02 149 5555 ถึง 60

 

ภาวะเสพติด

ภาวะเสพติด

โรคของพฤติกรรมสุดขั้ว พฤติกรรมใด ๆ ก็ตามที่ปฏิบัติอย่างสุดขั้วจนครอบงำบุคคลนั้น ๆ และดึงเขาออกจากวิถีปฏิบัติที่ควรจะเป็น

เมื่อไม่นานมานี้ องค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) ได้ปรับปรุงข้อมูลในบัญชีจำแนกสถิติของโรคและปัญหาสุขภาพฉบับล่าสุด หรือ ICD-11 (International Classification of Diseases) เพิ่มเติมให้การติดเกม (Gaming Disorder) มีสถานะเป็นโรคหนึ่ง ซึ่งได้นำไปสู่การถกเถียงมากมายว่า “พฤติกรรม” อื่น ๆ จะถือว่าเข้าข่ายเป็นโรคด้วยหรือไม่

นิยามของ “ภาวะเสพติด” (addiction) คือโรคที่เป็นผลมาจากการเปลี่ยนของสารเคมีในสมอง ซึ่งมีสาเหตุมาจากการใช้แอลกอฮอล์หรือยาอย่างไม่สามารถต้านทานต่อแรงผลักดันทางจิตใจได้ ซึ่งครอบคลุมถึง “การใช้” ในปริมาณมากเกินไป อันเป็นการบ่อนทำลายสุขภาพ ความสัมพันธ์ หน้าที่การงาน และส่วนอื่น ๆ ของชีวิตปกติ นิยามข้างต้นได้รับการสนับสนุนจากงานวิจัยเกี่ยวกับสมอง ขณะที่ผลการศึกษาบางชิ้นบ่งชี้ว่า การเล่นเกมมากเกินไปอาจส่งผลกระทบต่อสมองในลักษณะเดียวกัน

สำหรับคำนิยามที่ให้ความหมายกว้าง ๆ นายแพทย์วอลเตอร์ ลิง จิตแพทย์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียลอสแอนเจลิส ในสหรัฐ ระบุว่า เป็นโรคของพฤติกรรมสุดขั้ว พฤติกรรมใด ๆ ก็ตามที่ปฏิบัติอย่างสุดขั้วจนครอบงำบุคคลนั้น ๆ และดึงเขาออกจากวิถีปฏิบัติที่ควรจะเป็น ซึ่งสมาคมจิตแพทย์อเมริกันเรียกการเล่นวิดีโอเกมมากเกินไปว่าเป็นเพียง “สภาพ” ไม่ใช่โรคหรือการวินิจฉัยโรคอย่างเป็นทางการ และย้ำว่าจำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมมากกว่านี้

นายแพทย์แอนดรูว์ แซกซอน จากสมาคมฯ อธิบายว่า ยาบางประเภท รวมถึงโอปิออยด์และแอลกอฮอล์ สามารถกระตุ้นต่อวงจรการให้รางวัลของสมองอย่างมากเกินได้ ซึ่งโดยปกติระบบดังกล่าวจะสนองตอบต่อพฤติกรรมที่มีความจำเป็นต่อการอยู่รอด เช่นการกินหรือดื่ม สารเคมีในสมองที่เรียกว่าโดปามีนจะเป็นตัวควบคุมพฤติกรรมเหล่านี้ ซึ่งสารเสพติดก็อาจทำให้เกิดการหลั่งโดปามีนในปริมาณมากได้เช่นกัน โดยจะกระตุ้นให้เกิดการทำซ้ำ และทำมากขึ้นเพื่อให้เกิดผลตอบสนองในระดับเดิม กระทั่งสมองไม่สามารถควบคุมการใช้สารนั้นได้

กาเฟอีนเป็นสารกระตุ้นที่ทำให้ระบบการให้รางวัลทำงานได้เช่นกัน แต่ในระดับที่เบาบางกว่าสารเสพติดมาก โดยสิ่งที่เรียกว่า “รางวัล” สามารถทำให้บุคคลตื่นตัวมากขึ้น ซึ่งมักจะทำให้เกิดอาการถอนเมื่อพยายามหยุด เช่นอาการปวดศีรษะและอ่อนล้า แม้จะไม่ก่อให้เกิดผลเสียร้ายแรงเช่นการใช้ยาเสพติด แต่ผู้ที่บริโภคกาเฟอีนบางคนอาจมีอาการ “ทนทาน” จนต้องเพิ่มปริมาณเพื่อให้สามารถรู้สึกกระปรี้กระเปร่าได้เช่นเดิม โดยดับเบิลยูเอชโอได้กำหนดให้ “การพึ่งพิงกาเฟอีน” เป็นภาวะผิดปกติ

ทั้งนี้ เมื่อกล่าวถึง ‘พฤติกรรม’ ปัจจุบันมีเพียงการติดการพนันที่สมาคมฯ ระบุไว้ในคู่มือการวินิจฉัยว่าเป็นภาวะเสพติด ซึ่งผู้ป่วยจะต้องแสดงอาการหลายอย่าง รวมถึงการเล่นพนันซ้ำ ๆ โดยเพิ่มเงินเดิมพันขึ้นเรื่อย ๆ โกหกเพื่อปกปิดการเล่นพนัน รู้สึกกระวนกระวายเมื่อไม่ได้เล่นหรือพยายามเลิก และหน้าที่การงานหรือความสัมพันธ์ล้มเหลวจากการเล่นพนัน ซึ่งงานวิจัยชี้ว่า การเล่นการพนันมากเกินไปสามารถก่อให้เกิดผลกระทบต่อสมองได้ในลักษณะเดียวกันกับการใช้ยาเสพติด

ทั้งนี้ การติดเซ็กซ์ยังไม่นับว่าเป็นภาวะเสพติดตามคู่มือของสมาคมฯ เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานมากพอที่จะบ่งชี้ถึงปฏิกิริยาที่เกิดในสมองจากพฤติกรรมดังกล่าว ขณะที่การใช้อินเทอร์เน็ตและสมาร์ทโฟนมากเกินไป ยังไม่นับเป็นการเสพติดในนิยามของทั้งสมาคมฯ และดับเบิลยูเอชโอ เนื่องจากการใช้งานสิ่งเหล่านี้มากเกินไป อาจมีเหตุมาจากความจำเป็นด้านการทำงานหรือการประกอบอาชีพ....

23 August 2561

ที่มา เดลินิวส์

Posted By Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 2991

 

Preset Colors