02 149 5555 ถึง 60

 

มียาอีกหลายตัวไม่ควรได้ “สิทธิบัตร” ทำยาราคาแพง คนไทยเข้าไม่ถึง

มียาอีกหลายตัวไม่ควรได้ “สิทธิบัตร” ทำยาราคาแพง คนไทยเข้าไม่ถึง

เผยแพร่: 10 พ.ค. 2561 16:03: ปรับปรุง: 10 พ.ค. 2561 19:12: โดย: MGR Online

เอ็นจีโอ ชี้ มียาที่ไม่ควรได้ “สิทธิบัตร” ถึง 70% ทำคนไทยเข้าไม่ถึงยา ยามีราคาแพง ระบบสุขภาพแบกรับต้นทุนสูง ขณะที่คำขอยื่นสิทธิบัตรอีกกว่า 80% ไม่มีนวัตกรรมใหม่ที่สูงขึ้นจนควรได้สิทธิบัตร หวั่น คสช. ใช้ ม.44 เร่งออกสิทธิบัตรเป็นการปล่อยผีสิทธิบัตรยา

น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานกลุ่มเอฟทีเอว็อทช์ กล่าวถึงกรณีศาลฎีกาสั่งถอนสิทธิบัตรการผลิตยาวาลซาร์แทน (Valsartan) รักษาโรคความดันโลหิตสูง - โรคหัวใจ หลังต่อสู้เป็นคดีความยาวนาน 7 ปี เพราะกระบวนการผลิตไม่ใช่วิธีใหม่ ว่า เรื่องนี้เป็นเพียงหนึ่งคดีที่บริษัทยาชื่อสามัญชนะคดี แต่ตลอดระยะเวลาที่สู้คดีถูกบริษัทยาข้ามชาติส่งจดหมายไปแจ้งโรงพยาบาลต่างๆ ที่จัดซื้อยาชื่อสามัญราคาถูกที่มีคุณภาพทัดเทียมยาต้นแบบ ว่า อาจถูกดำเนินคดีและถูกเรียกร้องค่าเสียหายด้วย ทำให้โรงพยาบาลไม่กล้าซื้อ คนไข้เข้าไม่ถึงยา ยายังคงมีราคาแพง ระบบสุขภาพต้องแบกรับค่ายาที่ผิดปกติเหล่านี้เพราะเทคนิคการแสวงหากำไรบนชีวิตผู้ป่วย

“ดังนั้น ที่ผ่านมา มีบริษัทยาชื่อสามัญไทยไม่กี่รายที่กล้าสู้คดี ซึ่งต้องชื่นชมในที่นี้ คือ บ.สีลม ก่อนหน้านี้ บ.สยาม และ องค์การเภสัชกรรม ขอบคุณนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญที่ยอมเป็นพยานในคดีที่ใช้เวลาอย่างยาวนาน ชื่นชมความสามารถของบริษัทที่ปรึกษากฎหมายของ ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก และศาลทรัพย์สินทางปัญญาและศาลฎีกาของไทยที่พิพากษาคดีประวัติศาสตร์นี้ เช่น ที่เมื่อ 10 กว่าปีก่อน เคยพิพากษาคดียาต้านไวรัส ddI ที่เป็นต้นแบบคำพิพากษาของโลกที่ชี้ว่า ผู้ป่วยสามารถร่วมฟ้องบริษัทยาในคดีทรัพย์สินทางปัญญาและอ้างปฏิญญาโดฮาว่าด้วยการสาธารณสุข ของความตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่ให้ตีความเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงยา” น.ส.กรรณิการ์ กล่าว

น.ส.กรรณิการ์ กล่าวว่า จากงานวิจัยสิทธิบัตรที่เป็น evergreening ของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข พบว่า 70% สิทธิบัตรยาที่ออกไปแล้วนั้นไม่สมควรได้รับสิทธิบัตร และอีก 80% ของคำขอที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของกรมทรัพย์สินทางปัญญา ไม่มีความใหม่ไม่มีนวัตกรรมที่สูงขึ้น ซึ่งหากคำขอสิทธิบัตรยาเหล่านี้ได้สิทธิบัตรจะเป็นภาระงบประมาณมากถึง 5,000 ล้านบาท จากยาที่ขายดีเพียง 50 รายการเท่านั้น

“ที่ผ่านมา เมื่ออายุของสิทธิบัตรยาสิ้นสุดลง คือ ครบ 20 ปี อุตสาหกรรมยาของไทยจะผลิตยาชื่อสามัญมาแข่งขันได้ ซึ่งทำให้ลดการผูกขาดและราคายาถูกลง และสถานพยาบาลสามารถจัดหายาได้ในต้นทุนถูกลงเพื่อรักษาผู้ป่วยตามสิทธิหลักประกันที่สังกัด แต่กลับมาเจอบริษัทยามาขอขึ้นทะเบียนในลักษณะจดซ้ำซ้อน รัฐบาล คสช. ควรศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะทุกวันนี้ รองนายกฯ วิษณุ เครืองาม ยังย้ำคิดย้ำทำว่าต้องออกคำสั่ง คสช. ตามมาตรา 44 เพื่อจัดการคำขอสิทธิบัตรที่คั่งค้าง ถ้าทำเช่นนั้นก็เท่ากับปล่อยผีสิทธิบัตรยาที่ไร้คุณภาพ เป็นภาระกับประเทศ ขณะเดียวกัน กรมทรัพย์สินทางปัญญาต้องนำคำพิพากษาไปปรับปรุงคณภาพการตรวจสอบสิทธิบัตร และแก้ไขร่างพระราชบัญญัติสิทธิบัตรให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น” น.ส.กรรณิการ์ กล่าว

น.ส.กรรณิการ์ กล่าวว่า สำหรับคดีที่บริษัทยาข้ามชาติฟ้องบริษัทยาชือสามัญไทย มีอย่างน้อย 3 คดี คดีที่ 1. ยา Finasterine บ.MSD ฟ้อง บ.สยาม ฎีกา เมื่อ 2 ปีก่อน ไม่ชนะไม่แพ้ ศาลชี้ว่า บ.สยาม ใช้คนละวิธี ไม่ละเมิด คดีที่ 2. ยา Varsantan บ.Novartis ฟ้อง บ.สีลม ฎีกา 8 พ.ค. เพิกถอนสิทธิบัตร Novartis ไม่สมควรได้ 3. ยา Celecoxib บ. Pfizer ฟ้อง บ.แมคโครฟาร์ คดีอยู่ในศาลทรัพย์สินทางปัญญา ศาลชั้นต้น นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่เครือข่ายผู้ป่วยร้องคัดต้านคำขอสิทธิบัตร อาทิ ยาสูตรผสมรวมเม็ดโซฟอสบูเวียร์และเลดิพาสเวียร์ ที่ใช้รักษาโรคไวรัสตับอักเสบซี ซึ่งเข้าข่ายไม่ควรได้สิทธิบัตร เหตุเพราะไม่เข้าด้วยเจตนารมณ์ของกฎหมายสิทธิบัตร คือ 1. ไม่อนุญาตให้จดสิทธิบัตรในเรื่องการบำบัดรักษา 2. การผสมยาสองชนิดรวมในเม็ดเดียวเป็นเทคโนโลยีธรรมดาๆ ที่เปิดเผยและทราบกันโดยทั่วไปในหมู่ผู้เชี่ยวชาญทางเภสัชกรรมอยู่แล้ว 3. ประสิทธิผลของการใช้ยาสองชนิดนี้ร่วมกันเป็นสิ่งที่ทราบกันดีอยู่แล้วในทางเภสัชกรรม ซึ่งในกฎหมายระบุว่าต้องก่อให้เกิด “ผลที่ไม่เป็นที่ประจักษ์โดยง่าย” จึงจะเข้าข่ายได้รับสิทธิบัตร

ทั้งนี้ บ่ายวันที่ 17 พ.ค. นี้ แผนงานศูนย์วิชาการพัฒนาและเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) จะจัดเวทีเสวนาวิชาการที่คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ เพื่อสรุปบทเรียนการต่อสู้สิทธิบัตรยาที่ไม่ชอบธรรมในประเทศไทยด้วย

11 May 2561

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By STY_Lib

Views, 823

 

Preset Colors