02 149 5555 ถึง 60

 

ผู้สูงอายุ ฆ่าตัวตายสูงขึ้น เหตุถูกทอดทิ้ง ขาดคนพูดคุยรับฟัง

ผู้สูงอายุ ฆ่าตัวตายสูงขึ้น เหตุถูกทอดทิ้ง ขาดคนพูดคุยรับฟัง

กรมสุขภาพจิต ชี้ “ผู้สูงอายุ” ฆ่าตัวตายสูง เหตุถูกทอดทิ้ง ขาดคนพูดคุยรับฟัง แปลกแยก กลายเป็นซึมเศร้า เสี่ยงฆ่าตัวตายได้ เดินหน้าตั้งชมรมผู้สูงอายุ ชู สุข 5 มิติ เพิ่มพลังใจ พร้อมปั้น อสม.เยี่ยมบ้านเพิ่มพลังใจผู้เฒ่าผู้แก่

น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงการฆ่าตัวตายที่เพิ่มสูงขึ้นในผู้สูงอายุ ว่า เดิมอัตราการฆ่าตัวตายพบสูงสุดในกลุ่มวัยทำงาน รองลงมา คือ ผู้สูงอายุ และกลุ่มเด็กและวัยรุ่น แต่ปัจจุบันผู้สูงอายุมีอัตราการฆ่าตัวตายสูง โดยเฉพาะกลุ่มติดบ้าน หรือถูกทอดทิ้ง ลูกหลานไปทำงาน ไม่มีเวลาอยู่บ้าน ขณะที่ผู้สูงอายุอยากพูดคุย อยากสื่อสารก็ขาดคนฟัง ทำให้เกิดความน้อยใจ เกิดการแปลกแยก และสะสมกลายเป็นโรคซึมเศร้า และเสี่ยงฆ่าตัวตายได้ ซึ่งจะแตกต่างจากกลุ่มเด็กและวัยรุ่นที่ฆ่าตัวตายอย่างฉับพลัน เนื่องจากความเครียด ปัญหาความรัก อารมณ์ชั่ววูบก็จะฆ่าตัวตายโดยไม่ทันคิด ส่วนวัยทำงานจะมาจากความเครียด การสะสมเรื่อยๆ และคิดมาก่อนว่าจะฆ่าตัวตาย

น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวว่า ที่ผ่านมา กรมสุขภาพจิตได้ร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ในการป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตายในผู้สูงอายุ โดย 1.เข้าไปในชุมชนจัดตั้งชมรมผู้สูงอายุขึ้น ให้ออกมาทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน ชูสุข 5 มิติ คือ สุขสนุก เช่น การเล่นต่างๆ เล่นเกม ดูหนัง ฟังเพลง สุขสบาย ที่เกิดจากความสะดวก สบาย ผ่อนคลาย สุขสง่า เป็นความสุขที่เกิดจากความสำเร็จ ความภาคภูมิใจ การเป็นแบบอย่างที่ดี สุขสงบ เกิดจากความสงบไม่แก่งแย่ง ช่วงชิง พอเพียง และสุขสว่าง จากการใช้ประสบการณ์ หรือความสำเร็จให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น 2.ดึงอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) มาฝึกอบรมเป็น อสม.เชี่ยวชาญสุขภาพจิตชุมชน ซึ่ง 1 ปีที่ผ่านมาฝึกอบรมไปแล้ว 84,000 คน โดย อสม. 1 คน จะดูแล 10 หลังคาเรือน ซึ่งจะอบรมให้ อสม.เข้าไปเยี่ยมบ้านผู้สูงอายุ แนะวิธีเสริมสร้างพลังใจ เป็นต้น

และ 3.ปัจจุบันมีคลินิกโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือที่รู้จักกัน คือ คลินิกเบาหวาน ความดัน ซึ่งอยู่โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) เดิมคลินิกแห่งนี้จะเน้นดูแลผู้ป่วยสูงอายุที่ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ แต่ปัจจุบันจะให้ความรู้ในเรื่องการสร้างขวัญกำลังใจด้วย เพราะการป่วยโรคเรื้อรัง พบว่า เป็นส่วนหนึ่งในการบั่นทอนกำลังใจของผู้สูงอายุให้รู้สึกเบื่อหน่าย เป็นทุกข์ ไม่อยากอยู่ต่อไปได้ อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือ คนรอบข้างผู้สูงอายุต้องสังเกต ใส่ใจ อย่าทอดทิ้ง

10 September 2561

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 1842

 

Preset Colors