02 149 5555 ถึง 60

 

แพทย์ เผยน้ำท่วมถือเป็น วิกฤติชีวิต แนะการพูดคุยจะช่วยระบายทุกข์ได้

แพทย์ เผยน้ำท่วมถือเป็น 'วิกฤติชีวิต' แนะการพูดคุยจะช่วยระบายทุกข์ได้

6 กันยายน 2561 1,340

กรมสุขภาพจิต เผยน้ำท่วมถือเป็น "วิกฤติชีวิต" ทำให้เครียด กังวล แนะการพูดคุยจะช่วยระบายทุกข์ออกจากใจ มีกำลังใจขึ้น ชี้สิ่งที่ไม่ควรทำคือไม่ควรดื่มเหล้า เพราะไม่ได้ช่วยอะไรดีขึ้น

เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2561 นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพจิตประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมว่า น้ำท่วมถือเป็นวิกฤติในชีวิตที่มีสาเหตุมาจากภัยธรรมชาติที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้ผู้ประสบภัยเกิดความเครียด นอนไม่หลับ เนื่องจากการดำเนินชีวิตประจำวันไม่สะดวกสบาย ทั้งเรื่องห้องน้ำ อาหารการกิน ที่พักอาศัย รวมทั้งวิตกกังวลเรื่องบ้านเรือน ทรัพย์สินที่ถูกน้ำท่วมเสียหายด้วยซึ่งถือว่าเป็นผลกระทบทางใจที่เกิดขึ้นตามปกติทั่วไปในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ

อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวว่า การดำเนินชีวิตในช่วงที่มีน้ำท่วมขังนี้ ประชาชนต้องปรับตัวและยืดหยุ่นเพื่อให้สามารถอยู่กับสถานการณ์น้ำท่วมได้ สิ่งที่ผู้ประสบภัยทุกครอบครัวควรทำและจะเกิดผลดีต่อพลังใจ มี 2 ประการ ประการแรกคือ หมั่นพูดคุยไต่ถามสารทุกข์สุกดิบทั้งสมาชิกในครอบครัว และกับเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากบางคนอาจต้องการการพูดคุยเพื่อระบายความทุกข์ใจ บางคนอาจมีทุกข์ที่ซ้ำซ้อน การดูแลช่วยเหลือกันตามศักยภาพที่มีอยู่ในขั้นต้น แค่ถามไถ่และรับฟังกัน จะทำให้ผู้ที่มีทุกข์ใจเกิดความคลี่คลาย สบายใจขึ้นและมีกำลังใจในการดำเนินชีวิตทั้งในปัจจุบันและอนาคต นอกจากนี้ญาติหรือคนที่รู้จักคุ้นเคยกันที่อยู่นอกพื้นที่ประสบภัย ก็สามารถส่งความห่วงใยนี้ได้ โดยโทรศัพท์พูดคุยกัน หรือส่งข้อความทางไลน์ (LINE) ก็จะช่วยให้กำลังใจได้เช่นกัน

ประการที่ 2 คือการช่วยกันเฝ้าระวังผู้ที่อาจเกิดปัญหาสุขภาพจิตได้แก่ ผู้ที่มีบุคคลในครอบครัวเสียชีวิตหรือกำลังเจ็บป่วย ผู้ที่บ้านเรือน หรือพื้นที่ทำมาหากิน พืชสวนไร่นาถูกน้ำท่วมหนัก ผู้พิการ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังทั้งทางกายและทางจิตอยู่แล้วหากพบว่ามีอารมณ์และพฤติกรรมที่ผิดปกติ เช่น ซึมเศร้า เหม่อลอย พูดจาน้อยลงกว่าที่เคย หรือเก็บตัว ร้องไห้บ่อยๆ หรือดื่มเหล้า สูบบุหรี่มากจนผิดสังเกต อย่าปล่อยให้อยู่คนเดียวขอให้รีบไปพูดคุยสอบถาม และปรึกษาอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. ซึ่งกรมสุขภาพจิตได้อบรมให้เป็น อสม.เชี่ยวชาญสุขภาพจิตชุมชนมีทุกหมู่บ้าน หรือปรึกษาเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่โดยเร็ว

อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวต่อว่า สิ่งที่ผู้ประสบภัยไม่ควรใช้แก้ปัญหาเมื่อมีทุกข์ กลุ้มใจ ก็คือ ไม่ควรดื่มเหล้าหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด เนื่องจากความมึนเมาไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา คลี่คลายทุกข์อย่างถูกต้อง ยังอาจทำให้เกิดความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุกับตนเอง เช่นพลัดตกน้ำ เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ จึงขอแนะนำใช้วิธีปรึกษาปัญหากับผู้ที่เคารพหรือไว้ใจ หากเป็นเรื่องที่ไม่สามารถบอกใครได้ สามารถโทรปรึกษาที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง

ทางด้านนายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครพนมราชนครินทร์ จ.นครพนม กล่าวว่า โรงพยาบาลฯและศูนย์สุขภาพจิตที่ 8 ได้เตรียมพร้อมทีมสุขภาพจิตเอ็มแคท (MCATT) หรือทีมเยียวยาจิตใจผู้ประสบภัยพร้อมเวชภัณฑ์ยาที่จำเป็น เพื่อสนับสนุนทีมเยียวยาใจในพื้นที่ประสบภัยในจังหวัดนครพนม บึงกาฬ และสกลนคร เพื่อดูแลจิตใจผู้ประสบภัยอย่างเต็มที่และต่อเนื่อง ทั้งติดตามผู้ป่วยจิตเวชไม่ให้ขาดยา ค้นหากลุ่มที่มีโอกาสเกิดปัญหาสุขภาพจิต ขณะนี้พบผู้ประสบภัยมีปัญหาสุขภาพจิต 573 คน ส่วนใหญ่อยู่ในขั้นไม่รุนแรง โดยพบผู้ที่มีอาการเครียดรุนแรงต้องดูแลเป็นพิเศษ 11 คน โดยวางแผนประเมินซ้ำในรอบ 1 เดือน หลังประสบภัย พร้อมทั้งสำรองเตียงเพื่อดูแลผู้ป่วยจิตเวชฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมงด้วย

7 September 2561

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

Posted By ์์Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 914

 

Preset Colors