02 149 5555 ถึง 60

 

สธ.สั่ง รพ.ใกล้เขื่อนเตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วม ทำแผนดูแลประชาชน

สธ.สั่ง รพ.ใกล้เขื่อนเตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วม ทำแผนดูแลประชาชน

สธ.สั่ง รพ.พื้นที่ใกล้เขื่อนรับมือ “น้ำท่วม” ขนยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ขึ้นที่ปลอดภัย เตรียมแผนป้องกันน้ำท่วมโรงพยาบาล สำรวจผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงทำแผนออกให้การดูแล พร้อมเตรียมหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ช่วยประชาชน

วันนี้ (5 ส.ค.) นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์น้ำในเขื่อนต่างๆ มีแนวโน้มจะต้องระบายน้ำออกจากเขื่อน ได้สั่งการศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (EOC) ส่วนกลาง ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมแจ้งเตือนให้โรงพยาบาลในพื้นที่เสี่ยงเกิดอุทกภัยจากการระบายน้ำของเขื่อนต่างๆ ดำเนินการ ดังนี้ 1.ขนย้าย ยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ เครื่องสำรองไฟ ไปไว้ในที่ที่ปลอดภัย 2.ป้องกันน้ำท่วมโรงพยาบาล โดยกั้นกระสอบทราย ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 3.สำรวจและสำรองยา เวชภัณฑ์ ออกซิเจน ไว้ให้พร้อมใช้งาน รวมทั้งยาช่วยชุดน้ำท่วม 4.สำรวจผู้ป่วยติดบ้าน ติดเตียง หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ในพื้นที่ ทำแผนออกให้การดูแล 5.เตรียมหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ พร้อมออกให้บริการประชาชนทันที และประสานเตรียมสถานที่ปลอดภัยให้บริการประชาชน หากน้ำท่วม ทางเข้า-ออกโรงพยาบาล

นพ.เจษฎา กล่าวว่า สำหรับจังหวัดเพชรบุรี ได้รับรายงานจากนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดถึงการเตรียมความพร้อมรับมืออุทกภัย เนื่องจากน้ำในเขื่อนแก่งกระจานต้องระบายน้ำออก คาดว่า น้ำจะเริ่มล้นอาคารระบายน้ำของเขื่อน ในวันที่ 5 สิงหาคม 2561 เวลาประมาณ 12.00 น. และมวลน้ำจะถึงแหล่งชุมชนในเทศบาลเมืองเพชรบุรี วันที่ 6 สิงหาคม 2561 เวลาประมาณ 24.00 น. ซึ่งคาดว่ามี 5 อำเภอ อาจได้รับผลกระทบ ได้แก่ อ.แก่งกระจาน อ.ท่ายาง อ.บ้านลาด อ.เมือง และ อ.บ้านแหลม จึงได้แจ้งเตือนหน่วยบริการสาธารณสุขทุกแห่ง เตรียมกั้นกระสอบทรายป้องกันน้ำท่วม และติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพชรบุรี และโรงพยาบาลพระจอมเกล้าฯ นอกจากนี้ ยังให้แต่ละอำเภอ สำรวจ ทรัพยากร เวชภัณฑ์ยา จำนวนผู้ป่วยติดบ้าน ติดเตียง หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ในพื้นที่ พร้อมประสานขอรับการสนับสนุนรถขับเคลื่อน 4 ล้อ ยกสูง เวชภัณฑ์ยาสำหรับช่วยเหลือผู้ประสบภัย 20,000 ชุด จากส่วนกลางเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

“ขอให้โรงพยาบาลในพื้นที่เสี่ยงติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ป้องกันน้ำท่วมสถานบริการ อย่าให้กระทบกับการให้บริการประชาชน และสามารถขอความช่วยเหลือสนับสนุนจากส่วนกลางได้ทันที โดยประสานมาที่สำนักงานสาธารณสุขฉุกเฉิน” นพ.เจษฎา กล่าว

น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ตนได้สั่งการให้โรงพยาบาลจิตเวชในสังกัด 20 แห่งทั่วประเทศ เตรียม 2 มาตรการ ได้แก่ 1.ป้องกันน้ำท่วมโรงพยาบาลไว้ล่วงหน้า สำรวจระบบไฟฟ้า น้ำประปาสำรองให้สามารถใช้การได้ทันที เมื่อเกิดภาวะฉุกเฉิน ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถจัดบริการประชาชนได้ตลอด 24 ชั่วโมง และ 2.เตรียมทีมสุขภาพจิตเอ็มแคท (MCATT) และเวชภัณฑ์ยาทางจิตเวช พร้อมสนับสนุนเครือข่ายที่มีครอบคลุมทุกอำเภอ เพื่อดูแลประชาชนรวมทั้งผู้ป่วยจิตเวชเดิมที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัยด้วย

“ในส่วนของชุมชนและประชาชน ขอให้เตรียมการและจัดวางแนวทางความพร้อมในการรับมือโดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม หรือดินโคลนถล่ม เพื่อลดความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินให้เหลือน้อยที่สุด ซึ่งจะช่วยลดความเครียดความทุกข์ใจได้มาก โดยชุมชนควรเตรียมข้อมูลเพื่อประสานความช่วยเหลือด้านสุขภาพอนามัย ความปลอดภัยชีวิตและทรัพย์สินและแจ้งเตือนประชาชนทุกครอบครัวให้เตรียมการรับมือกับน้ำท่วม พร้อมทั้งเตรียมแนวทางแก้ไขหรือประนีประนอมกรณีเกิดความขัดแย้งภายในหรือระหว่างชุมชน เช่น เรื่องการกั้นน้ำ เป็นต้น” น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าว

น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวว่า ส่วนระดับครอบครัวมีข้อแนะนำ 3 ข้อ ดังนี้ 1.เตรียมวางแผนป้องกันความเสียหายและอันตรายที่อาจเกิดขึ้นในครัวเรือน เช่น การกั้นน้ำไม่ให้เข้าบ้าน ดูแลเรื่องไฟฟ้า ประปา ที่จอดรถ 2.เตรียมการหากจำเป็นต้องอพยพ เช่น ทรัพย์สินมีค่า เด็ก ผู้ป่วย ผู้สูงอายุ ผู้พิการ เอกสารสำคัญ เสื้อผ้า ของใช้จำเป็น ยา แหล่งพักพิงและซักซ้อมความเข้าใจให้ทุกคนรู้เท่ากัน และ 3.ครอบครัวที่มีผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังควรเตรียมยาที่ต้องรับประทานเป็นประจำให้พร้อม หากยาใกล้หมด ขอให้ไปพบแพทย์ก่อนวันนัดได้ หากไม่สามารถเดินทางไปโรงพยาบาลตามแพทย์นัดได้ให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ หรือ อสม.ใกล้บ้านหรือโทรสายด่วน 1323 หรือ 1669 ฟรี เพื่อจะได้จัดส่งยาให้โดยเร็ว

6 August 2561

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 1022

 

Preset Colors