02 149 5555 ถึง 60

 

หมอแนะพกยาสมุนไพรแก้ท้องเสียติดตัว ช่วงหน้าร้อน

หมอแนะพกยาสมุนไพรแก้ท้องเสียติดตัว ช่วงหน้าร้อน

25 เมษายน 2561 717

กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก แนะประชาชนพกยาสมุนไพร ใช้รักษาอาการท้องเสีย หากปล่อยนานเกิดภาวะแทรกซ้อนได้

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ในช่วงหน้าร้อน พบว่าประชาชนส่วนใหญ่จะประสบปัญหาจากโรคท้องเสีย ท้องร่วง เนื่องจากรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่ถูกสุขลักษณะ มีเชื้อโรคปนเปื้อน จึงควรระมัดระวังในการเลือกรับประทานอาหารที่เสี่ยงต่อโรคท้องเสีย ควรรับประทานอาหารที่ ปรุงสุกใหม่ ล้างมือ ล้างภาชนะบรรจุอาหารและอุปกรณ์เครื่องใช้ให้สะอาด อย่างไรก็ตามบางครั้งอาจหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นเมื่อมีอาการท้องเสีย แนะนำให้รับประทานยาเหลืองปิดสมุทร เป็นตำรับยาในยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ และเป็นยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ ยารักษาโรคในกลุ่มอาการทางระบบทางเดินอาหาร ยาแก้ท้องเสียในรูปแบบยาแคปซูล ยาผง ยาเม็ด

ประกอบด้วย เครื่องยา 13 ชนิด ข้อบ่งใช้ บรรเทาอาการท้องเสียชนิดที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อ เช่น อุจจาระไม่เป็นมูกหรือมีเลือดปน และท้องเสียชนิดที่ไม่มีไข้ วิธีใช้ สำหรับเด็ก อายุ 6 -12 ปี รับประทานครั้งละ 800 - 1,000 มิลลิกรัม ผู้ใหญ่ รับประทานครั้งละ 1,000 มิลลิกรัม ทุก 3-5 ชั่วโมง หรือใช้ ยาธาตุบรรจบ วิธีใช้ สำหรับเด็ก อายุ 6 -12 ปี รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม ผู้ใหญ่ รับประทานครั้งละ 1,000 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง หรือจะใช้ยาแคปซูลฟ้าทะลายโจรก็ได้ รับประทานครั้งละ 500 - 2,000 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน

วิธีการปฏิบัติตัวเมื่อเกิดอาการท้องเสีย ส่วนใหญ่อาการท้องเสียหากไม่ติดเชื้อรุนแรง สามารถหายได้เอง แต่ข้อสำคัญเมื่อร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย มักจะเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่ายโดยเฉพาะในเด็กและคนสูงอายุจะอ่อนเพลีย มีไข้จากการสูญเสียน้ำ จึงจำเป็นต้องทดแทนน้ำและเกลือแร่ป้องกันภาวะขาดน้ำ ด้วยการดื่มน้ำเกลือแร่หรือน้ำเกลือแห้งให้เพียงพอ ระหว่างท้องเสียควรรับประทานอาหารอ่อนที่ย่อยง่าย เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก แกงจืด และ ไม่ควรงดอาหาร เพื่อป้องกันการขาดสารอาหาร ไม่ควรรับประทานอาหารรสเผ็ดจัด เป็นต้น หากมีอาการท้องเสีย ชนิดติดเชื้อ เช่น อุจจาระมีมูกเลือดปนหรือมีไข้ร่วมด้วย กลิ่นอุจจาระมีกลิ่นเหม็นคล้ายของเน่า ให้รีบไปโรงพยาบาล เพื่อรับการตรวจหาเชื้อและทำการรักษาโดยแพทย์แผนปัจจุบันต่อไป

26 April 2561

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

Posted By STY_Lib

Views, 1777

 

Preset Colors