02 149 5555 ถึง 60

 

รพ. สวนสราญรมย์ ตั้งศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพทางจิตสังคมผู้ป่วยจิตเวช

รพ. สวนสราญรมย์ ตั้งศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพทางจิตสังคมผู้ป่วยจิตเวช

20 กันยายน 2561 1,060

รพ.สวนสราญรมย์ ตั้งศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพทางจิตสังคม ผู้ป่วยจิตเวชรายบุคคล ลดป่วยซ้ำได้ผลสูงถึง 97% เตรียมนำยาสมุนไพร มาร่วมบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ป่วยที่ติดยาเสพติด

เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2561 นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต พร้อมด้วยนายแพทย์พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต นายแพทย์สมัย ศิริทองถาวร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต และคณะ ตรวจเยี่ยมโรงพยาบาล(รพ.)สวนสราญรมย์ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นภาคใต้ และศูนย์สุขภาพจิตที่ 11 จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อติดตามผลการดำเนินงานตามนโยบายในปีงบประมาณ 2561 และกล่าวว่า ในด้านภาพลักษณ์สถานที่ สิ่งแวดล้อมของรพ.สวนสราญรมย์ ขณะนี้ได้ปรับเปลี่ยนให้เอื้อต่อความสุขสบาย ให้ผู้ป่วยรู้สึกอบอุ่นและมีเกียรติ ได้รับการดูแลเสมือนเป็นคนในครอบครัว

ในส่วนของการรักษาได้รับรายงานว่าปัญหาการเจ็บป่วยทางจิตของประชาชนในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 11 ซึ่งมี 7 จังหวัด ได้แก่สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช กระบี่ ภูเก็ต ระนอง ชุมพร และพังงา อันดับ1 คือ โรคจิตเภท พบร้อยละ 38 อันดับ 2 ผู้ป่วยทางจิตที่เกิดจากการเสพสารเสพติด พบร้อยละ18 อันดับ 3 คือโรคไบโพลาร์หรือโรคอารมณ์ 2 ขั้วพบร้อยละ 7 ประเด็นที่น่าสนใจ คือ อัตราการป่วยทางจิตจากการใช้สารเสพติดเพิ่มขึ้นรวดเร็วมาก ในรอบ 2 ปี เพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าตัว พบมากในกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงาน สารเสพติดที่ใช้มาก คือ ยาบ้า ใบกระท่อม กัญชา และยาไอซ์ ซึ่งใบกระท่อมมีฤทธิ์กระตุ้นประสาทเช่นเดียวกับยาบ้า พบว่ามีการใช้กันมากในภาคใต้ ประชาชนส่วนใหญ่คิดว่าเป็นเรื่องปกติทั่วไป ไม่เป็นอันตราย สารเสพติดชนิดนี้เมื่อใช้ไปนานๆจะทำให้สมองติดยา มีผลต่อการทำงานของสารเคมีในสมอง ทำให้เกิดอาการผิดปกติทางจิต เช่น ประสาทหลอน หลงผิด คุ้มคลั่ง เป็นต้น อาการมักจะรุนแรงโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากนำไปผสมกับสารหรือยาอื่นๆ ทำให้การบำบัดมีความยุ่งยากกว่าการบำบัดผู้ป่วยจิตเวชทั่วไปหลายเท่าตัว

อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวต่อว่า ในการบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวชที่อาการรุนแรงซับซ้อน กรมสุขภาพจิตมีนโยบายให้โรงพยาบาลจิตเวชทุกแห่งออกแบบการฟื้นฟูให้ผู้ป่วยแบบเฉพาะราย (Tailor made) โดยบูรณาการทำงานร่วมระหว่างทีมสหวิชาชีพซึ่งเป็นวิธีที่ได้รับการยอมรับว่าได้ผลดีที่สุด เนื่องจากปัญหาของผู้ป่วยแต่ละคนมีความแตกต่างกัน ซึ่งที่รพ.สวนสราญรมย์มีผลการพัฒนาที่ก้าวหน้ามาก ได้เปิดศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพทางจิตสังคมผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง (Rehabilitation Training Center) แยกเป็นการเฉพาะรายๆไป เพื่อลดการป่วยซ้ำ ขณะนี้เน้น 5 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคจิตเภท โรคจิตเวชจากสารเสพติด โรคซึมเศร้า โรคไบโพลาร์ และผู้ป่วยจิตเวชที่เป็นผู้สูงอายุ โดยจัดโปรแกรมฟื้นฟูทักษะต่างๆที่ผู้ป่วยบกพร่องไปให้กลับมาสู่สภาวะปกติ ทั้งการใช้ชีวิตประจำวัน การดูแลตนเอง การเข้าสังคม การสื่อสารปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น และอาชีพที่เหมาะสมกับผู้ป่วย และมีระบบการเตรียมความพร้อมครอบครัวในการรับผู้ป่วยกลับสู่ครอบครัว พบว่าได้ผลดีมาก จากประเมินผลในปี 2561 พบว่าช่วยให้ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงซับซ้อน หายทุเลาขึ้นได้ร้อยละ 43 และไม่กลับมาป่วยซ้ำภายใน 28 วันหลังแพทย์จำหน่ายไปอยู่บ้านสูงถึงร้อยละ 97 ส่วนครอบครัวและญาติมีคุณภาพดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ชุมชนมีความมั่นใจ รู้สึกปลอดภัยจากผู้ป่วยมากขึ้น

ทางด้านนายแพทย์จุมภฎ พรมสีดา ผู้อำนวยการรพ.สวนสราญรมย์ กล่าวว่า รพ.ได้วางแผนศึกษาวิจัยการนำสมุนไพรมาใช้รักษาและฟื้นฟูผู้ป่วยติดยาเสพติดร่วมกับยาแผนปัจจุบัน เนื่องจากมีสมุนไพรอยู่หลายตัวที่มีสรรพคุณ สามารถใช้รักษาอาการที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยติดยาเสพติด เช่น ปวดเมื่อยตามร่างกาย และยังช่วยขับสารเสพติดออกจากร่างกายโดยเร็ว เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดียิ่งขึ้น คาดว่าจะเริ่มศึกษาในปลายปีนี้ ขณะเดียวกันขณะนี้รพ.ได้ดำเนินการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยจิตเวชจากสารเสพติด ส่งเสริมให้ปลูกผักเกษตรอินทรีย์ และขยายผลปลูกพืชสมุนไพรแบบเกษตรอินทรีย์ ในพื้นที่ 5 ไร่ ในเบื้องต้นมี 5 ชนิดได้แก่ ขมิ้นชัน ไพล ฟ้าทะลายโจร มะแว้งเครือและมะแว้งต้น ซึ่งเป็นสมุนไพรที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ และนำไปจำหน่ายเพื่อผลิตเป็นยา มีตลาดรองรับอยู่แล้ว ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ป่วยมีอาชีพที่มั่นคง มีรายได้ต่อเนื่อง และไม่กลับไปเสพสารเสพติดซ้ำอีก

20 September 2561

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

Posted By ์์Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 6149

 

Preset Colors