02 149 5555 ถึง 60

 

แนะใช้4ส. รับมือพายุฤดูร้อนปลอดภัยทั้งกายใจ

แนะใช้4ส. รับมือพายุฤดูร้อนปลอดภัยทั้งกายใจ

กรมสุขภาพจิตให้หน่วยงานในสังกัด เตรียมพร้อมทีมสุขภาพจิตเอ็มแคท ดูแลใจประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากพายุฤดูร้อนช่วงวันที่ 24-27 เมษายน 2561 พร้อมแนะประชาชนใช้หลัก 4 ส. เพื่อรับมือ คือตั้งสติเน้นที่ความปลอดภัยชีวิตและทรัพย์สิน และอีก 3 ส.คือการช่วยกันดูแลใจเบื้องต้นแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งคนในครอบครัว เครือญาติและเพื่อนบ้าน เผยผลกระทบที่จ.นครพนมในช่วงวันที่ 20 เม.ย.ที่ผ่านมา พบประชาชนตื่นตระหนกบ้าง แต่ไม่รุนแรง

นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการรับมือสถานการณ์พายุฤดูร้อนที่จะเกิดในช่วงวันที่ 24 -27 เมษายน 2561 ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ รวมทั้ง กทม. และปริมณฑล ตามประกาศเตือนของกรมอุตุนิยมวิทยาว่า กรมสุขภาพจิตได้กำชับให้โรงพยาบาลจิตเวชทุกแห่งจัดเตรียมความพร้อมโรงพยาบาลเช่นระบบไฟฟ้าสำรองฉุกเฉิน โดยเฉพาะที่ห้องฉุกเฉิน หากเกิดเหตุสามารถใช้การทดแทนได้ทันที เพื่อมิให้กระทบต่อการให้บริการผู้ป่วยจิตเวช พร้อมทั้งให้เตรียมทีมสุขภาพจิตเอ็มแคท (Mental Health Crisis Assessment and Treatment Team ;MCATT) พร้อมเวชภัณฑ์ยาที่จำเป็น ออกปฏิบัติการสนับสนุนการดำเนินการร่วมกับทีมสุขภาพจิตเอ็มแคทของสถานพยาบาลในเขตสุขภาพ ตลอด 24 ชั่วโมง

อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวต่อว่า สำหรับผลกระทบของพายุฤดูร้อนที่จังหวัดนครพนมในช่วงบ่ายวันที่ 20 เมษายน 2561 ที่ผ่านมา มีบ้านเรือนในตำบลนาใน และตำบลโพนบก ในอำเภอโพนสวรรค์ ได้รับความเสียหาย จำนวน 60 ครัวเรือน เบื้องต้นมณฑลทหารบกที่ 210 ได้ให้การช่วยเหลือซ่อมแซมหลังคาบ้านให้แล้ว ในส่วนผลกระทบด้านจิตใจ ทีมสุขภาพจิตเอ็มแคทอำเภอโพนสวรรค์ ได้ลงพื้นที่ประเมินในเบื้องต้นทั้ง 2 แห่ง พบว่าประชาชนมีอาการตื่นตระหนกบ้าง แต่ยังไม่มีปัญหาสุขภาพจิตในระดับที่รุนแรง อย่างไรก็ตามเนื่องจากพายุฤดูร้อนเป็นภัยที่เกิดขึ้นธรรมชาติ ขอแนะนำให้ประชาชนติดตามประกาศเตือนภัยของกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด เพื่อสามารถวางแผนป้องกันการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินไว้ล่วงหน้าได้

ทางด้านนายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครพนมราชนครินทร์ จ.นครพนม กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการรับมือกับพายุฤดูร้อนหรือภัยพิบัติอื่นๆ ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ขอให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ยึดหลักปฏิบัติเพื่อรับมือด้วย 4 ส. ดังนี้ ส.ที่ 1 คือให้มีสติ ขอให้ตระหนักและเตรียมความพร้อมรับมือ เน้นที่ความปลอดภัยชีวิตตนเอง ครอบครัวเป็นอันดับแรก และความปลอดภัยทรัพย์สินรองลงมา จัดเตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็นไว้ใช้ในบ้านยามฉุกเฉิน เช่นไฟฉาย เทียนไข โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวรวมทั้งผู้ป่วยจิตเวชด้วย ขอให้ญาติช่วยดูแลจัดเก็บยาไว้ในที่ปลอดภัย หยิบฉวยได้ง่าย

ส่วนอีก 3 ส. เป็นการช่วยกันดูแลจิตใจผู้ที่ได้รับผลกระทบในเบื้องต้น ซึ่งประชาชนทุกคนสามารถใช้ได้ทั้งภายในครอบครัว เครือญาติ และเพื่อนบ้าน จะเกิดผลดีต่อขวัญกำลังใจของผู้ประสบภัยให้กลับคืนมาและใจชื้นขึ้น ประกอบด้วย ส.1 คือ ให้สอดส่องมองหาผู้ที่ได้รับผลกระทบและต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน ส.2 คือใส่ใจรับฟังทุกข์ ในใจ เพื่อให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบ บอกเล่าอารมณ์ความรู้สึกและคลายความทุกข์ใจออกมา จะช่วยให้อารมณ์สงบขึ้น และสบายใจขึ้น และ ส.ที่ 3คือส่งต่อความช่วยเหลือสิ่งจำเป็นพื้นฐานให้กัน เช่น น้ำ อาหาร ยา จะช่วยบรรเทาความทุกข์ร้อนในเบื้องต้นและมีกำลังใจเข้มแข็งขึ้น สามารถก้าวข้ามช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้ โดยหากผู้ประสบภัยยังไม่สบายใจ อาจปรึกษาเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้าน หรือโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง

24 April 2561

ที่มา บ้านเมือง

Posted By STY_Lib

Views, 606

 

Preset Colors