02 149 5555 ถึง 60

 

กรมสุขภาพจิต ออกข้อชี้แนะผู้ปกครอง-สื่อ ร่วมกันฟื้นฟูสภาพจิตใจ13หมูป่า

กรมสุขภาพจิต ออกข้อชี้แนะผู้ปกครอง-สื่อ ร่วมกันฟื้นฟูสภาพจิตใจ13หมูป่า

กรมสุขภาพจิต ออกข้อชี้แนะ ผู้ปกครอง-สื่อ-คนรอบข้าง เพื่อร่วมกันดูแลฟื้นฟูสภาพจิตใจและสังคมของทีมหมูป่า

กรมสุขภาพจิต ออกข้อชี้แนะผู้ปกครอง สื่อ และคนรอบข้าง ในการร่วมกันดูแลฟื้นฟูสภาพจิตใจและสังคมของทึมหมูป่าอะคาเดมีและโค้ชหลังออกจากโรงพยาบาล ให้กลับเข้าสู่การใช้ชีวิตตามปกติให้เร็วที่สุดโดยให้คำนึงถึงสิทธิเด็ก ความปลอดภัย ความพร้อมและข้อควรระวัง ปฏิบัติเป็นแนวทางเดียวกัน ป้องกันผลกระทบทางจิตใจระลอก 2

นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมการดูแลจิตใจของทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมีและโค้ช หลังจากออกจากโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ไปพักฟื้นที่บ้านว่า กรมสุขภาพจิตมีความเป็นห่วงในช่วงนี้ ซึ่งอยู่ในระยะของการฟื้นฟูสภาพจิตใจและสังคมให้กลับมาใช้ชีวิตตามปกติให้เร็วที่สุด ประเด็นสำคัญคือ การป้องกันผลกระทบทางจิตใจของเด็กและโค้ชระลอก 2 หลังจากที่ผ่านพ้นการเผชิญวิกฤติความเครียดแล้ว จึงได้จัดทำคำแนะนำ ข้อควรระมัดระวังในการถามเด็ก และข้อเสนอแนะในเชิงจิตวิทยา ซึ่งสอดคล้องกับหลักสากล 2ประการ เพื่อให้ทุกฝ่ายทั้งผู้ปกครอง สื่อมวลชนต่างๆ และคนรอบข้าง ใช้ปฏิบัติเป็นแนวเดียวกัน โดยคำนึงถึงสิทธิของเด็ก ความปลอดภัย และความพร้อม ดังนี้

1. หลังจากเด็กๆ และโค้ชฟื้นตัวจากการฟื้นฟูทางร่างกาย ควรจะปฏิบัติต่อทุกคนเทียบเท่ากับเป็นผู้ประสบภัย ซึ่งตามแนวทางการดูแลและคุ้มครองเด็กที่เป็นผู้ประสบภัยขององค์การอนามัยโลก และองค์การยูนิเซฟ (UNICEF) เน้นว่าทุกคนมีหน้าที่ในการช่วยกันคุ้มครองสิทธิและคำนึงถึงความปลอดภัยทั้งทางกายและจิตใจของเด็กเป็นสูงสุดในช่วงเวลาการฟื้นฟูหลังเหตุการณ์ โดยเน้นการให้เวลา ให้พื้นที่ความเป็นส่วนตัวเพื่อให้เด็กกลับเข้าสู่สภาวะการใช้ชีวิตตามปกติให้เร็วที่สุด จะช่วยให้เกิดกระบวนการฟื้นฟูทางจิตใจและสังคมของเด็กที่ดีที่สุด การนำเด็กๆ และโค้ชมาออกรายการต่างๆ อาจกลายเป็นผลลบที่ส่งผลกระทบต่อเด็กๆ ได้ในหลายรูปแบบ

2. การสัมภาษณ์หรือออกข่าวเด็กๆ และโค้ช ควรคำนึงถึงความพร้อมของเด็กเป็นสำคัญ สื่อและคนรอบข้าง ควรคำนึงถึงประเด็นเรื่องการละเมิดสิทธิเด็ก โดยเฉพาะการถามเพื่อสร้างเรื่องราวให้ดูเหมือนเป็นละคร จะยิ่งทำให้เกิดผลกระทบทางจิตใจเชิงลบได้ เช่น การทำให้รู้สึกผิดเกินจริง การถูกเป็นเป้าสายตาในช่วงระยะหนึ่งและหายไปเมื่อกระแสข่าวซาลง ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิเด็กในรูปแบบหนึ่ง

ทางด้านแพทย์หญิงรัชนี ฉลองเกื้อกูล ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กทม. กล่าวว่า การสัมภาษณ์เด็กควรมีน้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เพื่อให้เด็กกลับไปใช้ชีวิตปกติของตนเองให้เร็วที่สุด ลักษณะคำถามที่ควรใช้คือ คำถามปลายเปิดและเป็นเชิงบวก ให้เด็กๆได้เล่าเรื่องราวเอง ตามความพร้อมของแต่ละบุคคล ให้เด็กได้ทบทวนและรู้สึกถึงความภาคภูมิใจในความสามารถที่เด็กใช้ดูแลตัวเองและทีม ความเข้าใจต่อการช่วยเหลือของผู้ใหญ่ใจดีทั้งคนไทยและต่างชาติ

แพทย์หญิงรัชนีกล่าวต่อว่า ข้อที่พึงระมัดระวังและหลีกเลี่ยงก็คือ การใช้คำถามชี้นำ การรุกเร้าจี้ถามซ้ำๆ เหมือนถามผู้ต้องหา คำถามเชิงตำหนิเรียกร้องความรับผิดชอบ เรียกร้องให้สัญญาในสิ่งที่เด็กไม่พร้อมทำหรือทำไม่ได้เพราะจะยิ่งทำให้เด็กรำลึกถึงเหตุการณ์ที่หวาดกลัวขณะอยู่ในถ้ำ เกิดความรู้สึกผิดที่เกินกว่าความเป็นจริง ซึ่งอาจส่งผลต่อการพัฒนาการบุคลิกภาพของเด็ก การนำเสนอข่าวอย่างสร้างสรรค์ เช่น ถอดบทเรียนการเอาตัวรอดจากเหตุภัยพิบัติการวิเคราะห์ทักษะชีวิตที่จำเป็นสำหรับเด็ก ฯ มีประโยชน์มากกว่า การเสนอข่าวที่มุ่งเน้นการสร้างกระแสข่าว ตีความเอง หรือดราม่า เพราะอาจเป็นการทำร้ายจิตใจของเด็กนักฟุตบอลหมูป่า โค้ช และครอบครัวซ้ำ และอาจทำให้ประชาชนที่ติดตามข่าวผูกโยงเหตุการณ์ชีวิตตนเองกับเหตุการณ์ภัยพิบัติจนส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตของประชาชนได้

17 July 2561

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

Posted By sty_lib

Views, 436

 

Preset Colors