02 149 5555 ถึง 60

 

ชงบรรจุ “โรค” ควรใช้ “กัญชา” รักษาเพิ่ม ทั้งแข็งเกร็ง ปวดจากระบบประสาท โรคทางสมอง

ชงบรรจุ “โรค” ควรใช้ “กัญชา” รักษาเพิ่ม ทั้งแข็งเกร็ง ปวดจากระบบประสาท โรคทางสมอง

เผยแพร่: 30 ก.ค. 2561 16:20 ปรับปรุง: 30 ก.ค. 2561 16:48 โดย: MGR Online

“หมอธีระวัฒน์” ชงอาการและโรค ที่ควรใช้ “กัญชา” รักษาเพิ่มเติมจาก 3 กลุ่มโรค ทั้งอาการแข็งเกร็ง ปวดจากความผิดปกติระบบประสาท และโรคทางสมอง เสนอ คกก.พิจารณากัญชาทางการแพทย์และ รมว.สธ.แล้ว

วันนี้ (30 ก.ค.) ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา กรรมการพิจารณาการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ กล่าวว่า เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา นพ.โสภณ เมฆธน ประธานคณะกรรมการพิจารณาการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ให้ข้อมูลว่า เบื้องต้นกัญชาสามารถใช้รักษาได้ใน 3 โรค คือ แก้คลื่นไส้อาเจียนในคนไข้มะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัด โรคลมชักในเด็ก และปลอกประสาทอักเสบ อย่างไรก็ตาม จุดมุ่งหมายสำคัญของการปลดล็อกกัญชา คือ การให้ผู้ป่วยได้รับประโยชน์สูงสุด โดยเมื่อวันที่ 30 ก.ค. ตนได้รวบรวมข้อมูลในการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ในการรักษาภาวะโรคต่างๆ ที่ควรจะมีการบรรจุเพิ่มเติม ส่งไปยังคณะกรรมการพิจารณานำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ และ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว่า ภาวะโรคที่ควรบรรจุเพิ่มเติม อาทิ อาการแข็งเกร็ง การบิดของกล้ามเนื้อ ที่เกิดจากความผิดปกติของสมอง เช่น จากเส้นเลือดตันหรือแตก ความผิดปกติที่ระดับของไขสันหลัง หรือ เด็กหลังคลอดที่มีสมองพิการ หรือเจริญเติบโตผิดปกติ เป็นต้น อาการปวดทรมานที่นอกเหนือจากมะเร็ง หรือปวดจากความผิดปกติของเส้นประสาทหรือระบบประสาท เช่น อาการปวดจากการอักเสบของข้อ เส้นเอ็นและกล้ามเนื้อ ซึ่งปกติจะตัองใช้ยาแก้ปวดอย่างรุนแรง ภาวะของการปฏิเสธอาหารทั้งที่เกิดขึ้นจากโรคทางจิตประสาท anorexia nervosa และโรคทางกายที่เกิดขึ้นที่มีผลกระทบกับจิตใจ โรคทางสมอง ได้แก่ โรคพาร์กินสันส์ และโรคสมองเสื่อม เช่น อัลไซเมอร์ ที่พบได้มากในผู้สูงอายุ ซึ่งจะเป็นประโยชน์มากเพราะสังคมไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ

“การใช้ยังคงต้องระวัง เนื่องจากทำให้กระบวนการของสมองในการสั่งปฏิบัติงาน จะเฉื่อยลงบ้าง และจำเป็นต้องระวังอย่างกวดขัน ในการทำกิจกรรมที่สุ่มเสี่ยงอันตราย รวมทั้งการขับรถ ซึ่งในความเป็นจริงอาจไม่ต้องมีความเป็นห่วงมาก เพราะจุดมุ่งหมายเพื่อนำไปใช้ในผู้ป่วยซึ่งมีข้อจำกัดในการช่วยเหลือตนเอง และทำให้เป็นภาระกับคนรอบข้างถึงระดับที่ต้องมีคนในครอบครัวอยู่เป็นเพื่อนตลอดหรือต้องจ้างคนมาช่วยหรือต้องส่งไปยังสถานพักฟื้น ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานี้ไม่ได้เป็นโรคที่เกิดกับคนเดียวแต่มีผลกระทบกับคนรอบข้างไปทั่ว” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า จะเห็นว่ากัญชาสามารถนำมารักษาได้มากกว่าใน 3 กลุ่มโรคที่ทางคณะกรรมการย่อยได้ทำการเสนอ ซึ่งประเทศไทยมีกัญชาอยู่ทั่วไป แต่ถูกจำกัดและมองข้ามประโยชน์ ซึ่งก็ต้องทำความเข้าใจโดยเริ่มจากคณะกรรมการย่อย เพราะคณะกรรมการพิจารณาฯ ไม่ได้มีข้อจำกัด โดยข้อมูลทั้งหมดตนส่งไปยังคณะกรรมการ และ รมว.สธ.พิจารณาแล้ว

31 July 2561

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By ์์Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 387

 

Preset Colors