02 149 5555 ถึง 60

 

ครอบครัวเปราะบาง เด็ก-แม่-ผู้สูงวัย น่าห่วง

ครอบครัวเปราะบาง เด็ก-แม่-ผู้สูงวัย น่าห่วง

“ครอบครัว” หน่วยทางสังคมที่เล็กที่สุดแต่ก็สำคัญที่สุดสำหรับมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนตาย ด้วยความที่คนเราเฉลี่ยช่วง 15-20 ปีแรกของชีวิตเติบโตได้รับการเลี้ยงดูจากครอบครัว และหลังจากนั้นก็จะเริ่มสร้างครอบครัวใหม่ เป็นการส่งต่อความรู้ ความรู้สึก ความทรงจำ ฯลฯ ผ่านรุ่นสู่รุ่น เมื่อเป็นเช่นนี้หน่วยสังคมใหญ่ที่มีบทบาทกับมนุษย์ค่อนข้างมากอย่าง “รัฐ” จึงต้องเข้าไปช่วยพัฒนาส่งเสริมให้เกิดครอบครัวที่ดี เพื่อทำให้สมาชิกของรัฐหรือก็คือประชาชนแต่ละคนเติบโตขึ้นมาเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติ

ทว่าในบริบททางสังคมที่เปลี่ยนไป ครอบครัวก็พลอยได้รับผลกระทบไปด้วย ดังที่มีศัพท์ทางวิชาการว่า “ครอบครัวเปราะบาง” ซึ่งต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ดังเมื่อเร็วๆ นี้ชุดโครงการวิจัย “การดูแลครอบครัวเปราะบางในสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรและสังคมไทย” ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่างสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เสนอสรุปผลการวิจัยที่เกี่ยวกับการดูแลครอบครัวเปราะบาง ณ รร.พูลแมน สุขุมวิท 21 (อโศก) กรุงเทพฯ รวม 4 เรื่อง ดังนี้

1.โครงการวิจัย “การปรับวิถีการทำงานของครอบครัวเมื่อมีบุตร” โดยมีหัวหน้าทีมวิจัยคือ ผศ.ดร.มนสิการ กาญจนะจิตรา เนื้อหาว่าด้วยบทบาทของ “ผู้หญิง” ในฐานะ“ผู้เสียสละ” ยอมทิ้งความก้าวหน้าในหน้าที่การงานเพื่อ “ทำหน้าที่แม่” เพราะสังคมเชื่อว่าผู้หญิงเลี้ยงดูลูกได้ดีกว่าผู้ชายและคาดหวังว่าผู้หญิงจะต้องทำหน้าที่นั้น ขณะเดียวกันผู้หญิงหลายคนเมื่อเป็นแม่คนแล้วก็เห็นว่าต้องเลี้ยงลูกเองเพราะไม่ไว้ใจให้คนอื่นเลี้ยงแทน

“แต่แม้สังคมจะคาดหวังและผู้หญิงเองก็ตั้งใจเต็มที่ในการทำหน้าที่แม่ เลี้ยงดูลูกอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในทางตรงข้ามกลับเป็นสังคมเองที่มีทัศนคติในแง่ลบกับผู้หญิงที่อยู่บ้านเลี้ยงลูก”อาทิ มองว่าผู้หญิงที่เลี้ยงลูกเองต้องอยู่สบายเพราะสามีเป็นคนทำงานหาเลี้ยง หรือเป็นงานสบายเพราะอยู่บ้านไม่ต้องไปไหนอีกด้านหนึ่งแม้กระทั่งผู้หญิงที่ไม่ได้เลี้ยงลูกเอง เช่น ฝากให้พ่อแม่ของตนเองหรือของสามีเลี้ยงก็ยังพบปัญหาความเครียดเนื่องจากผู้หญิงนอกจากต้องทำงานนอกบ้านตามแบบสังคมสมัยใหม่แล้ว งานในบ้านก็ยังต้องทำด้วยความคาดหวังของสังคม

บทสรุปของงานวิจัยนี้เสนอแนะว่า 1.1 ลงทุนในศูนย์ดูแลเด็กเล็กให้มีความทั่วถึงโดยเฉพาะในเมืองที่เป็นครอบครัวเดี่ยวขาดคนช่วยเลี้ยงดู โดยมุ่งเน้นความสำคัญในด้านคุณภาพและความสามารถในการเข้าถึงบริการเหล่านี้โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มครอบครัวรายได้ต่ำ-ปานกลาง 1.2 ลดอุปสรรคในการทำงานของผู้ที่มีบุตร โดยเฉพาะในช่วงที่ลูกยังต้องการการดูแลใกล้ชิด เช่น การมีชั่วโมงการทำงานที่สั้นลงและมีเวลาแน่นอน มีวันหยุดเสาร์อาทิตย์ มีความยืดหยุ่นตามความจำเป็น และมีการเดินทางน้อยลง

1.3 สนับสนุนหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในการรับผู้ที่ออกจากงานเนื่องจากการมีบุตรเข้าสู่ตลาดแรงงาน อันรวมถึงการมีระยะวันลาที่เหมาะสมที่จะช่วยป้องกันไม่ให้ผู้มีบุตรต้องออกจากตลาดแรงงานตั้งแต่ต้น และการปรับแรงจูงใจสำหรับภาคเอกชนในการรับผู้ที่ออกไปเลี้ยงลูกผ่านมาตรการต่างๆ เช่น การลดหย่อนภาษี และ 1.4 ส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างชายหญิงโดยเฉพาะหน้าที่ในครัวเรือน โดยส่งเสริมบทบาทชายในการเลี้ยงดูลูกมากขึ้นผ่านมาตรการ เช่น การทำให้วันลาสำหรับผู้ชายเพื่อดูแลลูกหลังคลอดเป็นสิทธิพื้นฐานของทุกครอบครัว

2.โครงการวิจัย “การดูแลผู้สูงอายุในครัวเรือนซึ่งมีรูปแบบการอยู่อาศัยที่หลากหลายในสังคมไทย เพื่อประเมินความเข้มแข็งและความต้องการสนับสนุนของครัวเรือน” โดยมีหัวหน้าทีมวิจัยคือ ผศ.ดร.ศุทธิดา ชวนวัน เนื้อหาว่าด้วยสังคมไทยที่เข้าสู่ “สังคมสูงวัย” ในปี 2561 พบมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปถึงร้อยละ 18 ของประชากรไทยทั้งหมด ซึ่งสามารถแบ่งกลุ่มผู้สูงอายุเปราะบางได้ดังนี้

“ผู้สูงอายุอยู่คนเดียว” พบว่าปัจจัยความเปราะบางขึ้นอยู่กับสัมพันธภาพกับคนรอบข้าง กล่าวคือ ผู้สูงอายุที่แม้อยู่บ้านคนเดียวแต่หากอยู่ในละแวกใกล้เคียงกับบ้านของลูกหลานญาติพี่น้อง มีแนวโน้มที่จะมีสุขภาพดีด้วยเพราะมีคนดูแลห่วงใย ส่วนผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวและไม่มีญาติพี่น้องลูกหลานอยู่ใกล้ๆ จะมีความรู้สึกวิตกกังวล และมีความเปราะบางเพราะขาดคนดูแลโดยเฉพาะหากมีเหตุฉุกเฉิน

“ผู้สูงอายุอยู่ตามลำพังกับคู่สมรสเท่านั้น” พบว่าหากทั้งคู่ยังสุขภาพแข็งแรงดีผู้สูงอายุกลุ่มนี้ค่อนข้างจะมีความสุขเพราะไม่เหงา มีคนพูดคุยปรึกษากัน แต่หากมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งล้มป่วยความทุกข์จะตามมาทันทีเพราะอีกฝ่ายต้องเป็นผู้ดูแล “ผู้สูงอายุอยู่ในครัวเรือนข้ามรุ่น” พบได้ทั่วไปกรณีคนหนุ่มสาวจากต่างจังหวัดมาทำงานในกรุงเทพฯ หรือจากชนบทไปทำงานในเมืองแล้วคนหนุ่มสาวมีลูกก็ฝากลูกของตนให้พ่อแม่ที่อยู่ภูมิลำเนาเดิมเลี้ยง ผู้สูงอายุกลุ่มนี้มักจะมีความสุขที่ได้เลี้ยงหลาน แต่จะกังวลหากลูกส่งเงินกลับมาให้ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย

“ผู้สูงอายุอยู่กับพ่อ/แม่” เป็นรูปแบบครอบครัวที่พบมากขึ้นในระยะหลังๆ โดยคนเป็นพ่อแม่ยังมีชีวิตอยู่แต่คนเป็นลูกก็อายุมากขึ้นจนถึงวัยเกษียณ ผู้สูงอายุกลุ่มนี้ค่อนข้างมีความเครียดสูงโดยเฉพาะหากพ่อแม่ของผู้สูงอายุมีภาวะติดเตียง ก็ยิ่งเพิ่มความเครียดให้กับผู้สูงอายุในการดูแลพ่อแม่ที่สูงอายุด้วยกัน และ “ผู้สูงอายุอยู่กับบุคคลที่ไม่ใช่ญาติ” เช่น เพื่อนวัยสูงอายุด้วยกัน ก็พบว่ามีความเครียดสูง เพราะด้วยความที่ไม่ใช่ญาติทำให้เกิดคำถามว่าแล้วใครจะเป็นฝ่ายดูแลใคร จึงเกิดความรู้สึกตามมาว่าแม้จะอยู่กันหลายคนแต่ก็รู้สึกเหมือนอยู่ตัวคนเดียว

บทสรุปของงานวิจัยนี้เสนอแนะว่า 2.1 ควรส่งเสริมให้ผู้สูงอายุเกิดความรู้สึกมีศักดิ์ศรีในตนเอง และพยายามให้ผู้สูงอายุคงอยู่ในสภาพที่สามารถดูแลตนเองได้เป็นระยะเวลานาน 2.2 ควรสนับสนุนให้มี “ระบบเพื่อนบ้านที่ดี” เพื่อช่วยดูแลผู้สูงอายุ เพราะเป็นหน่วยที่มีความใกล้ชิดกับผู้สูงอายุมากที่สุดในชุมชน 2.3 ควรส่งเสริมให้มีระบบการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ตามลำพังคนเดียว โดยไม่มีลูกหลานอยู่ใกล้ๆ หรือเป็นคนไร้ญาติขาดมิตร เนื่องจากเป็นกลุ่มผู้สูงอายุที่มีความต้องการด้านจิตใจมากกว่าผู้สูงอายุกลุ่มอื่น

2.4 กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ควรให้การสนับสนุนเพื่อเพิ่มพูนศักยภาพในการดูแลผู้สูงอายุอย่างมีประสิทธิภาพให้กับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) หรืออาสาสมัครผู้สูงอายุ (อผส.) เพราะในอนาคตคนกลุ่มนี้จะมีบทบาทในการดูแลผู้สูงอายุอย่างใกล้ชิดที่สุด 2.5 ควรสนับสนุนให้ผู้สูงอายุมีการรวมกลุ่มเพื่อทำกิจกรรมในชุมชนมากขึ้น เพื่อเพิ่มพูนความรู้ให้ผู้สูงอายุในเรื่องการดูแลตนเองการใช้ชีวิตประจำวัน เป็นการทำให้ผู้สูงอายุมีเครือข่ายทางสังคมมากขึ้น

2.6 หน่วยงานด้านวิสาหกิจชุมชนควรส่งเสริมอาชีพ ให้ผู้สูงอายุมีรายได้ที่บ้านหรือในชุมชน 2.7 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ควรส่งเสริมความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัว โดยให้ลูกหลานที่ไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่ที่สูงอายุแล้วมีโอกาสกลับไปเยี่ยมบ้านมากขึ้น ผู้สูงอายุจะได้ไม่รู้สึกโดดเดี่ยว และ 2.8 ควรปรับปรุงระบบคมนาคมขนส่ง เพราะยังไม่ค่อยเอื้ออำนวยต่อการเดินทางของผู้สูงอายุเท่าที่ควร

3.โครงการวิจัย “กลไกของชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดูแลครัวเรือนเปราะบางกรณีศึกษาครัวเรือนข้ามรุ่นและครัวเรือนที่มีผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียว” โดยมีหัวหน้าทีมวิจัยคือ ผศ.ดร.ปิยวัฒน์ เกตุวงศา ว่าด้วยบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งมีความใกล้ชิดกับชุมชน กับนโยบายการดูแลประชากรที่แบ่งได้ 2 กลุ่มคือ 3.1 กลุ่มผู้สูงอายุ ใช้ 2 กลไกหลักคือ “การรวมกลุ่ม” กรณีผู้สูงอายุที่สุขภาพดียังดูแลตนเองได้ เพราะการรวมกลุ่มทำกิจกรรมทำให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี ภาวะเปราะบางก็จะลดลงด้วย

กับ “การช่วยเหลือและฟื้นฟู” กรณีผู้สูงอายุแบบพึ่งพิง (เช่น ผู้ป่วยติดเตียง) พบว่าเป็นกลุ่มที่ อปท. ให้ความสำคัญมากที่สุดเพราะถือเป็นผู้ด้อยโอกาสผ่านกระบวนการเสริมความเข้มแข็งของชุมชน ทั้งนี้ยังพบด้วยว่าบางพื้นที่มีกระบวนการฟื้นฟูผู้สูงอายุที่เป็นผู้ป่วยติดเตียงให้สามารถกลับมาช่วยเหลือตนเองได้อันหมายถึงการลดภาระการดูแลผู้สูงอายุไปโดยปริยาย และ “อปท. ขนาดกลาง พบว่าทำหน้าที่นี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด” เพราะมีงบประมาณบุคลากรและความรู้พร้อม แต่ขณะเดียวกันการมีส่วนร่วมของชุมชนก็ยังเข้มแข็งด้วย

3.2 กลุ่มเด็กในครอบครัวข้ามรุ่น หมายถึง เด็กที่เติบโตขึ้นมาโดยการดูแลของปู่ย่าตายายเพราะพ่อแม่ไปทำงานในเมือง ซึ่งตามปกติ อปท. มีหน้าที่ดูแลเด็กทุกคนในพื้นที่อยู่แล้ว อาทิ ด้านโภชนาการ ด้านการศึกษาและพัฒนาการตามวัยของเด็ก อย่างไรก็ตามสิ่งที่ควรเพิ่มเติมคือ “กิจกรรมค่ายอบรมสานสัมพันธ์ระหว่างวัย” ให้เด็กๆ ได้ทดลองใช้ชีวิตแบบผู้สูงอายุเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ว่า ผู้สูงอายุมีประสิทธิภาพด้านการเคลื่อนไหว การมองเห็น รวมถึงการได้ยิน แตกต่างจากตนเองอย่างไรบ้าง จะส่งผลให้ลดความไม่เข้าใจระหว่างกันลงได้มาก

และ 4.โครงการวิจัย “ระบบสนับสนุนการดูแลผู้สูงอายุแบบบูรณาการ : การมีส่วนร่วมของภาคเอกชนและกิจการเพื่อสังคม” โดยมีหัวหน้าทีมวิจัยคือ ดร.ธีรนงค์ สกุลศรี รวบรวมข้อมูลกลไกดูแลผู้สูงอายุทั้งในไทย อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา สืบเนื่องจากสังคมสูงวัยนั้นเป็นปรากฏการณ์ระดับโลกที่หลายประเทศกำลังเผชิญ จนสรุปเป็นข้อเสนอแนะแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยดังนี้

4.1 ปรับบทบาทภาครัฐจากผู้ให้บริการมาเป็นผู้ส่งเสริมหรือสนับสนุน ให้องค์กรภาคีที่ร่วมจัดบริการโดยการสนับสนุนทางตรงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือดำเนินการผ่านองค์กรกลางที่ทำหน้าที่ในการสนับสนุนงบประมาณและติดตามประเมินผล 4.2 จัดตั้งเครือข่ายการสูงอายุแห่งชาติ เพื่อเป็นศูนย์ข้อมูลในการระดมภาคส่วนที่เกี่ยวข้องที่เป็นทรัพยากรของการดูแลผู้สูงอายุที่มีอยู่ทั่วประเทศ และทำหน้าที่ประสานงานและนำส่งบริการจากผู้ให้บริการไปสู่ผู้รับบริการอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของผู้สูงอายุ

4.3 ส่งเสริมกิจการเพื่อสังคมหรือธุรกิจขนาดเล็กเพื่อริเริ่มบริการที่ตอบสนองความต้องการผู้สูงอายุที่อยู่ในชุมชนและที่บ้าน เปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุได้มีส่วนร่วมออกแบบกิจกรรมที่สอดคล้องกับความต้องการ โดยเริ่มจากโครงการที่เป็นกลุ่มประชากรที่มีความต้องการเฉพาะ และมีตัวชี้วัดที่สามารถวัดผลได้ชัดเจน และ 4.4 จัดตั้งองค์กรการกุศลเป็นองค์กรกลางในการระดมทุนและบริหารจัดการเพื่อสนับสนุนกิจการด้านผู้สูงอายุ โดยนำทุนที่ระดมมาไปดำเนินโครงการ เช่น ให้ทุนกับกิจการเพื่อสังคมองค์กรไม่แสวงผลกำไรที่อยากริเริ่มโครงการเพื่อผู้สูงอายุ

การดูแลประชากรกลุ่มเปราะบางไม่ว่าเด็ก สตรีผู้ทำหน้าที่แม่ รวมถึงผู้สูงอายุอย่างมีประสิทธิภาพ ประชากรกลุ่มต่างๆ ก็จะสามารถดูแลตนเองได้ไม่เข้าสู่ภาวะพึ่งพิง อันหมายถึงการลดภาระของประเทศชาติในระยะยาว!!!

24 September 2561

ที่มา แนวหน้า

Posted By Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 1556

 

Preset Colors