02 149 5555 ถึง 60

 

WHO ประกาศทุกประเทศต้องคุม "บุหรี่ไฟฟ้า" ด้านผู้ตรวจการแผ่นดินรับเรื่อง เยาวชนฟ้องห้ามนำเข้า

WHO ประกาศทุกประเทศต้องคุม "บุหรี่ไฟฟ้า" ด้านผู้ตรวจการแผ่นดินรับเรื่อง เยาวชนฟ้องห้ามนำเข้า

ศจย. ยัน WHO ออกประกาศให้ทุกประเทศควบคุม "บุหรี่ไฟฟ้า" ชี้พบสารเคมีอันตรายที่ไม่มีในบุหรี่มวน สหรัฐฯ เริ่มแบนจริงจัง หลังเยาวชนตกเป็นเหยื่อเพิ่ม ชี้รัฐแบนหรือไม่ ต้องพิจารณา 3 ประเด็นสำคัญ ด้านผู้ตรวจการแผ่นดินรับข้อร้องเรียนพาณิชย์สั่งห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าโดยมิชอบ

พญ.เริงฤดี ปธานวนิช รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวถึงกรณีการห้านำเข้าและจำน่ายบุหรี่ไฟฟ้าว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้มีการประชุมและทบทวนมาตรการต่างๆ ในประเด็นทางสุขภาพตลอด โดยล่าสุดเมื่อการประชุมในเดือนตุลาคมผ่านมา ยังมีคำแนะนำ สำหรับมาตรการในการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า โดยสนับสนุนให้ทุกประเทศควบคุมการใช้บุหรี่ไฟฟ้า และควบคุมการโฆษณา การทำการตลาดเพื่อลดการเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้า สำหรับประเด็นเรื่องบุหรี่ไฟฟ้านั้น มักจะมีข้อถกเถียงถึงประเด็นเรื่องความปลอดภัยเมื่อเทียบกับบุหรี่มวนเสมอ ซึ่งพบว่างานวิจัยจำเป็นต้องใช้เวลานาน เช่นเดียวกับบุหรี่มวนที่กว่าจะทราบถึงอันตรายใช้เวลานานหลายสิบปี

“คำถามเรื่องบุหรี่ไฟฟ้ามี 3 ประเด็นหลักๆ คือ 1.อันตรายกว่าบุหรี่มวนจริงหรือไม่ 2.ทำให้เลิกบุหรี่มวนได้จริงหรือไม่ และ 3.นำไปสู่การสูบบุหรี่มวนมากขึ้นหรือไม่ ซึ่งการพิจารณามาตรการใดๆ หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่ไฟฟ้า ต้องคำนึงถึงคำตอบของทั้ง 3 ประเด็นนี้ โดยใช้ข้อมูลทางวิชาการ งานวิจัยที่ชัดเจน โดยพบว่า มีงานวิจัยเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าจำนวนมาก แต่การที่หน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะองค์การอนามัยโลก หรือหน่วยงานภาครัฐ จะนำมาใช้อ้างอิงหรือ ออกเป็นแนวทางปฏิบัติได้ต้องยึดงานวิจัยที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ถูกต้องตามระเบียบการวิจัย” พญ.เริงฤดี กล่าว

พญ.เริงฤดี กล่าวต่อว่า สำหรับประเด็นแรก บุหรี่ไฟฟ้า อันตรายมากหรือน้อยกว่าบุหรี่มวนนั้น ยังไม่มีข้อมูลที่ยืนยันได้อย่างชัดเจน แม้บุหรี่ไฟฟ้าจะไม่มีสารจากการเผาไหม้ใบยาสูบ แต่ก็มีสารเคมีอื่นที่ไม่มีในบุหรี่มวน โดยบุหรี่ไฟฟ้ามีเคมีอันตราย 6 กลุ่ม อาทิ สารก่อมะเร็ง โลหะหนัก สารแต่งกลิ่น อนุภาคที่ทำให้เกิดพิษที่ปอด และมีนิโคตินสูงกว่าบุหรี่แบบมวน เมื่อเทียบกับมวนต่อมวน ดังนั้นจึงไม่สามารถสรุปได้ว่า บุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยหรืออันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวน ซึ่งขณะนี้ยังคงมีการติดตามสุขภาพของผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อสรุปถึงอันตรายที่จะได้รับด้วย

พญ.เริงฤดี กล่าวว่า ประเด็นที่ 2 บุหรี่ไฟฟ้าทำให้เลิกบุหรี่มวนได้หรือไม่ พบว่า นักวิจัยในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ทบทวนงานวิจัยจำนวน 37 งานวิจัยที่เป็นไปตามระเบียบงานวิจัย เพื่อหาความสัมพันธ์กับอัตราการเลิกบุหรี่มวน โดย 80% ของงานวิจัยชี้ว่า บุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ช่วยเลิกบุหรี่มวน และยังทำให้เลิกบุหรี่มวนได้น้อยลง และประเด็นที่ 3 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สหรัฐอเมริกา หรือ FDA สหรัฐฯ ได้วางกฎระเบียบเพื่อห้ามทำการตลาดบุหรี่ไฟฟ้า โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น โดยพบว่า เด็ก ม.ปลาย มีอัตราการสูบบุหรี่เพิ่มขึ้น ซึ่งเกิดจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้า เมื่อเก็บข้อมูลต่อเนื่อง 3 ปี พบว่าเด็กที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า มีการสูบบุหรี่มวนมากขึ้น 3-7 เท่า วิเคราะห์ว่า เนื่องจากเด็กเคยชินกับกลิ่น ควัน วิธีการสูบ ทำให้หันไปสูบบุหรี่มวนได้มากขึ้น

“สำหรับในประเทศไทย มีการเก็บสถิติของกลุ่มเยาวชน โดยเด็ก ม.ปลาย ในเขตเมือง มีอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้า 30% และเมื่อเข้ามหาวิทยาลัย ก็ยังยิ่งเพิ่มอัตราการสูบมากขึ้น และจากสถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2560 พบว่า อายุเฉลี่ยในการเริ่มสูบบุหรี่ต่ำกว่า 20 ปีนั้น อยู่ที่ 80% และ มากกว่า 60% กลายเป็นผู้สูบประจำหลังจากเริ่มสูบครั้งแรกในเวลา 1 ปี ดังนั้น ประเทศไทย จึงจำเป็นต้องสร้างมาตรการป้องกันเยาวชนอย่างจริงจังมากขึ้น โดยเน้นไปที่การควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าด้วยเช่นเดียวกัน เพราะไม่สามารถปล่อยให้เยาวชนไทยเสี่ยงกับการติดบุหรี่ได้” พญ.เริงฤดี กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ความคืบหน้ากรณีตัวแทนเครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า ร้องเรียนกระทรวงพาณิชย์ เรื่องห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าโดยมิชอบนั้น ต่อสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ล่าสุด สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้มีหนังสือตอบกลับ ตัวแทนเครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า โดยได้รับเรื่องร้องเรียนไว้พิจารณาแล้ว ลงเลขดำที่ 139/2561 ขณะนี้อยู่ระหว่างแสวงหาข้อเท็จจริงตามคำร้องเรียน ลงวันที่ 8 ต.ค.ที่ผ่านมา

26 October 2561

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 906

 

Preset Colors