02 149 5555 ถึง 60

 

“จิตป่วย” ภัยคุกคามสังคมไทย? จุดชนวนทำผิด... ไม่ต้องรับผิด?

“จิตป่วย” ภัยคุกคามสังคมไทย? จุดชนวนทำผิด... ไม่ต้องรับผิด?

เผยแพร่: 25 ส.ค. 2561 05:57 โดย: MGR Online

ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ปัญหาสุขภาพจิตกำลังเป็นภัยเงียบคุกคามสังคมไทย แน่นอน อาการป่วยทางจิตไม่ใช่เรื่องไกลตัว ยิ่งไปกว่านั้นปัจจุบันมีปริมาณผู้ป่วยเพิ่มขึ้นทวีคูณ โดยเฉพาะอาการป่วยทางจิตสัญญาณแรกของการฆ่าตัวตายอย่าง “โรคซึมเศร้า” และความผิดปกติทางอารมณ์ “โรคไบโพลาร์” มิหนำซ้ำ อาการป่วยทางจิตยังถูกใช้เป็นข้ออ้างในการกระทำความผิด หลบเลี่ยงบทลงโทษทางกฎหมาย

ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยตัวเลข ปี 2561 มีผู้ป่วยโรคซึมเศร้า 1.5ล้านคน โดยทุกๆ 2 ชั่วโมง จะมีคนฆ่าตัวตายสำเร็จเฉลี่ย 1 คน สัดส่วนผู้ชายฆ่าตัวตายสูงกว่าผู้หญิง โรคซึมเศร้าเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดการฆ่าตัวตาย โดยทั่วโลกพบว่ามีผู้ป่วยโรคซึมเศร้ากว่า 300 ล้านคน

ขณะที่ ปี 2560 มีผู้ป่วยโรคไบโพลาร์เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศกว่า 31,521 คนโดยทั่วโลกมีผู้ป่วยเป็นโรคไบโพลาร์อยู่ประมาณ 60 ล้านคน

ปลุกกระแสอีกครั้ง สำหรับกรณีการเข้ารับการรักษา “โรคไบโพลาร์” ของ “นายเสกสรรค์ ศุขพิมาย” หรือ “เสก โลโซ” ร็อกเกอร์คนดัง หลังแสดงกิริยาท่าทางผิดปกติผ่านการไลฟ์เฟซบุ๊กติดต่อกันต่อเนื่องเป็นเวลาหลายชั่วโมง ไม่หลับไม่นอน จนสังคมต่างตั้งคำถามถึงสาเหตุว่ามาจากอาการป่วย โรคไบโพลาร์ หรือ โรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว หรือไม่? กระทั่ง ครอบครัวร่วมกันนำตัวส่งโรงพยาบาลเข้ารับการรักษาได้สำเร็จ

ว่ากันว่าอาการของ เสก โลโซ เข้าขั้นวิกฤตเป็นสัญญาณสุดท้ายก่อนการฆ่าตัวตาย หากปล่อยไว้ไม่ได้รับการรักษาอย่างทันเวลา

โดยมีข้อมูลเปิดเผยจากภรรยาเก่าของ เสก โลโซ ว่าเขาเป็นไบโพลาร์มา 10 กว่าปีแล้ว อาการเมื่อ 10 กว่าปี ก่อนจะซึมเศร้า ไม่ออกจากบ้าน ไม่เจอใคร ไม่คุยกับใคร จากนั้นได้เข้ารับการรักษาได้รับยาปรับอารมณ์ พอรับยามาก็หายแต่พอไม่ได้รับยาก็เกิดความผิดปกติอีก

กรณีของ เสก โลโซ ปลุกกระแสสังคมไทยให้หันมาสนใจ “ปัญหาสุขภาพจิต” ภัยเงียบที่กำลังคุกคามสังคมไทยอีกครั้ง โดยเฉพาะ “โรคไบโพลาร์” และ “โรคซึมเศร้า”

สำหรับ “โรคไบโพลาร์” หรือ โรคอารมณ์สองขั้ว เป็นโรคที่พบได้ 1 - 5 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากร โดยทั่วโลกมีผู้ป่วยอยู่ประมาณ 60 ล้านคน โรคไบโพลาร์เป็นโรคที่สร้างความสูญเสียอยู่ในอันดับ 6 ของโลก

โรคไบโพลาร์เกิดได้จากหลายปัจจัย อาทิ เกิดจากความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมอง ความเครียดต่างๆ การใช้สารเสพติด การถ่ายทอดทางพันธุกรรมสูงกว่าคนทั่วไปถึง 4 เท่าตัว โดยมีความผิดปกติของโครโมโซม โดยผู้ป่วยจะมีความผิดปกติทางอารมณ์อย่างชัดเจน

นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต เปิดเผยข้อมูลอาการของโรคไบโพลาร์ จะมีอยู่ 2 ขั้ว คือ

1.แบบซึมเศร้า คนที่เป็นจะมีอาการ เช่น ท้อแท้ เบื่อหน่าย เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ ไม่อยากทำอะไร เป็นต้น

2.แบบฟุ้ง คนที่เป็นจะมีอาการ คือ ขยัน พูดมาก คิดฟุ้ง ฯลฯ เมื่อคิดฟุ้งแล้วจะมีการแสดงพฤติกรรมที่ผิดแปลกไปจากคนปกติทั่วไป

นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า ไบโพลาร์เป็นโรคเรื้อรัง ถ้ารักษาจะทำให้อาการดีขึ้นจนเข้าสู่ภาวะปกติ แต่ถ้าไม่รักษาปล่อยทิ้งไว้โรคจะกลับมาใหม่ ดังนั้นผู้ป่วยจะต้องมีวินัย ต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์ และห้ามขาดยา กรณีที่ผู้ป่วยไบโพลาร์ไม่ได้เข้ารับการรักษา หากปล่อยไปนานๆ อาการจะรุนแรงมากขึ้น ถึงที่สุดแล้วอาจจะมีการคลุ้มคลั่ง และสุดท้ายอาจจะถึงขั้นเสียชีวิต

ทั้งนี้ โรคไบโพลาร์ มักเริ่มมีอาการในช่วงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น มักพบร่วมกับปัญหาสุขภาพจิตทั้งการใช้สารเสพติด ภาวะเครียด หรือโรควิตกกังวล และโรคนี้ทำให้ผู้ป่วยมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่าคนทั่วไป

และอาการป่วยทางจิตเวชที่นับภัยคุกคามอย่างรุนแรงในปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อประชากรทั่วโลก โดยองค์การอนามัยโลกประมาณการว่าประชากรมากกว่า 300 ล้านคนเป็นโรคซึมเศร้า

“โรคซึมเศร้า” เกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมองชื่อ เซโรโทนิน (Serotonin) มีปริมาณลดลง ทำให้ผู้ป่วยมีความรู้สึกท้อแท้ หงอยเหงา เบื่อหน่าย ไม่สนุกสนานกับชีวิต ฯลฯ สามารถถ่ายทอดทางพันธุ์กรรม อาการของโรคส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน

และหากไม่ได้รับการบำบัดรักษาอย่างถูกต้อง ปล่อยเรื้อรังนานเป็นเดือนเป็นปี จะกลับเป็นซ้ำได้บ่อย หากได้รับการบำบัดรักษาอย่างถูกต้องสามารถหายได้ หากอาการซึมเศร้ารุนแรงอาจถึงขั้นฆ่าตัวตาย ซึ่งผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีอัตราการฆ่าตัวตายมากกว่าคนทั่วไปถึง 20 เท่า

น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุการเสียชีวิตทั่วโลก จำนวนกว่า 8 แสนคนต่อปี คาดว่าจะเพิ่มเป็น 1.5 ล้านคน ในปี 2563 โดยมีคนพยายามฆ่าตัวตายสูงกว่าคนที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ 20 เท่าตัว โดยสัญญาณบอกเหตุของโรคซึมเศร้า มี 9 ข้อ ดังต่อไปนี้

1. ซึมเศร้า ท้อแท้ เบื่อไม่อยากทำอะไร 2. ขาดความสนใจสิ่งรอบข้าง 3. ไม่มีสมาธิ 4. อ่อนเพลีย 5. เชื่องช้า 6. รับประทานอาหารมากขึ้น หรือน้อยลง 7. นอนมากขึ้น หรือน้อยลง 8. ตำหนิตัวเอง9. พยายามฆ่าตัวตาย

หากพบว่าตัวเองหรือคนใกล้ตัวมีอาการ ข้อ 1 หรือ 2 ข้อใดข้อหนึ่ง ร่วมกับอาการในข้อ 3 - 9 อย่างน้อย 5 อาการ ติดต่อกันนาน 2 สัปดาห์ ให้สงสัยว่าอาจเป็นโรคซึมเศร้าและควรรีบไปพบจิตแพทย์ และอย่ามีอคติคิดว่าการไปพบจิตแพทย์จะกลายเป็นคนบ้า เพราะการมีอคติเช่นนี้ อาจทำให้ไม่กล้าไปพบแพทย์ ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง และสุดท้ายผู้ป่วยอาจจบชีวิตด้วยการฆ่าตัวตาย

น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวถึงสถานการณ์ปัญหาสุขภาพจิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั่วโลก สืบเนื่องจากผลจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคมในยุคไทยแลนด์ 4.0 จะมีตัวแปรสำคัญ 5 ปัจจัยที่ ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น ดังนี้

“1.การเป็นสังคมผู้สูงอายุ เด็กเกิดน้อย วัยทำงานลดลง ขณะนี้มีผู้สูงอายุประมาณ 11 ล้านคน ซึ่งจะมีผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพ มีโรคเรื้อรังประจำตัว ขาดคนดูแล มีความเหงา เศร้า 2.ปัจจัยจากการใช้โลกโซเชียลมากขึ้น เป็นสังคมก้มหน้า เด็กและวัยรุ่นติดเกม ผู้ใหญ่เครียด 3. การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ทำให้คนไทยมีความอดทนต่ำ 4.ภาวะโลกร้อน ภัยพิบัติจากธรรมชาติ และ 5. คนไทยมีพฤติกรรมการเสพติดเพิ่มขึ้น เช่น ติดเกม ติดอินเตอร์เน็ต เป็นต้น”

อีกประเด็นที่ได้รับความสนใจไม่แพ้กัน กรณีมีอาการป่วยทางจิตเวชมีสิทธิ์ได้เว้นโทษหรือไม่? เพราะเหตุการณ์ที่เกิดในเวลาไล่เรี่ยกับการส่งตัว เสก โลโซ เข้ารับการรักษาโรคไบโพลาร์ ทั้งกรณี นายกฤษฏีพันธ์ คิดจิตต์ อายุ 23 ปี ต่อยหน้าพนักงานสาวขายโทรศัพท์มือถือ โดยมีการกล่าวอ้างว่าตนป่วยเป็นโรคซึมเศร้า มานาน 6 ปี ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังต้องกินยารักษาอาการอย่างต่อเนื่อง รวมทั้ง กรณี น.ส.ภัทรา บุญเฉลียว อายุ 69 ปี ขับรถกระบะซิ่งชน รปภ. สนามบินเชียงใหม่ จนได้รับบาดเจ็บอาการสาหัส และอ้างว่าตนป่วยมีอาการทางสมอง สมองฝ่อ - โรคอัลไซเมอร์

อ้างอิงประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 ผู้ใดกระทำความผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้ เพราะมีจิตบกพร่อง โรคจิตฟั่นเฟือน ระบุว่า

(1) ถ้ากระทำความผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้นั้น "ไม่ต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น" เช่น ทำผิดในขณะโรคลมชักกำเริบ แล้วเหยียบคันเร่งรถพุ่งชนทรัพย์สิน หรือผู้อื่นเสียชีวิต

(2) แต่ถ้าผู้กระทำความผิดยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง หรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง บุคคลวิกลจริตนั้น "ต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น" ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กำหนดไว้ โดยแบ่งเป็นกรณีไปตามอาการป่วย

กล่าวคือ ผู้ป่วยจิตเวชที่ก่อคดีไม่สามารถถูกยกเว้นโทษตามกฎหมายได้ หากรู้ผิดชอบหรือบังคับตนเองได้ ต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาตามกฎหมาย แต่ต้องได้รับการบำบัดรักษาอย่างถูกต้อง

เท่ากับว่า ผู้ป่วย “โรคไบโพลาร์” หรือ “โรคซึมเศร้า” หากกระทำความผิดต้องได้รับโทษตามกฎหมาย เนื่องจากขณะกระทำผิดยังรู้สึกรู้ตัวว่ากำลังทำอะไร

27 August 2561

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By ์์Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 26199

 

Preset Colors