02 149 5555 ถึง 60

 

BDMS ห่วง “มะเร็งปอด” คร่าชีวิตคนไทยสูง

BDMS ห่วง “มะเร็งปอด” คร่าชีวิตคนไทยสูง

เผยแพร่: 22 เม.ย. 2561 11:52: โดย: MGR Online

"โรคมะเร็งปอด" ถือเป็น 1 ใน 5 อันดับแรกของโรคมะเร็งที่พบและเสียชีวิตมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยทั่วโลกพบว่าในผู้ป่วยมะเร็งใหม่ 12.7 ล้านคน เป็นผู้ป่วยมะเร็งปอด 1.6 ล้านคน ผู้เสียชีวิตจากมะเร็ง 7.6 ล้านคน เป็นผู้เสียชีวิตจากมะเร็งปอด 1.37 ล้านคน

สำหรับในประเทศไทย นายแพทย์ ธีรวุฒิ คูหะเปรมะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวัฒโนสถ โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ ในโรงพยาบาลกลุ่มบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS ให้ข้อมูลว่า โรคมะเร็งปอดถือเป็นหนึ่งในโรคมะเร็งที่น่าห่วงที่สุดของประเทศไทย เนื่องจากเมื่อพิจารณาจากอัตราการเสียชีวิตโดยเฉลี่ยของมะเร็งแต่ละชนิดนั้น โดยอาศัยจำนวนการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งนั้นหารด้วยจำนวนผู้ปวยโรคมะเร็งชนิดนั้น หรือค่า Mortality Incidence (MI) Ratio ซึ่งอัตราการเสียชีวิตเฉลี่ยของโรคมะเร็งปอดสูงอยู่ที่ 80% ถือเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งตับที่อยู่ประมาณ 90% ซึ่งอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งปอดไม่ได้สูงแค่เฉพาะประเทศไทย แต่พบว่าในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา ก็มีอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งปอดสูงเช่นกัน

ทั้งนี้ สาเหตุของโรคมะเร็งปอด นายแพทย์ ธีรวุฒิ ระบุว่า เกิดจากหลายสาเหตุ แต่สาเหตุหลักสำคัญอันดับหนึ่ง คือ การสูบบุหรี่ หรือการรับควันบุหรี่มือสอง ดังนั้น มะเร็งปอดจึงถือเป็นโรคมะเร็งที่ป้องกันได้ด้วยการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง หรือปรับพฤติกรรม โดยการงดสูบบุหรี่หรือการไม่รับควันบุหรี่มือสองต่างๆ แม้จะมีปัจจัยเสี่ยงอื่นที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งปอดได้ แต่สิ่งแวดล้อมหรือปัจจัยเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงได้ก็สมควรหลีกเลี่ยง ถือเป็นหลักการเบื้องต้น

สำหรับบุคคลที่มีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปอด ควรจะตรวจคัดกรองเหมือนมะเร็งชนิดอื่นหรือไม่ โดยเฉพาะการเอกซเรย์ปอด ซึ่งที่ผ่านมามักพบปัญหาว่าเอกซ์เรย์ปอดแล้วไม่พบก้อนมะเร็ง แต่ภายหลังกลับมาพบก้อนมะเร็งในระยะลุกลามแล้ว

ประเด็นนี้ นายแพทย์ ธีรวุฒิ อธิบายว่า มะเร็งปอดก็สามารถตรวจคัดกรองค้นหามะเร็งได้เช่นกัน เพียงแต่การเอกซ์เรย์ปอดไม่สามารถหาก้อนมะเร็งขนาดเล็กได้ แต่อาจจะเห็นก้อนมะเร็งที่มีขนาดใหญ่ ส่วนการตรจคัดกรองมะเร็งปอดในระยะแรกนั้น ปัจจุบันมีการตรวจด้วยเครื่อง CT Scan (Low Dose CT) ซึ่งสามารถตรวจพบโรคมะเร็งปอดในระยะแรกได้เพิ่มขึ้น ช่วยให้สามารถรักษาได้ทันท่วงที ทำให้ได้ผลการรักษาที่ดีขึ้น อัตราการรอดชีวิตเพิ่มขึ้นได้

“สำหรับกลุ่มเสี่ยงที่ควรตรวจคัดกรองด้วย Low Dose CT หรือการทำซีทีแบบรังสีน้อย จากการศึกษาในต่างประเทศ คือ ผู้ที่สูบบุหรี่อยู่ที่ประมาณ 30 pack คือจำนวนซองที่สูบในหนึ่งวันคูณจำนวนปีที่สูบ ได้เท่ากับ 30 หรือมากกว่า หรืออดบุหรี่ได้ไม่ถึง 15 ปี และอายุ 55-70 ปี จึงควรทำการตรวจคัดกรองแบบ Low Dose CT ส่วนผู้ที่สูบบุหรี่น้อยกว่านี้ควรทำหรือไม่ ก็ต้องปรึกษากับแพทย์ถึงความจำเป็น” นายแพทย์ ธีรวุฒิ กล่าว

สำหรับการรักษามะเร็งปอดนั้น นายแพทย์ ธีรวุฒิ ระบุว่า ในระยะเริ่มต้น จะรักษาด้วยการผ่าตัด แต่ในระยะที่สูงขึ้นผ่าตัดไม่ได้ จะพิจารณาให้การฉายรังสีรักษาร่วมกับเคมีบำบัด ส่วนในระยะที่ตัวโรคกระจายไปอวัยวะสำคัญอื่นๆ แล้ว จะใช้ยาเคมีบำบัด หรือ ยามุ่งเป้า (targeted therapy) ออกฤทธิ์ที่ยีนผิดปกติในมะเร็งปอดโดยตรง ปัจจุบันไม่มีการพัฒนายาเพิ่มภูมิคุ้มกันมารักษาได้แล้ว อย่างไรก็ตาม ยังต้องพิจารณาจากปัจจัยของตัวผู้ป่วยเองด้วย หากผู้ป่วยไม่สามารถรับการผ่าตัดได้ เนื่องจากอายุมากหรือมีโรคประจำตัว ก็อาจพิจารณาใช้วิธีการรักษาอื่น แม้จะเป็นระยะเริ่มต้นก็ตาม ซึ่งตรงนี้ทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะปรึกษาและวางแผนการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วย

อย่างไรก็ตาม การไม่ป่วยเป็นมะเร็งถือว่าดีที่สุด ซึ่งสิ่งสำคัญในการป้องกันโรคมะเร็งปอด นายแพทย์ ธีรวุฒิ สรุปย้ำว่า คือการงดสูบบุหรี่ และงดดื่มเครื่องแอลกอฮอล์ นั่นเอง

23 April 2561

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By STY_Lib

Views, 3043

 

Preset Colors