02 149 5555 ถึง 60

 

จิตแพทย์แนะใช้ดนตรีช่วยสร้างเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย

จิตแพทย์แนะใช้ดนตรีช่วยสร้างเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย

30 เม.ย.61 นพ.อุดม เพชรสังหาร จิตแพทย์เด็กและเยาวชน กล่าวถึงงานอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การพัฒนาศักยภาพครูวิทยากร (TOT) ในการส่งเสริม Brain Executive Function (BEF) ของเด็กปฐมวัยโดยใช้ดนตรี” ซึ่งเป็นงานอบรมครูและผู้ดูแลเด็กปฐมวัยจากโครงการพัฒนาระบบและกลไกเพื่อสุขภาวะเด็กปฐมวัยโดยใช้ครอบครัวและชุมชนเป็นฐาน (COACT) ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ณ รร.ปรินซ์ พาเลซ มหานาค กรุงเทพฯ เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ดนตรีเป็นเรื่องธรรมชาติ เป็นจังหวะที่ธรรมชาติให้มา โดยปี 1970 (พ.ศ.2513) นักวิชาการ ด้านจิตวิทยาได้ทำการศึกษาเรื่องการพัฒนาการพูดของมนุษย์ ซึ่งพบว่าจังหวะคือตัวช่วยของพัฒนาการพูดและการสื่อสาร อีกทั้ง งานวิจัยทั่วโลกยืนยันตรงกันว่า Communicative Musicality คือศักยภาพในการพัฒนาไปเป็นภาษาและการสื่อสารทุกรูปแบบ ทั้งคำพูด การแสดง ท่าทาง เป็นการใช้ความสามารถทางดนตรี โดยประเด็นที่สำคัญที่สุดสามารถเชื่อมโยงไปถึงเครื่องมือในการพัฒนาสัมพันธภาพของมนุษย์ด้วย

นพ.อุดม กล่าวต่อไปว่า ครู ผู้ดูแลเด็กปฐมวัยมีหน้าที่ในการสร้างความพร้อมด้านการเรียนรู้ให้เด็ก (School Readiness) ใน 4 ด้าน ได้แก่ 1.กายพร้อม สุขภาพทางกาย การเคลื่อนไหวร่างกายที่คล่องแคล่ว ปรับการเคลื่อนไหวร่างกายให้เข้าหรือสอดคล้องกับผู้อื่นได้ 2.สมองพร้อม สามารถควบคุม กำกับ และจัดการกับความคิด อารมณ์ และพฤติกรรมของตนเองได้ สื่อสารได้ 3.ใจพร้อม ใจเป็นสุข กระหายใคร่รู้ ไม่กลัวความล้มเหลว เข้าใจความรู้สึกของคนอื่น และ 4.สังคมพร้อม Prosocial Behavior คือพฤติกรรมที่แสดงออกหรือปฏิบัติต่อผู้อื่นในสังคมที่เป็นผลให้สังคมดีขึ้น เข้มแข็งขึ้น เช่น การให้ความไว้วางใจผู้อื่น การให้ความร่วมมือ การให้ความช่วยเหลือ การปลอบโยน หรือการแบ่งปันผู้อื่น เป็นต้น ซึ่งการสร้างความสมบูรณ์พร้อมให้มนุษย์ทุกช่วงวัย ต้องเริ่มจากการสร้างความพร้อมให้เด็กในการเรียนรู้ 4 ด้าน โดยพิจารณาความชอบของเด็กตามช่วงวัย

“เด็กชอบเพลงช้าง ครูก็จะรู้จุดที่เข้าหาเด็กได้ รวมถึงครอบครัวต้องเข้าใจในสิ่งที่เป็นอยู่ โดยเริ่มจากพ่อแม่ โดยเฉพาะแม่หากแม่ร้องเพลงกล่อมลูก หรือไกวเปลให้เข้าจังหวะ เด็กจะรับรู้ความรู้สึกในการร้องเพลงและการไกวเปลมีความเป็นพวกเดียวกันเป็นการเชื่อมคนให้เข้าหากัน เมื่อเด็กโตขึ้นก็ฝึกให้ลูกเคาะจังหวะ และเมื่อเด็กเข้า ศพด.ครูก็จะมีเครื่องมือในการเชื่อมเด็กและสามารถดึงเด็กเข้าสู่กระบวนการของ ศพด.เพื่อสร้างความพร้อมในการส่งต่อเด็กให้เข้าสู่ระบบการศึกษาในช่วงชั้นต่อไป” นพ.อุดม กล่าว

นพ.อุดม ยังกล่าวอีกว่า การดึงปราชญ์ชาวบ้าน เข้ามามีส่วนร่วม โดยชี้ให้เห็นว่าดนตรีพื้นบ้านคือเครื่องมือที่จะสร้างลูกหลานของเขาให้เป็นคนดีได้ นั่นคือการสร้าง Prosocial Behavior ทำให้เด็กมีพฤติกรรมที่แสดงออกหรือปฏิบัติต่อผู้อื่นในสังคมที่เป็นผลให้สังคมดีขึ้น ไม่จำเป็นจะต้องเป็นดนตรีหรือเพลงสากลเท่านั้น

2 May 2561

ที่มา แนวหน้า

Posted By sty_lib

Views, 931

 

Preset Colors