02 149 5555 ถึง 60

 

ดนตรีบำบัด ฟื้นฟูจิตใจ อีกแนวทางคืนเยาวชนดี สู่สังคม

‘ดนตรีบำบัด’ฟื้นฟูจิตใจ อีกแนวทาง‘คืนเยาวชนดี’สู่สังคม

วันจันทร์ ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2561, 06.00 น.

“เพราะเราเชื่อเสมอว่า ดนตรีมีส่วนช่วยพัฒนาทักษะทางด้านสมองและอารมณ์ ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียด เป็นเครื่องบำบัดและฟื้นฟูจิตใจและยังเป็นการสร้างเยาวชนที่มีความรู้ ความเข้าใจ มีความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม โดยใช้ดนตรีเป็นสื่อกลาง”..ความตอนหนึ่งในโครงการ “ประสานเสียง สร้างพลังสุข ปลุกพลังใจ สู่ฟ้าใสโมเดล” จัดโดยแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข และภาคีเครือข่าย ณ โรงเรียนฟ้าใสวิทยา

มานพ แย้มอุทัย ผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. กล่าวว่า ปัญหาเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนในสังคมไทยที่เกิดขึ้น โดยมากต้นเหตุมักจะมาจาก “โลภะ” คือความโลภ ความอยากได้ และต้องได้มาแม้ต้องทำในสิ่งที่ผิดก็ตาม ตัวอย่างเช่น การค้ายาเสพติด การลักขโมย การชิงทรัพย์ ฯลฯ ซึ่งคำสอนของพระพุทธเจ้าก็บอกว่าอย่าโลภ “โทสะ” คือความโกรธ ความบันดาลโทสะ จนทำร้ายฝ่ายตรงข้ามจนถึงแก่ความตาย ถึงแม้จะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจไปฆ่าเขาก็ตาม หรือการทะเลาะเบาะแว้ง การแบ่งพรรคแบ่งพวก โดยมุ่งหมายทำร้ายฝ่ายตรงข้าม

และ “โมหะ” คือความลุ่มหลง หลงในอบายมุข หากเราสามารถจัดการตนเองได้ตั้งแต่ต้นก็ไม่มีเรื่องเหล่านี้ คือไม่มีปัญหายาเสพติด ไม่มีการเข่นฆ่า ไม่มีการจองเวรจ้องจะทำร้ายกัน “เยาวชนคือผ้า และเกราะป้องกันที่ดีที่สุดคือครอบครัว พ่อแม่ คุณครู เพื่อน” ดังนั้นเมื่อเยาวชนต้องถูกลงโทษกักขังก็เชื่อว่าจะมีความเครียด กดดัน อยากออกไปสู่โลกภายนอก เปรียบเหมือนนกที่มีปีกแต่บินออกจากกรงไม่ได้จนกว่าจะถึงเวลาที่เหมาะสม ฉะนั้น การดูแลและการเยียวยาจิตใจ จึงเป็นหนึ่งในภารกิจของ สสส. ในการหาตัวช่วยให้เยาวชนในบ้านต่างๆ

มานพ กล่าวต่อไปว่า “ดนตรีเป็นเครื่องมือในการตอบโจทย์ของการบำบัดจิตใจมากที่สุด” เพราะเสียงดนตรีทำให้คนเล่นและคนฟังผ่อนคลายความกังวล ลดความขัดแย้ง ทำให้จิตใจอ่อนโยน สร้างสัมพันธ์ที่ดีและก่อให้เกิดความสามัคคีในกลุ่มเพื่อน ดังนั้น สสส. ที่ยึดมั่นในการพัฒนาเยาวชนและเชื่อว่าทุกคนบนแผ่นดินไทยมีขีดความสามารถ สังคม สิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาวะ

จึงร่วมมือกับ “มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข” นำดนตรีเข้าไปช่วยกล่อมเกลาจิตใจให้กับเยาวชนในศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนชายบ้านอุเบกขา บ้านกาญจนาภิเษก บ้านมุทิตา บ้านสิรินธร โรงพยาบาลตุลาการเฉลิมพระเกียรติ สถานแรกรับเด็กและเยาวชนจากสถานพินิจฯ จังหวัดนนทบุรี และโรงเรียนฟ้าใสวิทยา เปิดเวทีแข่งขันการประกวดดนตรีโฟล์คซอง ครั้งที่ 1

“เปิดลานละเล่น แลกเปลี่ยน เรียนรู้” ซึ่งทุกวงทำได้ดีอย่างไม่น่าเชื่อว่า

“นี่คือเยาวชนที่ไม่เคยจับเครื่องดนตรีมาก่อน เขาเล่นดนตรีอย่างมีความสุข มีแววตาที่สดใสมากขึ้น เขามีความสุขที่ได้แสดงออกอย่างสร้างสรรค์ ได้ส่งต่อบทเพลงผ่านน้ำเสียงและเสียงดนตรี อย่างน้อยทำให้เขาได้ผ่อนคลายความทุกข์ภายในจิตใจ ดนตรีจะเป็นเครื่องมือหนึ่งในการเข้ามาบำบัดจิตใจเช่นกัน ดนตรีจะช่วยให้เขาสามารถปรับตัวได้เมื่อต้องกลับคืนเข้าสู่สังคม” ผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. กล่าว

เสียงสะท้อนจากเยาวชนผู้เข้าร่วมโครงการ เล็ก (นามสมมุติ) เยาวชนชายจากศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนชายบ้านอุเบกขา เปิดเผยว่าตอนนี้อายุ 23 ปี ถูกตัดสินลงโทษเพราะต้องคดีถึง 3 คดีคือ 1.พยายามฆ่า 2.พยายามฆ่าและปล้นทรัพย์ และ 3.ปล้นและฆ่า อยู่ที่สถานพินิจมาแล้ว 6 ปี และต้องอยู่ต่อจนอายุครบ 25 ปีก่อนจะถูกย้ายไปที่เรือนจำ ซึ่งก็เสียใจและยอมรับในสิ่งที่ทำ แต่ก็ได้กำลังใจจากพ่อแม่ที่หมั่นมาเยี่ยมเสมอ จึงพยายามกลับตัวกลับใจ ปรับปรุงพฤติกรรมให้ดีขึ้น

เยาวชนชายรายนี้เล่าต่อไปว่า ขณะที่ใช้ชีวิตในสถานพินิจก็ได้เรียนต่อผ่านระบบการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และขณะนี้กำลังเรียนต่อในคณะนิติศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยเปิดแห่งหนึ่ง ซึ่งตอนมาอยู่ใหม่ ยอมรับว่าเคยหนีออกไปครั้งหนึ่ง แต่ด้วยคำพูดของพ่อแม่ที่บอกว่าถ้าหนีแล้วพ่อแม่จะไปตามหาที่ไหน ทำให้ยอมกลับมา และไม่ว่าจะถูกย้ายไปที่ใดพ่อแม่ก็จะตามมาเยี่ยมเสมอ

“เมื่อผมดูแลพ่อแม่ไม่ได้ ผมก็ไม่อยากให้เขาเดือดเนื้อร้อนใจ พอได้เข้ามาร่วมโครงการ ได้เล่นดนตรีมันช่วยลดความเครียด ความกังวล ลดความเบื่อหน่ายในแต่ละวันทุกวันนี้ผมยังเล่นกีตาร์ทุกครั้งที่มีความขุ่นข้องในใจ การเล่นดนตรีช่วยได้เยอะ พลังของเสียงดนตรีทำให้เราเพลินไปกับเสียงจากเส้นสายกีตาร์ รู้สึกผ่อนคลาย มันบำบัดผมได้จริงๆ เพราะผมอยู่ตรงนี้มาหลายปีและคงต้องอยู่ต่อไปอีกนานมาก ผมเครียด กดดัน รู้สึกผิดต่อพ่อแม่ที่ผมทำให้เขาเสียใจ” เขากล่าว

ขณะที่ รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข ประธานมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข กล่าวว่า เสียงดนตรีเป็นพลังงานที่สำคัญมาก พลังงานของเสียงดนตรีจะเข้าไปอยู่ในจิตใจผู้เล่นและผู้ฟังผ่านรูขุมขน“สังเกตได้จากถ้าเพลงที่เราชอบ ขนก็จะลุก เมื่อขนลุกแล้วจะเกิดช่องว่างในจิตใจ ทำให้ความสุขเข้าไปแทนที่” นั่นคือพลังของเสียงดนตรี ดังที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร “ในหลวงรัชกาลที่ 9” รับสั่งเสมอว่า เมื่อท่านทรงดนตรี เสียงดนตรีจะช่วยขจัดความเจ็บปวดในจิตใจ

ดนตรีช่วยขจัดความเจ็บปวดได้อย่างไร? ..อาจารย์สุกรี อธิบายว่า เมื่อคนเราร้องเพลงหรือเล่นดนตรี ก็จะเป็นเสมือนการคลายความทุกข์ออกจากจิตใจที่มีอยู่ ตัวเราจะเบา จิตใจเราก็จะเบาและลืมความทุกข์ไปชั่วขณะหนึ่ง ทำให้จิตใจสงบ อีกอย่างคือดนตรีและเสียงร้องมีเสรีภาพ เราสามารถร้องเพลงที่ไหนก็ได้ ในห้องน้ำ สถานที่ท่องเที่ยว และการเล่นดนตรีก็เช่นกัน

“ดนตรีคือสัญลักษณ์ของเสรีภาพ” ดนตรีไม่มีขอบเขต ไม่มีพรมแดน ไร้เงื่อนไขไร้ข้อจำกัด เมื่อจิตใจคนเราสามารถผ่านเสียงดนตรีหรือไปกับเสียงร้อง ทำให้มีเสรีภาพทางความรู้สึกนึกคิดให้เป็นปัจจุบัน นึกถึงอดีตและคิดถึงอนาคตได้ ซึ่งตรงกับวัตถุประสงค์ของการจัดงานเปิดลานละเล่นแลกเปลี่ยน เรียนรู้ กรณีโครงการประสานเสียง สร้างพลังสุข ปลุกพลังใจ สู่ฟ้าใสโมเดล

“เราอยากให้เด็กและเยาวชนโรงเรียนฟ้าใสวิทยา ได้เรียนขับร้องเพลง พัฒนาทักษะการออกเสียง การใช้ลมหายใจ สามารถร้องได้ทั้งแบบเดี่ยวและแบบกลุ่ม หรือการประสานเสียงพร้อมทั้งเป็นการพัฒนาสมองและอารมณ์ ช่วยให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลาย ลดความตึงเครียด ซึ่งดนตรีเป็นเครื่องบำบัดจิตใจและฟื้นฟูจิตใจ และสามารถนำไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันเมื่อถึงเวลากลับบ้านหรือกลับสู่สังคม” อาจารย์สุกรี กล่าวในท้ายที่สุด

16 October 2561

ที่มา แนวหน้า

Posted By ์์Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 883

 

Preset Colors