจใส่จากคนในครอบครัวและเพื่อนๆ รอบตัวเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะกำลังใจและความห่วงใยที่ได้รับจะช่วยให้ผู้สูงอายุเหล่านี้สามารถใช้ชีวิตเพื่อการมีสุขภาพที่ดีขึ้นอย่างมีความสุขมากขึ้นได้ ตลอดจนมีไลฟ์สไตล์ที่สดใส แข็งแรง และใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนในครอบครัวได้อย่างยืนยาว.

7 November 2561

ที่มา ไทยโพสต์

Posted By Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 982

 

Preset Colors