02 149 5555 ถึง 60

 

สาธารณสุขเชียงรายห่วง 13 นักเตะ เสี่ยง “ปอดบวม-ขาดอากาศ” ตั้ง รพ.สนามรับมือ ชี้ “ไฮโปเธอร์เมีย” ยังเสี่ยงต่ำ

สาธารณสุขเชียงรายห่วง 13 นักเตะ เสี่ยง “ปอดบวม-ขาดอากาศ” ตั้ง รพ.สนามรับมือ ชี้ “ไฮโปเธอร์เมีย” ยังเสี่ยงต่ำ

สาธารณสุขเชียงรายพร้อมรับมือรักษา 13 นักเตะพลัดหลงใน “ถ้ำหลวง” ตั้ง รพ.สนามขนาด 10 เตียง มีแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ 3 กะ เฝ้าดูแล 24 ชั่วโมง ในที่เกิดเหตุ ห่วงอาการขาดน้ำ ออกซิเจน เสี่ยงปอดบวม-ติดเชื้อ ชี้ ภาวะไฮโปเธอร์เมียยังเสี่ยงน้อย เผย ส่งทีมดูแลจิตใจครอบครัวแล้ว ยังไม่พบซึมเศร้า

วันนี้ (26 มิ.ย.) นพ.ทศเทพ บุญทอง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) เชียงราย กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมรักษาพยาบาล หากสามารถช่วยเหลือนักเตะเยาวชนและโค้ช จำนวน 13 คน ที่พลัดหลงอยู่ภายในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย ว่า ขณะนี้มีการเตรียมพร้อมดูแลรักษาพยาบาลผู้ประสบเหตุมา 2 วันแล้ว โดยมีการเปิดศูนย์บัญชาการ หรือ EOC ร่วมกับศูนย์บัญชาการของจังหวัดเชียงรายที่ทำการค้นหา โดยเปิดเป็นโรงพยาบาลสนามที่จุดเกิดเหตุ ขนาด 10 เตียง พร้อมระดมแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ทั้งจากโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ โรงพยาบาลแม่สาย มาร่วมดูแล แบ่งเจ้าหน้าที่ออกเป็น 3 กะ ตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงการเตรียมความพร้อมรถพยาบาลฉุกเฉินรับส่งคนไข้ไปโรงพยาบาลใกล้เคียง และเตรียมพร้อมรถพยาบาลจากโรงพยาบาลแม่สายมาเสริมกำลังด้วย และมีจัดเจ้าหน้าที่ดูแลสุขภาพทีมที่เข้าไปค้นหาด้วย

เมื่อถามว่า หลังช่วยเหลือออกมาได้แล้ว มีอาการใดที่น่าเป็นห่วง และต้องเตรียมความพร้อมช่วยเหลือ นพ.ทศเทพ กล่าวว่า ก่อนอื่นต้องดูร่างกายโดยรวม ดูการหายใจว่าขาดออกซิเจนหรือไม่ ขาดน้ำหรือไม่ โดยลำดับแรกอาจต้องมีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นในสิ่งที่พบเจอก่อน เช่น การให้สารน้ำทางเลือด น้ำเกลือ ให้ออกซิเจน หรือการช่วยฟื้นคืนชีพเบื้องต้น อย่างการใส่ท่อช่วยหายใจ และทำการส่งต่อโดยเร็ว จากนั้นจึงติดตามอาการอื่นๆ เช่น มีการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ ปอดบวม ปอดอักเสบหรือไม่ ซึ่งมีโอกาสเสี่ยงสูง เนื่องจากอยู่ในถ้ำที่มีอากาศอับชื้นและอุณหภูมิต่ำ รวมไปถึงดูแลเรื่องโภชนาการด้วย เนื่องจากขาดอาหารมาประมาณ 4 วันแล้ว ก็จะเน้นการให้สารน้ำให้พลังงานกลูโคส เป็นต้น

เมื่อถามถึงกระแสกังวลว่า อาจมีภาวะไฮโปเธอร์เมียที่อุณหภูมิร่างกายลดลงต่ำกว่า 35 องศาเซลเซียสอย่างรวดเร็ว นพ.ทศเทพ กล่าวว่า หากพิจารณาจากอุณหภูมิภายในถ้ำ และอากาศที่เย็นและอับชื้น ก็ถือว่ามีโอกาสเสี่ยงอยู่ แต่น้อยมากสำหรับภาวะไฮโปเธอร์เมีย แต่ที่น่ากังวลกว่าคือ ภาวะปอดบม ปอดติดเชื้อ ที่มีความเสี่ยงสูงมากกว่า

ผู้สื่อข่าวถามถึงการดูแลสภาพจิตใจครอบครัวของผู้พลัดหลงในถ้ำ นพ.ทศเทพ กล่าวว่า ขณะนี้มีทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต (MCATT) จากพื้นที่เข้าไปดูแลแล้ว ประกอบด้วย จิตแพทย์ พยาบาลจิตเวช นักจิตวิทยา เพื่อดูแลสภาพจิตใจของครอบครัวผู้ประสบเหตุที่จุดเกิดเหตุ โดยขณะนี้ดูแลมา 2 วันแล้ว ยังไม่พบอาการซึมเศร้า โดยทีมสุขภาพจิตได้พยายามให้คำแนะนำและให้กำลังใจให้มีความหวังในการค้นหา

27 June 2561

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By sty_lib

Views, 549

 

Preset Colors