02 149 5555 ถึง 60

 

ต้อง"ถนอมใจ"หมูป่า เกรงมีแผลในใจ/อาจเกิดอาการ 2สัปดาห์หลังออกจากถ้ำ

ต้อง"ถนอมใจ"หมูป่า เกรงมีแผลในใจ/อาจเกิดอาการ 2สัปดาห์หลังออกจากถ้ำ

อธิบดีกรมสุขภาพจิต เผย ผู้ปกครองเด็กติดถ้ำสุขภาพจิตดี และเข้าใจในการทยอยนำเด็กออกมา ชี้ต้องดูแลสุขภาพจิตเด็กในระยะยาว ต้องให้กำลังใจ ให้ความอบอุ่น ห่วงใย เกรงจะเกิดบาดแผลในจิตใจ (PTSD) คาด อาจแสดงอาการประมาณ 2 สัปดาห์หลังออกมา

9ก.ค.61-ที่กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข นาวาอากาศตรีนายแพทย์ บุญเรือง ไตรเรืองวรรัตน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงกรณีสุขภาพจิตใจของผู้ปกครองเด็กนักฟุตบอลทีมหมูป่าอะคาเดมี่ ซึ่งมีการทยอยนำเด็กออกมาแล้วจำนวนหนึ่ง เมื่อวันที่ 8 ก.ค. ว่า ขณะนี้จากข้อมูลทราบว่าได้นำตัวเด็กทั้ง 4 คน ที่มีการทยอยนำออกมาก่อนได้อยู่ในความดูแลของ รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์แล้ว จากการติดตามข้อมูลของทีมจิตแพทย์ รพ.สวนปรุง จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับรพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ จังหวัดเชียงราย พบว่า ผู้ปกครองของทั้ง 13 คน ดีใจมาก คลายความวิตกกังวล หลังเจ้าหน้าที่ได้นำเด็กๆ ส่วนหนึ่งออกจากถ้ำหลวงได้ ซึ่งได้มีการทำความเข้าใจกับผู้ปกครองก่อนนำเด็กออกมาจากถ้ำว่าจะมีการนำเด็กออกมาตามความพร้อมของเด็ก ซึ่งประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญที่อยู่ภายในถ้ำ จากความฟิตของสภาพร่างกายเป็นหลัก ทั้งกล้ามเนื้อ และกำลังแขนขา เพราะระยะทางที่ออกมาค่อยข้างไกล ซึ่งผู้ปกครองได้เข้าใจดี และคลายความกังวล เพราะเห็นถึงความพร้อมและความตั้งใจของทีมช่วยเหลือที่มีศักยภาพสูง ทั้งทีมนักประดาน้ำจากระดับโลก หน่วยซีล ร่วมปฏิบัติการครั้งนี้ด้วย ไม่มีปัญหาเหมือนที่มีการตั้งคำถามในสังคมออนไลน์ จากนี้ ต้องรอการเติมก๊าซออกซิเจนอีก 10-15 ชม. จึงจะเริ่มปฏิบัติการช่วยเหลือ

นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง กล่าวอีกว่า ขณะนี้เด็กทุกคนกำลังอยู่ในการดูแลร่างกาย ฟื้นฟู ดูความสมบูรณ์ของร่างกาย ซึ่งจากการที่ได้พูดคุยกับแพทย์ พยาบาลก็พบว่าเด็กร่าเริงดี มีการยิ้มแย้ม มีกำลังใจที่ดี ซึ่งก็ได้รับประทานอาหารเหลวทางการแพทย์ และนอนหลับพักผ่อนดี ร่างกายกำลังปรับสภาพ ซึ่งสร้างความสบายใจให้กับทีมแพทย์ ส่วนการฟื้นฟูสภาพจิตใจ จะทำภายหลัง แม้ว่า ที่ผ่านมามีการประเมินสภาพจิตใจผ่านคลิปวิดิโอ หรือข้อความ ที่เด็กๆเขียนถึงครอบครัวก็สบายใจได้ระดับหนึ่ง แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงความรู้สึกผิดที่อาจติดตัวกับเด็ก ซึ่งต้องมีการพูดคุยดูแลสภาพจิตใจในระยะยาว โดยการให้กำลังใจกัน ให้ความอบอุ่น ไม่ตำหนิ ไม่ซักถา ซ้ำๆ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการตอกย้ำและไม่ให้เด็กรู้สึกเป็นเพราะตัวเองทำให้เกิดเป็นปัญหากับคนอื่น โดยการปล่อยให้เด็กได้ใช้ชีวิตปกติ เพราะมิเช่นนั้นเกรง จะเกิดโรคบาดแผลในจิตใจ (PTSD) ที่คาดว่า อาจแสดงอาการประมาณ 2 สัปดาห์ ซึ่งหากได้รับกำลังใจ ความอบอุ่น ห่วงใยก็จะทำให้ภาวะดังกล่าวลดน้อยลงหรือไม่เกิดขึ้นเลย โดยควรพูดคุยซักถามเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม ในเรื่องการเอาตัวรอดจากภัยพิบัติ เพื่อให้เกิดกำลังใจ.

10 July 2561

ที่มา ไทยโพสต์

Posted By sty_lib

Views, 439

 

Preset Colors