02 149 5555 ถึง 60

 

จิตแพทย์ย้ำ 13 ชีวิตไม่ใช่ฮีโร่ แต่เป็นผู้รอดชีวิต ขออย่าต่อว่าซ้ำเติมเหตุการณ์ที่ผ่านไปแล้ว

จิตแพทย์ย้ำ 13 ชีวิตไม่ใช่ฮีโร่ แต่เป็นผู้รอดชีวิต ขออย่าต่อว่าซ้ำเติมเหตุการณ์ที่ผ่านไปแล้ว

เผยแพร่: 4 ก.ค. 2561 14:57 ปรับปรุง: 4 ก.ค. 2561 18:01 โดย: MGR Online

จิตแพทย์ย้ำ 13 ชีวิตติดถ้ำหลวง คือ “ผู้รอดชีวิต” ไม่ใช่วีรบุรุษ สังคมอย่าเข้าใจผิด แต่ไม่ควรซ้ำเติม ตำหนิ ต่อว่า โดยเฉพาะโค้ช ชี้เหตุการณ์ผ่านไปแล้ว แนะส่งเสริมความเข้มแข็งให้ทั้งหมดผ่านวิกฤตจะดีกว่า เชื่อทั้ง 13 คน ยังมีพลังใจที่ดี

นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวถึงกระแสสังคมที่มีต่อนักฟุตบอลเยาวชนและโค้ช ทีมหมูป่าอะคาเดมี ทั้ง 13 คน ที่ติดในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย ว่า ต้องทำความเข้าใจให้ตรงกัน เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิด โดยเหตุการณ์ครั้งนี้ ชัดเจนว่า ทั้ง 13 คนไม่ใช่วีรบุรุษหรือฮีโร่ แต่พวกเขาอยู่ในฐานะผู้รอดชีวิต เป็นสิ่งที่ทุกคนรอคอยและยินดี ที่พวกเขารอดชีวิตออกมา แต่ก็ไม่ใช่กลุ่มคนที่จะต้องถูกตำหนิหรือต่อว่าเช่นกัน สิ่งที่ควรทำ คือ ไม่ซ้ำเติม แต่ควรส่งเสริม เช่น สนับสนุนให้เล่นฟุตบอลตามที่ถนัด ส่งเสริมเรื่องความเข้มแข็งจนผ่านวิกฤตได้ เพื่อให้เด็กมีชีวิตต่อไปอย่างมีคุณค่าและมีศักดิ์ศรี

“เด็กที่รอดชีวิตออกมาการที่ติดในถ้ำเป็นระยะเวลานานเช่นนั้น คิดว่าเขารู้อยู่แล้วถึงผลกระทบและปัญหาต่างๆ ที่ตามมา และสิ่งที่เกิดขึ้นเขาก็ไม่ได้ตั้งใจเชื่อว่า คงไม่กลับไปทำเช่นนั้นอีก นอกจากนี้ ต้องไม่ไปยกย่องสรรเสริญว่า เป็นวีรบุรุษ สังคมต้องเข้าใจบทบาทของแต่ละฝ่าย เพราะเขาคือผู้รอดชีวิต ไม่ใช่วีรบุรุษ วีรบุรุษคือทีมช่วยเหลือทุกทีมที่มีการจัดการที่ดีทั้งทีมที่ได้เปิดเผยตัวต่อสาธารณชน หรือที่ทำงานอยู่เบื้องหลังอีกมากที่ร่วมมือกันจนเจอเด็ก คนพวกนี้คือวีรบุรุษที่ต้องได้รับการยกย่อง ให้เขารู้สึกอิ่มเอมใจว่าสิ่งที่เขาทำเป็นสิ่งที่ดี ที่ถูกต้องในการช่วยเหลือจนเด็กรอดชีวิต” นพ.ยงยุทธ กล่าว

นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า ส่วนจากการประเมินสุขภาพจิตเบื้องต้นของทั้งเด็กและโค้ช พบว่า มีพลังใจที่ดี เชื่อว่า ไม่น่าจะมีปัญหาหรือบาดแผลในจิตใจ เนื่องจากการเผชิญวิกฤตครั้งนี้ ไม่ได้อยู่ลำพัง มีการรวมกันเป็นกลุ่ม จึงถือเป็นความเข้มแข็งอย่างหนึ่ง ทุกคนในกลุ่มต่างร่วมกันช่วยเหลือ ทำให้สามารถดำรงชีวิต และจิตใจเป็นปกติได้ ทั้งนี้ หากจะมีคนหนึ่งคนใดเกิดบาดแผลก็เชื่อว่า มีน้อยมาก จากนี้ต้องพยายามรักษาความเป็นกลุ่มแบบนี้ไว้ ประคับประคองกันดูแลกัน ส่งเสริมอย่าได้แยก หรือ ลดความสำคัญของความเป็นกลุ่มก้อน

ผู้สื่อข่าวถามถึงการที่เด็กร่วมกันวาดภาพร่วมกับหน่วยซีลบนก้อนหินภายในถ้ำ สะท้อนถึงอะไร นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า เขายังอยู่ข้างในใช้ชีวิตความเป็นอยู่ที่ทรมานมาหลายวัน ดังนั้น จึงเป็นกิจกรรมเพื่อผ่อนคลาย ชะลอการรอคอย ระหว่างที่รอเวลาออกมา ดังนั้น ก็ต้องยอมรับในการแสดงออกนั้น

นพ.ธรณินทร์ กองสุข ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวนปรุง กล่าวถึงกรณีโซเซียลมีเดียตั้งข้อสังเกตโค้ชค่อนข้างมีสีหน้ากังวล อาจเป็นการโทษตัวเองที่พาเด็กเข้าไป ว่า เนื่องจากโค้ชเป็นผู้ใหญ่คนเดียวและเป็นผู้ฝึกสอน การที่เด็กติดอยู่ในถ้ำหลายวันเช่นนี้เป็นไปได้ที่จะเกิดความเครียด ซึ่งก็ขึ้นกับเหตุการณ์ คือ 1. โค้ชเป็นคนนำเด็กเข้าไป และ 2. มีกระแสข่าวว่าโค้ชตามเข้าไปทีหลังเพื่อตามหาเด็กที่หายตัวไป ซึ่งเราไม่รู้ว่าเหตุการณ์จริงๆ เป็นเช่นไร ดังนั้น เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ในหลักจิตวิทยา เหตุการณ์มันผ่านไปแล้ว แก้ไขอะไรไม่ได้ สังคมก็ไม่ควรไปตอกย้ำว่า ทำไมโค้ชไม่ห้าม เพราะการที่คนๆ หนึ่งจะรู้สึกผิดมากน้อยขึ้นอยู่กับมุมมองของคนรอบข้าง หากสังคมยอมรับว่า นี่คืออุบัติเหตุ คือเหตุสุดวิสัยไม่มีใครอยากให้เกิดก็จะทำให้ความรู้สึกผิดลดน้อยลง ไม่เพิ่มมากขึ้นจนเป็นอันตราย นอกจากนี้ การที่จะเป็นความผิดฝังใจในอนาคตหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับบุคลิกดั้งเดิมแต่ละคนด้วย ซึ่งทราบว่า โค้ชเคยบวชเรียน เป็นหัวหน้าเด็กและมีสติในการดูแลเด็กขณะอยู่ในถ้ำ คิดว่าความเข้มแข็งก็น่าจะมีมากกว่าคนอื่น ไม่น่าจะมีปัญหาหากสังคมไม่ไปตอกย้ำ

นพ.ไพโรจน์ เครือกาญจนา หัวหน้ากลุ่มงานเวชศาสตร์ฉุกเฉิน และศูนย์กู้ชีพ นเรนทร รพ.ราชวิถี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า เนื่องจากภายในถ้ำอาจจะมีอากาศที่ค่อนข้างหนาวเย็น ซึ่งคุณสมบัติของผ้าห่มฟอยล์จะช่วยรักษาอุณหภูมิของร่างกายให้อบอุ่น เนื่องจากอากาศที่หนาวเย็นจากภายนอกจะไม่สามารถเข้าไปกระทบผิวหนังของคนได้โดยตรง จึงทำให้อุณหภูมิของร่างกายค่อยๆอบอุ่นขึ้น ไม่ทำให้อุณหภูมิของร่างกายลดต่ำลง

5 July 2561

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By STY_Lib

Views, 430

 

Preset Colors