02 149 5555 ถึง 60

 

อึ้ง!วัยรุ่นไม่รู้ตัวป่วยไบโพลาร์ทำเสียโอกาสรักษา 11 ปี

อึ้ง!วัยรุ่นไม่รู้ตัวป่วยไบโพลาร์ทำเสียโอกาสรักษา 11 ปี

หมอ เผย พบวัยรุ่น ป่วยไบโพลาร์มากขึ้น เหตุไม่เข้าใจ คิดว่าแค่อารมณ์แปรปรวนตามประสา ทำเสียโอกาสรักษา 11 ปี

เมื่อวันที่ 6 พ.ย. ที่ศูนย์วิจัย ซอยเพชรบุรี ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย กล่าวในการเปิดตัวโครงการ “อุ่นรัก อุ่นใจ ไบโพลาร์” ว่า ปัจจุบันคนไทยมีปัญหาสุขภาพจิต ประมาณร้อยละ 10-15 แต่มีเพียงร้อยละ 1 เท่านั้นที่มาพบแพทย์ ทั้งนี้ ในช่วงชีวิตของเราจะเจอคนป่วยเป็นโรคใบโพลาประมาณ 1-3 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 700,000 คน แต่ปัจจุบันเข้ามารับการบำบัดรักษาเพียง 70,000 คน และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ โรคไบโพลาร์จะเริ่มแสดงอาการเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น แต่คนไม่รู้ และคิดว่าเป็นเพียงอารมณ์แปรปรวนตามประสาวัยรุ่น ทำให้เสียโอกาสในการรักษาช้าไปเฉลี่ย 11 ปี ทั้งนี้ผู้ป่วยไบโพลาร์บางรายอาการรุนแรง ซึมเศร้าถึงขั้นฆ่าตัวตาย ซึ่งจากสถิติพบว่าคนไข้ 1 ใน 5 ฆ่าตัวตายสำเร็จ อย่างไรก็ตามโรคนี้ สามารถรักษาได้ด้วยยาและการดูแลสภาพจิตใจ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือกับครอบครัว แต่ก็สามารถเป็นซ้ำได้จากปัจจัยกระตุ้น อาทิ เรื่องสะเทือนใจ เหตุการณ์พลิกผันในชีวิต หรือ ภาวะความเครียดรุมเร้า หรือการใช้สารเสพติด ดังนั้นการจัดงานครั้งนี้เพื่อดึงพลังเชิงบวกให้เกิดกับผู้ป่วย และ ครอบครัว

ด้าน รศ.นพ. ชวนันท์ ชาญศิลป์ นายกสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า พันธุกรรมไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ทำให้เกิดโรคไบโพลาร์ แต่ยังมีปัจจัยกระตุ้นอื่นๆ อีก เช่น สิ่งแวดล้อม และการเลี้ยงดู ที่ส่งผลให้เด็กเกิดความเครียด และอารมณ์แปรปรวนผิดปกติ แตกต่างอย่างเห็นได้ชัด คือ มีอารมณ์เศร้า หรือรื่นเริง สนุกสนานผิดปกติ ช่วงแรกจะมีอารมณ์ซึมเศร้า ติดกันนาน 2 สัปดาห์ หรือ 1 เดือน มีอาการทั้งเศร้า หดหู้ ร้องไห้ง่าย เบื่ออาหาร รู้สึกชีวิตไม่มีคุณค่า มองตัวเองในแง่ลบ คิดฆ่าตัวตาย ส่วนอารมณ์รื่นเริง ก็จะเป็นติดต่อกัน 2 สัปดาห์ ถึง 1 เดือน รวมถึงอาการมีความสุขมาก คึกคัก มั่นใจ ขาดความยับยั้งชั่งใจ หากมีการห้ามปรามก็จะรู้สึกหงุดหงิด ฉุนเฉียว

รศ.นพ. ชวนันท์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันพบอายุของผู้ป่วยไบโพลาร์เฉลี่ยน้อยลงเรื่อยๆ จากเดิมพบเฉพาะในผู้ใหญ่ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าไบโพลาร์จะมีสาเหตุมาจากพันธุกรรมแต่ก็ไม่สามารถตรวจเจอได้ขณะตั้งครรภ์ และเป็นเรื่องยากมากที่จะวินิจฉัยได้ในเด็กที่อายุต่ำกว่า 10 ขวบ เพราะอารมณ์ของเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี เปลี่ยนแปลงได้ง่าย อย่างไรก็ตาม วิธีการสังเกตตัวเองคือแน่นอนว่าคนเราย่อมมีช่วงที่อารมณ์ดี อารมณ์ไม่ดี แต่ถ้ามีอารมณ์เหล่านั้นแบบรุนแรงมาก เช่น ทำร้ายตัวเอง หลุดโลก หูแว่วประสาทหลอน ต้องไปพบแพทย์ หรือมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของตัวเองจนทำงานไม่ได้ หรือมีผลกระทบกับคนรอบข้างมากๆ ต้องไปพบแพทย์เพื่อรักษาด้วยยาและการปรับสภาพจิตใจที่ต้องอาศัยความร่วมมือของคนในครอบครัวและคนใกล้ชิด เมื่อรักษาเร็วก็สามารถหายได้.

6 November 2561

ที่มา เดลินิวส์

Posted By ์์Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 1354

 

Preset Colors