02 149 5555 ถึง 60

 

ห่วงเด็กไทยติดจอวันละ 5 ชม. เสพติด เฟซบุ๊ก ติดกับดักโลกสวย เสี่ยงซึมเศร้า-อีคิวลด

ห่วงเด็กไทยติดจอวันละ 5 ชม. เสพติด เฟซบุ๊ก ติดกับดักโลกสวย เสี่ยงซึมเศร้า-อีคิวลด

เด็กไทยยุค Gen Z ติดหน้าจอวันละ 5 ชั่วโมง หนีพ่อแม่ส่องเฟซบุ๊กมาเล่น “ทวิตเตอร์” เพิ่มขึ้น เลือกโพสต์เฉพาะด้านดี เน้นวัตถุนิยม เสี่ยงก่อโรคซึมเศร้า 46% เคยถูกแกล้งทางโลกออนไลน์ เตือนพ่อแม่ใช้ไอทีเลี้ยงลูก “อีคิว” ยิ่งลด จัดแคมป์ช่วยเด็กสร้างมายด์เซตรับมือการเปลี่ยนแปลงกระแสโลก

วันนี้ (16 ส.ค.) ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมูลนิธิธรรมดี มูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด และศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) เปิดตัวโครงการ “ไทยแลนด์ ซูเปอร์แคมป์” ภายใต้โครงการปิดเทอมสร้างสรรค์ โดย นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า ปัจจุบันเด็กไทยใช้เวลากับหน้าจอท่องอินเทอร์เน็ต 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือเฉลี่ยวันละ 5 ชั่วโมง สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกถึง 3 ชั่วโมง ที่น่าสนใจคือ พฤติกรรมเด็กเยาวชนยุค Gen Z จากการสรุปข้อมูลการใช้งานโซเซียลมีเดียของคนไทยในปี 2561 โดยบริษัท โธธ โซเซียล จำกัด พบว่า วัยรุ่นหนีพ่อแม่มาเล่นทวิตเตอร์มากขึ้นแทนการเล่นเฟซบุ๊ก สาเหตุมาจากต้องการหนีพ่อแม่ที่คอยส่องเฟซบุ๊กลูก อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสื่อดิจิทัลจะกลายเป็นเทคโนโลยีในชีวิตประจำวันของเด็กและเยาวชน หรือที่เรียกว่า ยุคดิจิทัลโดยกำเนิด แต่จากการสำรวจสถานการณ์เด็กไทยกับภัยออนไลน์ มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย พบว่า 95% เด็กเยาวชนตระหนักดีว่าอินเทอร์เน็ตมีอันตราย 70% รู้ว่าเพื่อนออนไลน์ไม่พูดความจริง แต่ก็พบว่าเด็กเยาวชนเกือบ 46% เคยถูกแกล้งทางออนไลน์

“สังคมโลกออนไลน์ส่วนใหญ่เลือกจะนำเสนอด้านดีของตัวเอง หรือจัดฉากเสนอชีวิตที่ดี เช่น การโพสต์ภาพมื้ออาหารสุดหรู ไปเที่ยว ใช้ของราคาแพง หรือการใช้แอปพลิเคชันแต่งรูปก่อนโพสต์ สิ่งเหล่านี้กำลังสะท้อนสังคมที่เน้นค่านิยมทางวัตถุ และจะส่งผลต่อภาวะซึมเศร้า เมื่อโลกแห่งความเป็นจริงไม่เป็นไปอย่างที่หวังไว้ หรือมีการเปรียบเทียบกับคนอื่นที่นำเสนอชีวิตในโลกออนไลน์ การส่งเสริมคุณธรรมแก่เยาวชนจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยยึดโยงจิตใจให้เข้มแข็ง เพราะผู้ปกครองไม่สามารถอยู่กับเยาวชนได้ตลอดเวลา สสส. จึงสนับสนุนโครงการไทยแลนด์ ซูเปอร์แคมป์ เพื่อสนับสนุนให้เด็กเยาวชนใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์และส่งเสริมคุณธรรมโดยออกแบบกิจกรรมในรูปแบบค่ายที่สนุกสนานเพื่อดึงเด็กออกจากหน้าจอให้มากที่สุด” นพ.ไพโรจน์ กล่าว

พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เด็กยุค Gen Z เป็นเด็กที่เติบโตมาพร้อมพร้อมกับสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย มีความสามารถในการใช้งานเทคโนโลยีต่างๆ และเรียนรู้ได้เร็ว โดยใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่บนเว็บไซต์ สื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ตเป็นหลัก ซึ่งปัญหาการติดโซเชียลฯ ของเด็กไทยนับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยส่วนหนึ่งเกิดจากวิธีการเลี้ยงดูของพ่อแม่ที่ใช้อุปกรณ์ไอทีเลี้ยงลูก ทำให้ความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) ของเด็กลดลง เนื่องจากขาดปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างและกิจกรรมที่ได้เรียนรู้จากธรรมชาติ รวมถึงการขาดการยอมรับและนับถือตนเอง ทำให้เด็กรู้สึกว่าด้อยคุณค่าในตัวเอง เกิดความทุกข์จากการเปรียบเทียบ ระหว่างตนเองและเพื่อนในสังคมออนไลน์ ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคซึมเศร้าจากโลกเสมือนจริงขึ้นได้ วิธีแก้ไขปัญหานี้ คือ การสร้างมายด์เซ็ตด้านคุณธรรมให้เยาวชนได้รู้กระบวนการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ รู้เท่าทันโลกออนไลน์ รวมถึงเข้าใจตนเองและคนรอบข้าง มีสติในควบมอารมณ์ร่วมถึงสร้างวินัยให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นนิสัยใหม่ในที่สุด

พญ.จิราภรณ์กล่าวว่า เด็กยุคใหม่มีปัญหาจากการใช้อินเทอร์​เน็ต​มาก​ขึ้น จากการเก็บข้อมูลในสหรัฐอเมริกา​ พบว่า จำนวนเด็กที่ติดเกมนั้นจะมี 10-15% ที่มีภาวะโรคซึมเศร้า​​ สมาธิสั้น​ ความสัมพันธ์ในครอบครัวลดลง​ ​ทั้งยังพบด้วยว่า เด็ก 4-5% มีการฆ่าตัวตายจากภาวะซึมเศร้า​ จากการติดเกมและโซเชียลฯ​ และจะเห็นได้ว่า ปัจจุบันไม่ค่อยพบเด็กตามสวนสาธารณะ​ ทำให้สมองส่วนความคิดวิเคราะห์มีการใช้น้อย​ลง​ มีแต่การใช้สมองส่วนความอยาก เวลาไม่ได้เล่นเกมก็จะหงุดหงิด มีอาการเหมือนการติดยา​ ซึ่งในคลินิกวัยรุ่นขณะนี้พบว่ามีการจองคิวยาวเป็นปี โดย 3 อันดับแรกที่มาปรึกษา คือ​ เด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าว​ มีภาวะซึมเศร้า​ และผลการเรียนไม่ดี​ จากปัญหาการติดเกมและเล่นอินเทอร์เน็ต​ ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่​

“เช่นเดียวกับการเล่นเฟซบุ๊ก​ที่เมื่อเสพไปเรื่อยๆ จะมีผลทำให้เด็กเป็นโรคซึมเศร้า​ โดยเฉพาะ​คนมีความทุกข์จะอยู่ในโลกนี้ยาก​ เนื่องจากในโลกที่สร้างขึ้นมาเสมือนจริงนั้นสวยงาม​ เมื่อเอาชีวิตตัวเองไปเปรียบกับคนอื่น​ก็จะทุกข์​ จนทำให้เยาวชนยุคใหม่มีโรคหลงตัวเอง​ หลอกตัวเองเพิ่มมากขึ้น​ เยาวชนจะไม่มีวินัย มีแต่ความคิดอยากได้อยากมี ไม่มีความอดทน​ เนื่องจากไม่เคยฝึกเรื่องความอดทน​ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของเกมกับเฟซบุ๊กนั้นมีทั้งข้อดีข้อเสีย สิ่งที่สำคัญคือผู้ปกครองต้องรู้จักใช้ให้เกิดประโยชน์ รู้จักการตั้งกติกา​ ​โดยยึดหลักใจดี​ เข้าใจ​ แต่เอาจริง คือ ต้องมีการกำหนดเวลาในการเล่น หากลูกเล่นเกินเวลาก็จะมีบทลงโทษเป็นต้น โดยใช้ช่วงเวลาทอง คือ ก่อนซื้อโทรศัพท์ต่อรองกับลูก” พญ.จิราภรณ์กล่าว

นายดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานมูลนิธิธรรมดี กล่าวว่า จากกระแสความเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและนอกประเทศ ทำให้เยาวชนไทยยุคปัจจุบันมีพฤติกรรมเสี่ยงมากขึ้น ขาดจิตสำนึก คุณธรรม วินัย ความซื่อสัตย์ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนเหนือประโยชน์ส่วนรวม ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ในสังคม เพื่อสร้างเยาวชนไทยให้เป็นคนที่สมบูรณ์ มีสมรรถนะทางกาย มีจิตใจ และจิตสำนึกที่ดีงาม มีคุณธรรมในด้านความพอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา และรับผิดชอบ มูลนิธิธรรมดีร่วมกับ สสส. จึงจัดค่าย “ไทยแลนด์ ซูเปอร์แคมป์” โดยมุ่งเน้นการพัฒนาอีคิวเพื่อสร้างมายด์เซ็ตคุณธรรม 5.0 ซึ่งเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการจะมีโอกาสได้ผจญภัยไปกับความคิดของตัวเอง และการทำกิจกรรมกลุ่มมายด์เซต 5.0 อาทิ กิจกรรม ECO KIDS 5.0 Smart Heart ศิลปะเปลี่ยนโลก และTeamwork Tournament ศีล 5 ซึ่งจะเป็นประสบการณ์ที่จะสอนให้ผู้เข้าร่วมโครงการเกิดการเรียนรู้ พร้อมสื่อสารไปยังครอบครัวและสังคมโดยอัตโนมัติ มีความพร้อมในการเป็นตัวอย่างของเยาวชนต้นแบบ ผู้มีคุณธรรมจริยธรรม ตั้งมั่นในความพอเพียงซื่อสัตย์และสุจริต โดยจะจัดขึ้นในรุ่น ป.4-6 วันที่ 8-13 ต.ค. และรุ่น ม.1-3 วันที่ 15-20 ต.ค. ที่ค่ายกรุงเทพวันวาน เปิดรับสมัครแล้วถึงวันที่ 15 ก.ย. 2561 ไม่มีค่าใช้จ่าย รับรุ่นละ 50 คน

16 August 2561

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 2241

 

Preset Colors