02 149 5555 ถึง 60

 

รมว.สธ.ตั้ง คกก.พิจารณานำ “กัญชา” มาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์แล้ว

รมว.สธ.ตั้ง คกก.พิจารณานำ “กัญชา” มาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์แล้ว

เผยแพร่: 5 พ.ค. 2561 17:56: ปรับปรุง: 6 พ.ค. 2561 12:54: โดย: MGR Online

รมว.สธ. ลงนามแต่งตั้ง คกก. พิจารณานำ “กัญชา” มาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ดึง “หมอโสภณ” เป็นประธาน ให้เสนอแนะนโยบายและแผนพัฒนากัญชาทางการแพทย์ นำมาใช้ประโยชน์แบบครบวงจร เตรียมหารือนัดแรก 10 พ.ค. ภายใต้กรอบ 5 ขั้น

นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ลงนามในคำสั่งกระทรวงสาธารณสุข ที่ 530/2561 เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2561 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ มีใจความว่า มีข้อมูลการนำกัญชาซึ่งปัจจุบันจัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ตาม พ.ร.บยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์อย่างอย่างหลากหลายในต่างประเทศ ขณะเดียวกัน ตอนนี้ก็อยู่ระหว่างปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ. ดังกล่าวให้ใช้ยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เพื่อการรักษาโรคหรือเพื่อการศึกษาวิจัยได้ ดังนั้น เพื่อรองรับการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์และการศึกษาวิจัยในประเทศอย่างเป็นระบบ มีประสิทธิภาพ มีความเหมาะสมรัดกุม เพื่อให้การใช้ประโยชน์จากกัญชาในทางการแพทย์เกิดประโยชน์สูงสุดเป็นไปตามหลักวิชาการและกฎหมาย ป้องกันมิให้มีการรั่วไหลไปใช้ในทางที่ผิด

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 20 แห่ง พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ที่แก้ไขเพิ่มเติม แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ประกอบด้วย รมว.สาธารณสุข และปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการ นายโสภณ เมฆธน เป็นประธานฯ ส่วนคณะกรรมการประกอบด้วย 1. ผอ.สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข 2. ผอ.องค์การเภสัชกรรม 3. ผอ.สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 4. นายธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข 5. อธิบดีกรมการแพทย์ 6. อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก 7. อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 8. อธิบดีกรมสุขภาพจิต 9. เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

10. เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด 11. ศ.นพ. ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา 12. คณบดีคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยรังสิต 13. ผศ.วรัญญู พูลเจริญ 14.ผศ.วิเชียร กีรติณิชกานต์ 15. นางสริตา ปิ่นมณี 16.นายอนันต์ชัย อัศวเมฆิน 17.รองเลขาธิการ ที่เลขาธิการ อย. มอบหมาย เป็นกรรมการและเลขานุการ 18. ผอ.กองควบคุมวัตถุเสพติด อย. เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ 19. ผอ.สถาบันวิจัยและพัฒนา อภ.เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

โดยให้มีอำนาจหน้าที่ดังนี้ 1. เสนอแนะนโยบายและแผนการพัฒนา การนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และการศึกษาวิจัยภายในประเทศต่อกระทรวงสาธารณสุข 2. พัฒนาและวางระบบการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ให้ครบวงจรตั้งแต่การปลูก การปรับปรุงสายพันธุ์ การผลิตสาระสำคัญที่ได้จากกัญชา การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการนำไปใช้ประโยชน์รวมถึงการวางระบบการควบคุม 3. พัฒนาและวางระบบการศึกษาวิจัยเพื่อนำกัญชามาใช้ในทางการแพทย์ในประเทศพร้อมทั้งเสนอความเห็นและคำแนะนำที่เกี่ยวข้อง 4. ติดตามดูแลประสานสนับสนุนและเร่งรัดการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประเมินผลการปฏิบัติงานตามนโยบายและแผนการพัฒนา 5. แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาศึกษาหรือดำเนินการในเรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ 6. ปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามที่รมว.สาธารณสุขมอบหมาย ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

นพ.โสภณ เมฆธน ประธานคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) และที่ปรึกษา รมว.สธ. กล่าวว่า จะมีการนัดประชุมครั้งแรกขึ้นวันที่ 10 พ.ค. นี้ ที่ อย. โดยจะหารือในกรอบ 5 ขั้น เริ่มจาก 1. ศึกษาสายพันธุ์ในการนำมาใช้สกัดสารเพื่อใช้ทางการแพทย์ โดยอาจเป็นสายพันธุ์ไทยหรือสายพันธุ์ที่พัฒนาจากไทยขึ้นมาอีกหรือไม่ 2. ต้องหาวิธีว่าจะสกัดสารอย่างไรให้ได้คุณภาพ 3. จัดหารูปแบบการผลิตออกเป็นผลิตภัณฑ์ว่าจะเป็นรูปแบบใด 4.ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์แบบใดบ้าง เบื้องต้นเป็นความหวังรักษาอาการทางสมอง เช่น โรคลมชัก พาร์กินสัน รวมทั้งบรรเทาความเจ็บปวดจากโรคมะเร็ง และ 5. แนวทางการควบคุม มาตรการทางกฎหมาย

“โดยจะเริ่มจากระดับห้องทดลอง เพื่อให้เป็นแผนงานนำร่อง หรือเป็นต้นแบบ ( Pilot Plant) ซึ่งจุดนี้จะทำงานควบคู่ไปกับการปรับแก้กฎหมายยาเสพติด ซึ่งคาดว่าเมื่อทดลองได้ในระดับหนึ่ง กฎหมายก็จะมีการปรับแก้แล้วเสร็จ ก็สามารถนำมาใช้ศึกษาวิจัยในมนุษย์ได้ เพราะทราบว่าขณะนี้ประมวลกฎหมายยาเสพติดได้ผ่านคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว คาดว่า ขั้นตอนน่าจะประกาศใช้ไม่กี่เดือน” นพ.โสภณ กล่าว

7 May 2561

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By STY_Lib

Views, 822

 

Preset Colors