02 149 5555 ถึง 60

 

การปฐมพยาบาลทางใจออนไลน์ ช่วยลดการฆ่าตัวตาย

การปฐมพยาบาลทางใจออนไลน์ ช่วยลดการฆ่าตัวตาย

กรมสุขภาพจิต ร่วมมือญี่ปุ่น ลงนามจัดหลักสูตร "การปฐมพยาบาลทางใจออนไลน์" รับมือภัยพิบัติ - ความรุนแรง 3 อาการเด่น "หลอน-เร้า-หลบ" คาดมีคนไทยเป็นโรคนี้ 1.7 แสนกว่าคน

เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2561 ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร ในงานประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติครั้งที่ 17 ประจำปี 2561 กรมสุขภาพจิตได้จัดพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกรมสุขภาพจิตโดยนาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิตกับ ศาสตราจารย์นายแพทย์โยชิฮารุ คิม (Prof.Dr.Yoshiharu Kim) ประธานศูนย์ข้อมูลด้านความเครียดและสุขภาพจิตภัยพิบัติแห่งชาติประเทศญี่ปุ่น(President National Information Center of Stress and Disaster Mental Health, Japan ) เพื่อพัฒนาระบบบริการด้านสุขภาพจิตในภาวะภัยพิบัติซึ่งมีแนวโน้มเกิดถี่และรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะการปฐมพยาบาลทางใจ ( Psychological First Aid : PFA) ใช้ดูแลให้กำลังใจขั้นต้นแก่ผู้ประสบภัยหรือรอดชีวิตจากเหตุภัยพิบัติทุกประเภทรวมทั้ง อุบัติเหตุ อัคคีภัย ความรุนแรงทางสังคม ซึ่งก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานทั้งต่อบุคคล ครอบครัว ชุมชนและสังคมได้อย่างทันการ

อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวว่า ตามกรอบบันทึกข้อตกลงครั้งนี้ มีระยะเวลา 1 ปี มีความร่วมมือกันใน 3 เรื่อง ประกอบด้วย 1. การศึกษา ฝึกอบรม การวิจัยและพัฒนานโยบายที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพจิตและการปกป้องสิทธิมนุษยชนแก่ผู้รอดชีวิตจากภัยพิบัติ 2. ร่วมวิจัยเรื่องการปฏิบัติใช้การปฐมพยาบาลทางใจ โดยจะมีการจัดทำหลักสูตรการเรียนเรื่องการปฐมพยาบาลทางใจทางระบบออนไลน์ หรือ PFA e-learning ซึ่งเป็นมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก เปิดกว้างให้บุคลากรทุกสาขาอาชีพและประชาชนทั่วไปได้เรียนรู้โดยไม่มีข้อจำกัดทางด้านเวลา สถานที่ ในหลักสูตรนี้จะมีทั้งความรู้เรื่องการปฐมพยาบาลทางใจ วิธีการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ผู้รอดชีวิตจากเหตุภัยพิบัติ เหยื่อความรุนแรงทั้งเด็กและผู้ใหญ่ที่เหมาะสม ซึ่งมีหลักปฏิบัติง่ายๆเพียง 3 อย่าง จำง่ายๆคือ 3 ส.หรือ 3Lคือ สอดส่องมองหา (Look) ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ ,ใส่ใจรับฟัง (Listen) และส่งต่อเชื่อมโยง (Link )ให้ได้รับการดูแลกรณีมีความเสี่ยงสูง เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประสบภัยฟื้นคืนสู่สภาวะปกติโดยเร็ว ป้องกันผลกระทบระยะยาว โดยเฉพาะโรคเครียดภายหลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญ หรือโรคพีทีเอสดี (Post Traumatic Stress Disorder:PTSD) ซึ่งมักเกิดหลังเหตุการณ์รุนแรงประมาณ 6 สัปดาห์ รวมทั้งวิธีการดูแลใจของผู้ที่เป็นทีมกู้ชีพกู้ภัยอื่นๆ อาสาสมัครต่างๆ ที่อาจเกิดความเครียดสะสมจากการทำงานแข่งกับเวลาเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย ภายใต้ความเสี่ยงภัยตนเอง และ3. ร่วมกันพัฒนาและผลักดันนโยบายที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตจากภัยพิบัติ เพื่อขยายผลใช้ในภูมิภาคเอเชียทุกประเทศและในระดับนานาชาติด้วย

ในการดำเนินการดังกล่าวนี้กรมสุขภาพจิตได้มอบหมายให้ 4 หน่วยงานหลักคือ โรงพยาบาลจิตเวชสงขลาราชนครินทร์ ศูนย์สุขภาพจิตที่ 12 กองบริหารระบบบริการสุขภาพจิต และสำนักระบาดวิทยาสุขภาพจิต เป็นแกนหลักประสานทำงานร่วมกับคณะทำงานของญี่ปุ่น ในเบื้องต้นนี้จะทำหลักสูตรเป็น 2 ภาษาก่อนคือไทย และมลายู เพื่อใช้ทั้งประเทศและในพื้นที่4 จังหวัดชายแดนใต้ คาดว่าจะสามารถนำขึ้นเวปไซต์ ในอีกไม่เกิน 6 เดือน จากนั้นจะมีการวิจัยประสิทธิภาพของหลักสูตรด้วย และในอนาคตจะเพิ่มอีก 4 ภาษาเพื่อให้ผู้ใช้แรงงานที่มาจากกัมพูชา เมียนมาร์ ลาว และเวียดนาม ที่มีนับล้านคน ได้เรียนรู้และเอาไปใช้ได้ด้วยหากเกิดสถานการณ์

"สำหรับโรคพีทีเอสดีนั้น เป็นโรคทางจิตเวชที่มีโอกาสพบได้มาก หากผู้รอดชีวิตทุกวัยไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยา ดูแลจิตใจมาตั้งแต่ต้นหรือทันทีหลังเกิดเหตุ มีลักษณะอาการเด่นสำคัญ 3 อาการ คือ หลอน –เร้า –หลบ กล่าวคือ มีภาพเก่าๆผุดในสมองอยู่เนืองๆ เมื่อได้ยินเสียงดังคล้ายเหตุการณ์ที่ประสบมาจะมีอาการใจสั่น กลัวและมักจะหลบหรือไม่กล้าที่จะไปตรงจุดที่เกิดเหตุคนเดียว อาการเหล่านี้จะรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันมากจนถึงขึ้นทำงาน เรียนหนังสือไม่ได้ ผลสำรวจล่าสุดในปี 2556 และปี 2559 ประเทศไทยพบอัตราเกิดในผู้ที่มีอายุ 13 ปี ขึ้นไป เฉลี่ยร้อยละ 0.3 คาดว่าทั่วประเทศจะมีคนป่วยโรคนี้ประมาณ 170,000 คน ทั้งนี้ประเทศไทยได้นำการปฐมพยาบาลทางใจมาใช้ตั้งแต่พ.ศ.2553 แต่ยังใช้ค่อนข้างวงจำกัดคือในกลุ่มบุคลากรทีมสุขภาพจิตเอ็มแคท หรือทีมเยียวยาใจ และอสม.เชี่ยวชาญสุขภาพจิตชุมชน คาดว่าเมื่อขยายหลักสูตรเป็นแบบออนไลน์ให้ประชาชนทุกกลุ่มเข้าถึงด้วย มั่นใจว่าจะลดปัญหาการเกิดโรคทางจิตเช่นโรคซึมเศร้า ฆ่าตัวตายหลังเกิดเหตุการณ์รุนแรงลงได้มาก และจะช่วยให้ผู้ประสบภัย ฟื้นตัวกลับสู่สภาวะปกติได้เร็วยิ่งขึ้น" อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว

ทางด้านศาสตราจารย์นายแพทย์โยชิฮารุ คิมประธานศูนย์ข้อมูลด้านความเครียดและสุขภาพจิตภัยพิบัติแห่งชาติประเทศญี่ปุ่นกล่าวว่า ที่ญี่ปุ่นพบอัตราการเกิดโรคพีทีเอสดีร้อยละ 1.3 ผู้ที่เป็นส่วนใหญ่ไม่ไปรับการรักษาเนื่องจากไม่ตระหนักและรู้สึกอาย ขณะนี้ญี่ปุ่นได้พัฒนาบุคลากรในการปฐมพยาบาลทางใจช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติหลายระดับ เช่นระดับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ภาคประชาสังคม ประชาชน และตำรวจซึ่งเป็นผู้เข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยในระยะต้นหลังเกิดภัยพิบัติ จัดทำฐานข้อมูลผู้ผ่านการอบรมเพื่อเป็นเครือข่ายการทำงานในพื้นที่ โดยได้จัดทำเป็นคู่มือการปฐมพยาบาลทางใจและทำสื่อการสอนเรื่องนี้ทางระบบออนไลน์คือwww.mhpss-Elearning.aecelight.jp เพื่อเป็นทางเลือกหนึ่งในการให้ความรู้แก่ประชาชนที่ไม่สามารถไปเข้าร่วมการอบรมได้ และได้ร่วมมือขยายหลักสูตรนี้ในประเทศมาเลเซียด้วย ผลการวิจัยพบว่ามีประสิทธิภาพไม่ต่างจากการฝึกอบรมทั่วไป

ทั้งนี้ ข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติ รายงานช่วง10 ปี ตั้งแต่พ.ศ.2548-2557 ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากภัยพิบัติเช่นน้ำท่วม แผ่นดินไหว คลื่นสีนามิ 7 แสนคน ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,700 ล้านคน

6 August 2561

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

Posted By Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 1683

 

Preset Colors