02 149 5555 ถึง 60

 

นวัตกรรม “ปิงปอง 7 สี” แบ่งระดับความรุนแรง “เด็กสมาธิสั้น” ช่วยคัดกรองรักษาได้เร็วขึ้น

นวัตกรรม “ปิงปอง 7 สี” แบ่งระดับความรุนแรง “เด็กสมาธิสั้น” ช่วยคัดกรองรักษาได้เร็วขึ้น

เผยแพร่: 5 มิ.ย. 2561 14:00: ปรับปรุง: 5 มิ.ย. 2561 15:40: โดย: MGR Online

รพ.ยุวประสาทฯ ใช้นวัตกรรม “ปิงปอง 7 สี” แบ่งระดับความรุนแรง “เด็กสมาธิสั้น” ช่วยจำแนกอาการ ความรุนแรง และแนวทางการรักษาได้รวดเร็ว นำร่องใน รพ.ชุมชน ร.ร.ประถม และ รพ.สต. พื้นที่ 3 อำเภอ จ.สมุทรปราการ คาด 1 ปีสรุปผลได้ ก่อนขยายใช้ทั่วประเทศ

น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า เด็กที่ป่วยเป็นโรคสมาธิสั้น สามารถรักษาให้หาย กลับไปเรียนและทำงานได้ หากตรวจพบตั้งแต่ยังเด็กๆ และรักษาอย่างถูกต้อง เนื่องจากเด็กกลุ่มนี้มีระดับไอคิวปกติ การเจริญเติบโตก็ปกติเหมือนเด็กทั่วไป แต่ต่างกันที่พฤติกรรมจะมีอาการซุกซนมาก อยู่ไม่นิ่ง สมาธิไม่ดี พ่อแม่ผู้ปกครองมักเข้าใจว่าเป็นเด็กซุกซนธรรมดา ไม่ใช่เด็กป่วย จึงไม่พาเข้ารักษา โดยพบเด็กไทยมีอัตราป่วยโรคนี้ร้อยละ 5.4 คาดว่า ทั่วประเทศมีประมาณ 437,136 คน ในรอบ 6 เดือนปีงบประมาณ 2561 นี้ เข้าถึงบริการแล้วร้อยละ 12.49 ได้มอบหมายให้ รพ.ยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ จ.สมุทรปราการ สถาบันราชานุกูล และสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ เร่งพัฒนาระบบและแนวทางการดูแล เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการให้ได้มากที่สุด ป้องกันปัญหาสังคมจากเด็กกลุ่มนี้ที่โตขึ้นและไม่ได้รับการดูแลรักษา เช่น ก้าวร้าวรุนแรง ความรุนแรงทางสังคม เด็กแว้น เสี่ยงติดสารเสพติดได้สูง

พญ.นพวรรณ ศรีวงค์พานิช ผอ.รพ.ยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ กล่าวว่า การพัฒนาแนวทางดูแลเด็กโรคสมาธิสั้น รพ.ยุวประสาทฯ ได้นำแนวคิดปิงปอง 7 สี จำแนกอาการความรุนแรงของผู้ป่วยกลุ่มโรคไม่ติดต่อ (NCD) ที่ใช้ในเขตสุขภาพอยู่แล้ว มาประยุกต์ใช้ดูแลคัดกรองเด็กสมาธิสั้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบการส่งต่อ โดยเทียบอาการความรุนแรงตามสีจากน้อยไปมาก แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มเสี่ยงยังไม่ถึงขั้นป่วย มี 3 สี และกลุ่มป่วยแล้ว มี 4 สี รวมทั้งหมด 7 สี ทั้งนี้ เด็กสมาธิสั้นที่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงใช้ปิงปอง 3 สี คือ 1. สีขาว หมายถึง กลุ่มซนปกติ แต่รอคอยไม่ได้ 2. สีเขียวอ่อน หมายถึง กลุ่มที่ซนเล็กน้อย รอคอยไม่ได้ และ 3. สีเขียว หมายถึง กลุ่มซนชนิดเสี่ยง คือ ซนมาก อยู่ไม่นิ่ง รอคอยไม่ได้ ซึ่งเด็กกลุ่มนี้สามารถดูแลที่บ้าน ที่โรงเรียนเพื่อปรับแก้พฤติกรรมให้ดีขึ้น โดยให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องโรคแก่ผู้ปกครองและครู ตลอดคำแนะนำการเลี้ยงดูเชิงบวก การจัดการพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ตามวัย

พญ.นพวรรณ กล่าวว่า ส่วนกลุ่มเด็กที่ป่วยแล้วจะใช้สีปิงปอง 4 สี จากอาการน้อยไปอาการรุนแรง ต้องส่งพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรักษาเพื่อควบคุมอาการร่วมและฟื้นฟูด้านจิตสังคมร่วมด้วย ได้แก่ 1. สีเหลือง หมายถึง กลุ่มที่มีอาการสมาธิสั้น แต่ยังไม่มีปัญหาการเรียน 2. สีส้ม หมายถึงกลุ่มที่มีปัญหาการเรียนร่วมด้วย จะเพิ่มการให้คำปรึกษาในการจัดการปัญหาพฤติกรรมเฉพาะ ให้ความช่วยเหลือเพื่อเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน 3. สีแดง หมายถึง กลุ่มที่มีปัญหาทั้งการเรียนและมีปัญหาด้านอารมณ์เป็นหลัก ต้องมีการรักษาโรคที่โรงพยาบาลต่อเนื่อง และ 4. สีเทา หมายถึง กลุ่มที่มีปัญหาความก้าวร้าวรุนแรง เสี่ยงต่อการทำร้ายตนเองและผู้อื่นด้วย จัดอยู่ระดับที่รุนแรงที่สุด ต้องได้รับการดูแลโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง

“การจัดระบบการดูแลเด็กสมาธิสั้นแบบปิงปอง 7 สีนี้ จะทำให้ผู้ปกครอง ครู และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข สามารถจัดระบบดูแลเด็กในเบื้องต้นและต่อเนื่อง หากเด็กมีอาการรุนแรงเกินขีดความสามารถจะมีระบบส่งต่อไปยังโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลจิตเวชเฉพาะทางตามลำดับ ขณะนี้อยู่ระหว่างการทดลองใช้ในพื้นที่ อ.บางพลี อ.บางบ่อ และ อ.พระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ในโรงพยาบาลชุมชน 3 แห่ง โรงเรียนระดับประถมศึกษา 15 แห่ง และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลประมาณ 14 แห่ง จะสรุปผลใน 1 ปี และคาดว่าจะสามารถนำไปขยายผลใช้ในเขตสุขภาพในต้นปีหน้านี้ ทั้งนี้ ผลของการรักษาโรคสมาธิสั้นตามปกติ เด็ก 1 ใน 3 มีอาการดีขึ้น สามารถเรียนและทำงาน ควบคุมอารมณ์ พฤติกรรมตนเองได้โดยไม่ต้องใช้ยา ใช้ชีวิตในสังคมได้ เหมือนคนทั่วไป อีก 1 ใน 3 อาการจะดีขึ้น อาจต้องใช้ยาช่วยควบคุมอารมณ์พฤติกรรมบ้าง และอีก 1 ใน 3 อาการคงที่หรือแย่ลง โดยเฉพาะรายที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง” พญ.นพวรรณ กล่าว

5 June 2561

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By STY_Lib

Views, 1660

 

Preset Colors