02 149 5555 ถึง 60

 

มือถือเป็นของมีคมสำหรับเด็กปฐมวัย!

มือถือเป็นของมีคมสำหรับเด็กปฐมวัย!

จนถึงขณะนี้เชื่อแน่ว่าผู้คนส่วนใหญ่รู้ดีว่าโทรศัพท์มือถือหรือสมาร์ทโฟนนั้นมีทั้งประโยชน์และโทษ แต่ถึงแม้จะรู้ดีว่าบางพฤติกรรมเป็นโทษ ไม่ส่งผลดีต่อตัวเองและผู้อื่น ก็ยังอดใจที่จะไม่ใช้ไม่ได้

สำหรับคนเป็นผู้ใหญ่ก็เป็นเรื่องที่ต้องรับผิดชอบถึงผลที่ตามมา ไม่ว่าจะเป็นติดมือถือตลอดเวลา ติดเกม หรือติดแชท ฯลฯ ก็ตาม

แต่ถ้าเป็นเด็กแล้วล่ะก็ เป็นเรื่องที่ปล่อยตามมีตามมีตามเกิดไม่ได้ เพราะเด็กยังอยู่ในความดูแลของผู้ใหญ่ โดยเฉพาะเด็กเล็ก อยากชวนพ่อแม่ที่มีลูกเล็กได้ลองคำนึงถึงการเลี้ยงลูกในยุคดิจิทัลอย่างไรให้ห่างไกลเทคโนโลยี

ประการแรก – ต้องปรับ Mind Set ว่ามือถือเป็นของมีคมสำหรับเด็กเล็ก นึกถึงเวลาที่เราใช้มีด เรายังไม่ยอมให้ลูกเล็กจับมีดหรือของมีคมเลย หรือการไม่ให้ยุ่งกับไม้ขีด ปลั๊กไฟ ฯลฯ ก็เพราะเรารู้ว่ายังไม่ปลอดภัย ยังไม่เหมาะกับเด็ก ฉะนั้นถ้าเราปรับวิธีคิดว่ามือถือก็เป็นอุปกรณ์ที่ยังไม่ปลอดภัย ยังไม่ควรให้ลูกใช้จนกว่าจะถึงวัยที่เหมาะสมหรือเขาพร้อม จะไม่ดีกว่าหรือ

ประการที่สอง – แบบอย่างที่ดี เป็นสิ่งจำเป็นมาก เพราะพ่อแม่ยุคนี้ติดมือถืออย่างมาก การพูดว่าลูกอย่าเล่นหรือห้ามเล่น มันไม่ดี แล้วลูกจะเชื่อในสิ่งที่เห็นหรือสิ่งที่ฟังมากกว่ากัน กลายเป็นเรื่องขึ้นธรรมาสน์โดยยังไม่ล้างเท้าไป ฉะนั้นการเป็นแบบอย่างที่ดี รวมถึงการสร้างกฏกติกา จะช่วยสร้างรากฐานระเบียบวินัยให้กับเด็กได้ด้วย ต้องคิดเสมอว่าพฤติกรรมของเราในวันนี้ส่งผลต่อลูกในวันหน้า ถ้าไม่อยากให้ลูกเป็นเด็กก้มหน้า พ่อแม่ก็ต้องไม่มัวแต่ก้มหน้าด้วย

ประการที่สาม – เอาตัวเข้าแลก หมายถึงพ่อแม่ที่รักความสบายและมักง่ายทั้งหลาย โดยใช้มือถือในการแก้ปัญหาทุกสิ่งอย่าง ต้องคำนึงว่าอย่าเอามือถือมาเป็นพี่เลี้ยง เพื่อที่ตัวเองจะได้มีเวลาพัก เช่น ลูกงอแงก็ส่งมือถือให้ลูก พ่อแม่เหนื่อยก็ส่งมือถือให้ลูกล่ะก็ คุณกำลังทำร้ายลูก เพราะการเอาตัวเข้าแลก คือต้องไม่ใช้วิธีมักง่ายในการเลี้ยงลูก อยากให้ลูกวิ่งเล่นนอกบ้าน ก็ต้องออกไปวิ่งเล่นกับลูกด้วย อยากให้ลูกอ่านหนังสือ ก็อ่านหนังสือนิทานให้ลูกฟัง ไม่ใช่เพียงแต่พูดว่าลูกต้องทำอะไรเท่านั้น

สิ่งสำคัญคือ ก่อนที่เด็กจะรู้จักกับสื่อดิจิทัลทั้งหลาย พ่อแม่ควรส่งเสริมให้ลูกมีทักษะทางสังคมที่ดีเสียก่อน ให้พวกเขาได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกับผู้อื่น ได้มีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง รวมถึงสอนให้เด็กเข้าใจอารมณ์และความรู้สึกของตนเองและผู้อื่น รู้จักควบคุมอารมณ์ อดทนรอคอยได้ ถ้าหากพ่อแม่ละเลยทักษะที่สำคัญเหล่านี้และมาฝึกในภายหลังจะทำได้ยาก เพราะเด็กที่ติดสื่อดิจิทัลมีแนวโน้มจะแยกตัวและมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างน้อยลง เอาแต่ใจตนเองและอดทนรอคอยไม่เป็น ซึ่งเป็นผลเสียต่อการพัฒนาการด้านอารมณ์และสังคมของเด็ก

การสร้างรากฐานที่ดีให้กับลูกช่วงปฐมวัยสำคัญที่สุด การส่งเสริมให้ลูกทำกิจกรรมที่หลากหลาย และฝึกทักษะที่จำเป็น ต้องเริ่มจากพ่อแม่ ที่ต้องทำกิจกรรมร่วมกับลูก จะเป็นกิจกรรมในบ้าน หรือนอกบ้านที่มีความเคลื่อนไหวก็ได้ ไม่ต้องเร่งรีบให้เขารู้จักสื่อดิจิทัลหรือมือถือหรอก

เพราะเด็กยุคนี้เป็นเด็กยุคดิจิทัล เขาเติบโตมาในยุคของเขา อย่าคิดว่าต้องฝึกเขาตั้งแต่เล็กเลย เพราะเมื่อถึงวันที่เขาได้สัมผัสสื่อดิจิทัลเแล้ว เขาสามารถใช้ได้เร็วและคล่องกว่าที่คุณคิดไว้มาก แต่ควรฝึกทักษะที่จำเป็นสำหรับวัยของเขามากกว่า

ที่สำคัญ เด็กควรมีโอกาสได้เติบโตแบบมีพัฒนาการที่เหมาะสมตามวัย เพราะถ้าเด็กติดมือถือ สิ่งที่เด็กจะขาดคือ “โอกาส” อีกหลายประการ

หนึ่ง – ขาดโอกาสรู้จักตัวเอง

การเปิดโอกาสให้ลูกได้เรียนรู้จักตัวเอง เปิดโอกาสให้ค้นหาตัวเอง เพราะโอกาสคือสิ่งสำคัญที่จะทำให้เด็กได้เรียนรู้ และเป็นการเปิดโลกทัศน์ให้กับพวกเขา

พ่อแม่ควรทำหน้าที่คอยสังเกตและสนับสนุนในสิ่งที่ลูกถนัดและทำได้ดี จะทำให้ลูกเกิดความมั่นใจ และมีความพยายามที่จะทำสิ่งที่ตัวเองชอบและทำได้ดี อย่าพยายามคิดและตัดสินใจแทนลูก แต่เปลี่ยนมาสร้างบทบาทการฟังลูกให้มาก ฟังอย่างตั้งใจ แล้วเราจะว่าลูกคิดอย่างไร ลูกอยากทำอะไร โดยพ่อแม่ทำหน้าที่เป็นโค้ชหรือผู้แนะนำ เพื่อส่งเสริมให้ลูกได้รู้จักตัวเอง มีความถนัดอะไร ชอบอะไร ทำอะไรได้ดี และควรปรับปรุงจุดอ่อนของตัวเองอย่างไร

สอง – ขาดโอกาสเรียนรู้สิ่งรอบตัว

ช่วงวัยเด็กเล็ก เป็นวัยที่สำคัญมาก เป็นวัยช่างซักช่างถาม ต้องเปิดโอกาสให้ลูกเป็นเจ้าหนูทำไม โดยพ่อแม่พยายามตอบให้ได้มากที่สุด และคำตอบก็ควรจะเป็นลักษณะถามลูกกลับว่าแล้วลูกคิดอย่างไร รู้สึกอย่างไร เป็นคำถามปลายเปิด เพื่อช่วยกระตุ้นให้เด็ก ๆ ได้คิดต่อ ที่สำคัญ บางคำถามสามารถมีหลายคำตอบได้ ก็ชวนให้ลูกคิดตาม

เมื่อลูกโตขึ้นก็ขยับความสนใจให้ลูกเรียนรู้สิ่งรอบตัวมากขึ้น ซับซ้อนตามวัย ยิ่งถ้าเป็นการให้เขาเรียนรู้สิ่งที่เขาสนใจ สิ่งที่เขาชอบ ก็จะเป็นการสร้างแรงบันดาลใจที่ดีต่อไปในอนาคต

สาม –-ขาดโอกาสพัฒนาตัวเอง

เด็กควรได้รับการพัฒนาทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และสติปัญญา ยิ่งถ้าพ่อแม่เห็นความสำคัญและส่งเสริมให้ลูกได้มีโอกาสพัฒนาตามศักยภาพของตัวเองได้อย่างเต็มที่ ก็จะยิ่งส่งผลดีต่อตัวเด็ก

สี่ – ขาดโอกาสลองผิดลองถูก

การเปิดโอกาสให้ลูกลองผิดลองถูก คือ ขั้นของการพัฒนาตัวเองที่เขาต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่เปิดโอกาสอย่างเดียว การเปิดโอกาสต้องปล่อยให้ลูกได้ลงมือทำด้วย เพราะการได้ลงมือทำคือการได้เรียนรู้ ได้ลองค้นหาด้วยตัวเอง ทำให้ได้มีโอกาสคิด วิเคราะห์ และประเมินได้ บางทีพ่อแม่อาจจะทึ่งในสิ่งที่ลูกทำได้ก็ได้

ห้า – ขาดโอกาสสัมผัสธรรมชาติ

เด็กเป็นวัยที่ต้องวิ่งเล่น ต้องรู้จักกับธรรมชาติ เล่นกับดิน หิน ทราย น้ำ ฯลฯ เพื่อให้เขาได้เรียนรู้ว่ามนุษย์กับธรรมชาติต้องพึ่งพาอาศัยกัน สามารถต่อยอดไปเรื่องอื่นๆ ได้ด้วย โดยเฉพาะเด็กเมืองที่จะว่าไปแล้วขาดโอกาสเรียนรู้เรื่องธรรมชาติมากกว่าเด็กชนบท ฉะนั้น เป็นเรื่องที่พ่อแม่ ผู้ปกครองควรออกแบบกิจกรรมให้ลูกได้เข้าใจวิถีทางธรรมชาติด้วย

ที่พูดมารวม ๆ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อจะบอกว่าชีวิตมนุษย์ในยุคนี้ยากจะห่างจากมือถือหรือสมาร์ทโฟนที่นับว่าแทบจะกลายเป็นอวัยวะใหม่ของมนุษย์ จะมีก็แต่วัยเด็กเท่านั้นแหละที่จะมีโอกาสห่างมัน และมีโอกาสได้พัฒนาตนเองและค้นพบทักษะต่าง ๆ ที่เป็นความจำเป็นในการใช้ชีวิตในอนาคตตามธรรมชาติดั้งเดิมของมนุษย์ การพัฒนาและทักษะในช่วงต้นนี้แหละที่จะทำให้เขาควบคุมมือถือได้ในอนาคตเมื่อเขาเติบโตขึ้น การเร่งรัดให้เด็กจับมือถือเร็วเกินไปจะเป็นการทำลายโอกาสสำคัญที่สุดของเขา และทำให้เขาเป็นทาสของมือถือในอนาคต

มีด ไม้ขีดไฟ ไฟแช็ค ปลั๊ก ฯลฯ เป็นของมีประโยชน์ถ้าใช้ให้ถูกวิธี และเริ่มต้นในวัยที่พอเหมาะ มือถือหรือสมาร์ทโฟนก็เช่นกัน

26 September 2561

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 3487

 

Preset Colors