02 149 5555 ถึง 60

 

กรมอนามัยเผยปัญหาแม่หลังคลอด เสี่ยงซึมเศร้า เหตุหลายปัจจัย

กรมอนามัยเผยปัญหาแม่หลังคลอด เสี่ยงซึมเศร้า เหตุหลายปัจจัย

เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม ที่โรงแรมเอเชีย แอร์พอร์ต รังสิต พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวหลังเป็นประธานเปิดงานประชุมถอดบทเรียนโครงการการดูแลทารกและแม่ที่มีโรคซึมเศร้าหลังคลอด ว่า ความเสี่ยงที่ผู้หญิงหลังคลอดต้องเผชิญคือการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนส่งผลต่อภาวะสมองและอารมณ์ ทำให้ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ประกอบกับภาระหน้าที่ของการเป็นแม่ที่ไม่สามารถลาออกหรือหยุดได้ ทำให้คุณแม่บางคนยิ่งมีความเครียด ซึมเศร้า และถึงแม้ว่าบางคนสภาพแวดล้อมต่างๆ เอื้ออำนวยดี แต่ก็ยังมีภาวะซึมเศร้าได้ ซึ่งคนรอบข้างอาจจะไม่เข้าใจ ทั้งนี้ ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดกระทบการเลี้ยงลูกทั้งกายและใจ พบมากในช่วง 6 เดือนแรก ทำให้น้ำนมมไหลน้อย ปฏิสัมพันธ์กับลูกลดลง ขาดการกอดการหอม มีมุมมองเป็นลบต่อลูกและตัวเอง และบางครั้งรุนแรงถึงขั้นทำร้ายลูก ทำร้ายตัวเองโดยไม่ตั้งใจจากภาวะความรู้สึกแย่เหล่านั้น เช่นเดียวกับการฆ่าตัวตายเป็นภาวะแทรกที่รุนแรงที่สุดซึ่งพบได้ไม่น้อยในปัจจุบัน แต่ไม่ได้เก็บตัวเลขที่ชัดเจน

พญ.อัมพรกล่าวต่อว่า ดังนั้นกรมอนามัยร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) จึงทำโครงการดูแลทารกและแม่โรคซึมเศร้า นำร่อง 6 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ อุบลราชธานี บุรีรัมย์ นครศรีธรรมราช และสงขลา พบอัตราแม่ซึมเศร้าหลังคลอดร้อยละ 10 บางพื้นที่สูงถึงร้อยละ 30 ซึ่งการที่พบมากนั้นมาจากความเข้มข้นของค้นหากลุ่มเสี่ยง และปัญหาเรื่องความยากจน รวมถึงแม่วัยรุ่นด้วย ซึ่งปัจจัยเรื่องความยากจนนั้นถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ ต้องขอบคุณ พม.ที่มีโครงการเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดเข้ามาช่วย ซึ่งช่วยได้ระดับหนึ่ง แต่เราต้องทำงานกันต่อเนื่อง ต้องค้นหาให้เจอแล้วต้องให้ความช่วยเหลือทั้งในระดับครอบครัว สังคมที่ต้องเข้าอกเข้าใจ และช่วยแบ่งเบาภาระของคุณแม่ ให้มีช่วงเวลาพักผ่อนเพียงพอ กินอาหารที่มีประโยชน์ หมั่นสังเกตอาการ และพามาพบแพทย์ อย่างไรก็ตามวันนี้จะต้องมีการถอดบทเรียนการดูแลเพื่อวางแผนในการดูแลและขยายพื้นที่ดำเนินการไปให้ครบทั้ง 12 เขตสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข และบางพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร ก่อนจะค่อยๆ ขยายให้ครอบคลุมทั้งประเทศ

“ภาวะแม่ซึมเศร้าคือปัญหาสำคัญที่เราต้องเร่งเข้าไปแก้ไขปัญหา เพราะกระทบกับการเลี้ยงดูเด็กซึ่งเป็นอนาคตของชาติ ที่นับวันยิ่งเกิดน้อยลงเรื่อยๆ วันนี้เราพบอัตราการทำร้ายเด็กมากขึ้นทั้งที่เห็นได้อย่างชัดเจน หรือในบางคดีอุบัติเหตุในเด็กก็มาค้นพบภายในห้องให้คำปรึกษาด้านจิตเวชว่าไม่ได้เกิดจากอุบัติเหตุจริงๆ แต่เกิดจากการที่ถูกแม่ซึมเศร้าทำร้าย แม่ซึมเศร้าบางคนที่หดหู่กับชีวิตจนทนไม่ไหว คิดจะฆ่าตัวตาย แต่ด้วยความรักลูกจึงลงมือทำร้ายลูกก่อนแล้วค่อยทำร้ายตัวเองตาม คือมันมีหลายรูปแบบ ซึ่งยังพบด้วยว่าในจำนวนยุวอาชญากรที่พบในปัจจุบันนั้น มีเปอร์เซ็นต์ไม่น้อยมาจากการเลี้ยงดูโดยแม่ซึมเศร้าหลังคลอด” รองอธิบดีกรมอนามัยกล่าว

30 August 2561

ที่มา มติชนรายวัน

Posted By ์์Nitayaporn/Bungon/Kanchana

Views, 800

 

Preset Colors