02 149 5555 ถึง 60

 

ภาวะผู้นำกับการแก้ปัญหาเด็กติดเกม!

ภาวะผู้นำกับการแก้ปัญหาเด็กติดเกม!! / สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีภารกิจไปที่เมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน และได้ติดตามข่าวสารบ้านเมืองในทุกเช้าของบ้านเขาผ่านช่องข่าว CGTN (China Global Television Network) ช่องรายการข่าวโทรทัศน์ภาคภาษาอังกฤษของสถานีวิทยุโทรทัศน์กลางแห่งประเทศจีน ที่น่าสนใจก็เนื่องเพราะในช่วงเช้าของทุกวันมีการนำเสนอข่าวสลับกับสกู๊ปข่าวที่เกี่ยวกับเด็กติดต่อกันหลายวันทีเดียว ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าเป็นปกติ หรือเฉพาะจังหวะที่ดิฉันอยู่ที่นั่นพอดี

วันแรกมีการนำเสนอเรื่องการปฎิรูปการศึกษา เรื่องการเรียนที่มีการแข่งขันสูง การบ้านเด็กเยอะมาก ตามด้วยการตามดูเด็ก ๆ เรียนนอกห้องเรียนในเขตโรงเรียนท้องถิ่น แต่ประเด็นที่ดิฉันสนใจเป็นพิเศษคือเรื่องอัตราการเติบโตของเด็กนักเรียนในประเทศจีนสายตาสั้นเพิ่มขึ้นอย่างมาก และเพิ่มขึ้นในกลุ่มเด็กที่เล็กลงเรื่อย ๆ ซึ่งมีการคาดการณ์ว่ามาจากการที่เด็กติดเทคโนโลยี เด็กติดเกม และพ่อแม่ไม่สามารถจัดการปัญหาเหล่านี้ได้ จนถึงขั้นประธานาธิบดีสี่จิ้นผิงออกมาประกาศเอาจริงเอาจังออกคำสั่งสำคัญ ประกาศนโยบายที่จะควบคุมจำนวนเกมออนไลน์ เพื่อปกป้องและป้องกันสายตาของเด็ก ๆ

โดยกระทรวงศึกษาธิการระบุว่า เจ้าหน้าที่จะควบคุมและกำหนดจำนวนเกมบนอินเทอร์เน็ตที่มีอยู่แล้ว เช่นเดียวกับจำนวนเกมออกใหม่อีกด้วย โดยจะทำให้มีการตรวจสอบระบบแจ้งเตือนอายุผู้เล่นที่เหมาะสม และทำหน้าที่จำกัดจำนวนชั่วโมงการเล่นเกมสำหรับเด็ก

และย้ำว่าพ่อแม่ ผู้ปกครองควรลดใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ในตอนที่อยู่กับลูก ๆ และถ้าจะให้ใช้ก็ต้องจำกัดเวลา ควรให้ลูกใช้เพียง 15 นาทีและไม่ควรเกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน

ที่ผ่านมาเด็กนักเรียนชาวจีนมีอัตราสายตาสั้นสูงมากอยู่แล้ว จากข้อมูลสถิติเมื่อปีที่แล้วที่องค์การอนามัยโลกรายงานพบว่าทั่วโลกมีจำนวนคนสายตาสั้นถึง 1,400 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นคนจีนในประเทศจีนถึง 600 ล้านคน

ดิฉันเองระหว่างเดินทางอยู่ในตัวเมืองเซี่ยงไฮ้ก็สังเกตเห็นเด็กนักเรียนชาวจีนส่วนใหญ่สวมแว่นตา และมักง่วนอยู่กับโทรศัพท์มือถือแทบจะในทุกสถานที่

แน่นอนว่าภาวะของสายตาสั้นส่วนหนึ่งก็สัมพันธ์กับกรรมพันธุ์ คือหากพ่อแม่สายตาสั้น โอกาสที่ลูกจะสายตาสั้นก็มีสูง แต่ที่ชัดเจนก็คือคนสายตาสั้นยุคนี้มาจากสภาวะแวดล้อมมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งพฤติกรรมการเสพติดการใช้มือถือก็เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ตัวเลขเพิ่มขึ้นจำนวนมาก โดยตัวเลขในประเทศจีนเด็กเมืองสายตาสั้นร้อยละ 50 ส่วนเด็กต่างจังหวัดร้อยละ 30

และประเด็นเหล่านี้เองที่ทำให้ผู้นำของจีนลุกขึ้นมาจริงจังกับปัญหาดังกล่าว เนื่องจากจำนวนเด็กสายตาสั้นเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ แถมยังเกิดขึ้นในเด็กที่อายุน้อยมาก ๆ อีกด้วย เพราะอาการสายตาสั้นส่งผลกระทบต่อสุขภาพทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจของเด็กอย่างมาก ถือเป็นวิกฤตใหญ่ที่จีนต้องเผชิญ เขาจึงได้ออกมาแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยนโยบายนี้

กระทรวงศึกษาธิการของประเทศจีนกล่าวว่า การเคลื่อนไหวในครั้งนี้เกิดขึ้นเพราะต้องการดูแล ควบคุมภาวะสายตาสั้นในเด็กและวัยรุ่น การกระทำในครั้งนี้ส่งผลให้เกิดการควบคุมทั้งสื่อและค่ายเกมในประเทศ มีข่าวการระงับการอนุมัติให้ใบอนุญาตแก่เกมออนไลน์ใหม่ ๆ ด้วย

และแน่นอนว่าการควบคุมดังกล่าว ก็จะเป็นการควบคุมไปถึงชนิดเนื้อหาของเกมที่ไม่เหมาะสมกับวัยของเด็กได้ด้วย และด้วยมาตรการใหม่นี้ทำให้อุตสาหกรรมเกมทั้งหลายได้รับผลกระทบเต็ม ๆ หุ้นหลายบริษัทที่เกี่ยวข้องตกทันที

ถ้าจำกันได้ เมื่อ 2 เดือนก่อนรัฐสภาฝรั่งเศสได้ผ่านความเห็นชอบ ให้แบนสมาร์ทโฟน และอุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตอื่น ๆ เช่น แท็บเล็ต กับเด็กนักเรียนอายุระหว่าง 3 ถึง 15 ปี ไม่ให้ใช้ในโรงเรียน แม้กระทั่งช่วงพักเรียน โดยจะมีผลบังคับใช้ในเดือนกันยายน 2561 เป็นต้นไป แต่มีข้อยกเว้นให้แก่พวกนักเรียนคนพิการและระหว่างกิจกรรมนอกหลักสูตร

มาตรการเหล่านี้เกิดจากแนวคิดของเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส

การออกกฎหมายครั้งนั้น เป็นการชี้ให้เห็นถึงความตระหนักถึงผลกระทบที่มีต่อพลเมืองของเขา ซึ่งสร้างความพึงพอใจให้กับพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีความห่วงใยต่อลูกหลานที่ปัจจุบันติดสมาร์ทโฟนอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องการติดเกม และติดแชท เพราะเป็นห่วงว่าจะส่งผลกระทบต่อสมอง และมีผลกระทบต่อการเรียน

และเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า การแก้ปัญหาของภาครัฐอย่างจริงจังโดยเอาเด็กเป็นตัวตั้ง และมองเห็นว่าถ้าปล่อยไปผลกระทบจะเกิดขึ้นในระยะยาว หรือแม้แต่ไม่ได้เห็นแก่ผลประโยชน์อย่างเดียว โดยไม่ได้มองในมิติอื่น ๆ ของ “พลเมืองในชาติ” โดยเฉพาะเด็กที่ต้องเติบโตเป็นอนาคตของคนในชาติ ที่นับจากนี้กำลังเผชิญปัญหาประชากรเด็กเกิดน้อย และผู้สูงวัยเพิ่มมากขึ้น ถ้าเด็กเกิดน้อย แล้วด้อยคุณภาพ หรือมีปัญหาผลกระทบทางด้านสุขภาพกาย จิตใจ และพฤติกรรม ประเทศต้องแลกกับอะไร

ดูบ้านมืองอื่นแล้วหันย้อนมาดูตัวเอง จะพบว่านับวันผลกระทบเรื่องเทคโนโลยีกับเด็กก็ถูกตีแผ่ออกมาชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ ขนาดระดับประธานาธิบดีของประเทศใหญ่ออกมาชี้ทิศทางเอง แต่ดูเหมือนผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเรายังมองไม่เห็น หรือขาดความรู้ ความเข้าใจ และการจัดการที่เหมาะสม รวมไปถึงการดูแลของพ่อแม่และผู้ที่เกี่ยวข้องที่ยังไม่รู้เท่าทัน สุดท้ายเด็กก็ตกเป็นเหยื่ออยู่ดี และประเทศเราเองก็เสียโอกาส !

ก็คงเป็นแค่เรื่องหนึ่งในอีกหลาย ๆ เรื่องที่ทำได้แต่ถอนใจยาว ๆ เท่านั้น !

13 September 2561

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 732

 

Preset Colors