02 149 5555 ถึง 60

 

เยาวชนร้องแก้ กม.เด็กต่ำกว่า 18 ปี มีสิทธิเข้ารักษา “สุขภาพจิต” เอง ไม่ต้องขอพ่อแม่

เยาวชนร้องแก้ กม.เด็กต่ำกว่า 18 ปี มีสิทธิเข้ารักษา “สุขภาพจิต” เอง ไม่ต้องขอพ่อแม่

เครือข่ายเด็กและเยาวชน ยื่นเรียกร้องกรมสุขภาพจิต แก้กม. ปลดล็อกเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ผู้ปกครองต้องเซ็นยินยอมถึงบำบัดด้านสุขภาพจิตได้ ชี้ เด็กควรมีสิทธิตัดสินใจเอง ด้านกรมสุขภาพจิตแจงเป็นกฎหมายสากล จิตแพทย์ให้คำปรึกษาแนะนำได้ แต่ให้ยารักษาไม่ได้ เผย เด็กยังต้องพึ่งพาผู้ปกครอง แม้เข้ารักษากลับบ้านก็ต้องมีพ่อแม่ดูแล

วันนี้ (10 ต.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น. อาคารกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แกนนำเยาวชนเลิฟแคร์ และตัวแทนสภาเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร (กทม.) เดินทางมายื่นจดหมายถึง นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต เพื่อเรียกร้องสิทธิในการตัดสินใจเข้ารับบริการด้านสุขภาพจิตในวัยรุ่นที่อายุไม่ถึง 18 ปี โดยมี นพ.สมัย ศิริทองถาวร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต เป็นผู้รับมมอบหนังสือ

นานสหัสวรรษ สิงห์ลี โฆษกสภาเด็กและยาวชน กทม. กล่าวว่า ปัจจุบันเด็กและเยาวชนเผชิญปัญหาจำนวนมาก ทั้งปัญหาความรุนแรง การท้องไม่พร้อม ยาเสพติด รวมไปถึงปัญหาสุขภาพจิต แต่การเข้าถึงบริการบำบัดรักษาด้านสุขภาพจิตกลับติดขัดด้วยกฎหมาย คือ พ.ร.บ. สุขภาพจิต พ.ศ. 2551 มาตรา 21 วรรค 3 ที่กำหนดว่า กรณีผู้ป่วยมีอายุไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์ ต้องให้ผู้ปกครอง ผู้พิทักษ์ ผู้อนุบาล เป็นผู้ให้ความยินยอม แต่จากการทำงานด้านเด็กและเยาวชน พบว่า ไม่ใช่เด็กทุกคนที่กล้าบอกหรือพาพ่อแม่ไปด้วย หรือบอกไปแล้วเกิดการตีตรา หาว่าเป็นบ้า เพราะไม่ให้ความสำคัญหรือไม่เข้าใจในเรื่องนี้ ทำให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เข้าไม่ถึงบริการ จึงน่าจะมีบริการเปิดรับรองให้เด็กและเยาวชนก่อน ส่วนการตัดสินใจจะไปรับบริการด้วยตนเอง หรืออยากไปกับพ่อแม่ น่าจะให้เด็กและเยาวชน เป็นคนตัดสินใจมากกว่า เหมือนอย่างกรณีการตรวจเชื้อเอชไอวีที่เราสามารถขับเคลื่อนปลดล็อกให้เยาวชนอายุ 18 ปีมีสิทธิเข้าถึงการตรวจรักษาด้วยตนเองได้ เรื่องสุขภาพจิตก็เช่นกัน ควรเป็นสิทธิของวัยรุ่นเองที่จะเข้าถึงการรักษา

นายสหัสวรรษ กล่าวว่า ข้อเรียกร้องในวันนี้ มี 3 ข้อ คือ 1. ขอให้พิจารณาปรับปรุงแก้ไขความในมาตรา 21 พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ. 2551 ให้ผู้ป่วยมีอายุไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์ มีสิทธิในการตัดสินใจที่จะเข้ารับการบำบัดรักษาด้านสุขภาพจิตได้ด้วยตนเอง ไม่จำเป็นต้องมีผู้ปกครองเป็นผู้ให้ความยินยอม เพื่อบรรลุเป้าสูงสุดของกฎหมายที่มุ่งหวังแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตของคนไทย 2. เนื่องในโอกาสวันสุขภาพจิตโลก วันที่ 10 ต.ค. ขอให้กรมสุขภาพจิตเผยแพร่ประชาสัมพันธ์วันสุขภาพจิตโลกเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้วัยรุ่นตระหนักรู้และเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องปัญหาสุขภาพจิตอย่างถูกต้อง ทราบถึงข้อมูลการเข้าถึงบริการให้คำปรึกษาและการรักษา และ 3. ขอให้เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมในการทำงานด้านสุขภาพจิตทุกมิติ ให้เด็กและเยาวชนได้เป็นส่วนหนึ่งในการป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพจิตในวัยรุ่น

นพ.สมัย กล่าวว่า กรมฯ จะรับเรื่องนี้ไว้ เพราะเราเห็นความสำคัญของปัญหาเด็กและเยาวชน แต่เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องของกฎหมาย ซึ่งการกำหนดให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ต้องมีผู้ปกครองให้ความยินยอมเป็นเรื่องสากล ไม่ใช่แต่ประเทศไทย ที่กำหนดเช่นนี้เพื่อปกป้องเด็ก เพราะวัยรุ่นบางส่วนไม่รู้ตัวว่าป่วย ต้องให้ผู้ปกครองพามา หรืออย่างเข้ารับการรักษาแล้วเมื่อกลับถึงบ้านก็ต้องให้ผู้ปกครองช่วยดูแลด้วย เพราะต้องยอมรับว่าเด็กและเยาวชนก็ยังต้องพึ่งพาพ่อแม่อยู่ ซึ่งเรื่องดังกล่าวต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราพยายามดำเนินการก็คือ ทำให้พ่อแม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพจิตของลูก

ด้าน พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ รอง ผอ.สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กทม. กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องที่ผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพจิตพบเจอบ่อยครั้ง เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี บางคน ประเมินสุขภาพจิตตัวเองพบว่าเข้าข่ายเป็นโรคทางจิตเวช เช่น โรคซึมเศร้า ก็มาพบจิตแพทย์ อย่างไรก็ตาม แม้กฎหมายจะกำหนดว่าการบำบัดรักษาจะต้องมีผู้ปกครองให้ความยินยอม แต่ในเรื่องของการให้คำปรึกษาให้คำแนะนำโดยที่ไม่ได้มีการรักษาหรือจ่ายยาก็สามารถทำได้ ซึ่งเราก็จะให้คำแนะนำในการดูแลตัวเองเบื้องต้น และให้เอกสารและคำแนะนำในการไปพูดคุยกับพ่อแม่ว่า จะพูดคุยอย่างไรในการให้พาเข้ามารับการรักษา แต่หากเป็นกรณีที่ฉุกเฉิน เช่น ทำร้ายร่างกายตนเอง ทำร้ายร่างกายคนอื่น ตรงนี้สามารถทำการรักษาได้ และจะมีการติดตามต่อเนื่อง

พญ.วิมลรัตน์ กล่าวว่า สำหรับข้อกังวลในส่วนของเด็กที่ไม่ได้อยู่กับผู้ปกครองหรือไม่มีผู้ปกครองนั้น ตรงนี้เราทำงานร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลเด็กที่อยู่ในภาวะเสี่ยงทุกรูปแบบและไม่มีญาติหรือใครดูแล ส่วนจะมีปัญหาสุขภาพจิตหรือไม่ จะมีการประเมิน ซึ่งหากประเมินพบว่ามีความเสี่ยงก็สามารถรับรองในการเข้าถึงการรักษาได้ แต่หากยังมีผู้ปกครอง ก็จะมีนักสังคมสงเคราะห์ไปติดต่อเพื่อขอลายเซ็นในการอนุญาตในการัรกษา ซึ่งเรื่องเหล่านี้ก็มีการทำงานเป็นเครือข่ายอยู่

11 October 2561

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 9841

 

Preset Colors