02 149 5555 ถึง 60

 

BDMS ไขข้อข้องใจ “มะเร็ง” เกิดจากเวรกรรมจริงหรือ

BDMS ไขข้อข้องใจ “มะเร็ง” เกิดจากเวรกรรมจริงหรือ

เผยแพร่: 25 มี.ค. 2561 13:57: โดย: MGR Online

“มะเร็ง” โรคร้ายที่ไม่มีใครอยากเป็น แม้ปัจจุบันจะมีข้อมูลชัดเจนว่า ปัจจัยใดที่ส่งผลต่อความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งบ้าง แต่ก็มีคนจำนวนหนึ่งที่สุขภาพดี แข็งแรง ไม่เจ็บป่วย ไม่สัมผัสปัจจัยเสี่ยงโรคมะเร็ง แต่วันดีคืนดีกลับพบว่าเป็นมะเร็งร้ายขึ้นมา หลายคนจึงมองว่า “มะเร็ง” เป็นเรื่องของเวรกรรม

ประเด็นนี้ นายแพทย์ ธีรวุฒิ คูหะเปรมะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวัฒโนสถ โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ ในโรงพยาบาลกลุ่มบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS ไขข้อสงสัยว่า จริงๆ แล้ว “มะเร็ง” ก็เป็นเรื่องของ “กรรม” จริง แต่ใช่เวรกรรม นั่นคือ เป็นเรื่องของ “พฤติกรรม” และ “พันธุกรรม” โดยมะเร็งที่เกิดจากพันธุกรรมมีประมาณ 5-10% เท่านั้น

“ถามว่ามะเร็งเป็นเรื่องของกรรมแต่ปางก่อนหรือไม่ คงไม่ใช่ แต่เป็นเรื่องของกรรมในชาตินี้เลย โดยมะเร็งจากพันธุกรรมนั้นมาจากสารพันธุกรรมหรือยีนที่มีความผิดปกติ ซึ่งสามารถถ่ายทอดภายในครอบครัว เมื่อลูกหลานที่ได้รับยีนผิดปกติจึงมีการแสดงออกของโรคมะเร็งตั้งแต่อายุยังน้อย เมื่อเทียบกับคนที่ไม่มีความผิดปกติของยีนมาแต่กำเนิดที่จะต้องใช้เวลายาวนานกว่าที่จะเกิดความผิดปกติของยีนหลายชนิดจนมากพอที่จะทำให้เซลล์เปลี่ยนไปเซลล์มะเร็ง” นายแพทย์ ธีรวุฒิ กล่าว

ทั้งนี้ ยีนที่ส่งผลต่อการเกิดมะเร็งตัวอย่างเช่น ยีน BRCA1 และ BRCA2 ซึ่งเป็นกลุ่มยีนที่ทำหน้าที่ควบคุมไม่ให้มีการเจริญของเซลล์ (tumor suppressor gene) โดยในเซลล์ปกติ BRCA1 และ BRCA2 จะช่วยดำรงเสถียรภาพของสารพันธุกรรม และป้องกันการเจริญเติบโตที่ผิดปกติของเซลล์ แต่การผ่าเหล่าของยีนเหล่านี้มีความเกี่ยวข้องกับการเกิดกลุ่มโรคมะเร็งหลายชนิด และสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้

โดยการผ่าเหล่าของยีน BRCA1 นอกจากมะเร็งเต้านมแล้วอาจจะเพิ่มโอกาสของการเกิดมะเร็งปากมดลูก มะเร็งมดลูก มะเร็งตับอ่อน มะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งต่อมลูกหมาก ขณะที่การผ่าเหล่าของยีน BRCA2 อาจจะเพิ่มโอกาสของการเกิดมะเร็งตับอ่อน มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งถุงน้ำดี มะเร็งท่อน้ำดี และมะเร็งของเซลล์ผลิตเม็ดสี (Melanoma)

นายแพทย์ ธีรวุฒิ กล่าวว่า มะเร็งจากกรรมพันธุ์มักพบในกลุ่มผู้ที่มีประวัติครอบครัวที่เป็นมะเร็งกันมาก โดยเฉพาะญาติใกล้ชิดและอาจพบมะเร็งได้ในหลายอวัยวะที่มีความสัมพันธ์กัน เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ และมะเร็งลำไส้ใหญ่ ดังนั้น เมื่อรับรู้ว่ามีความเสี่ยงจากกรรมพันธุ์ จึงต้องปฏิบัติตัวให้เหมาะสมและหมั่นตรวจคัดกรองค้นหามะเร็งชนิดนั้นสม่ำเสมอ เพื่อค้นหาโรคเจอตั้งแต่ระยะแรก ซึ่งมีโอกาสที่จะรักษาหายขาดได้สูง

“ส่วนพันธุกรรมอีกแบบหนึ่งคือ เราอาจมียีนที่ได้รับการถ่ายทอดเป็นยีนที่ไวต่อสารก่อมะเร็ง แต่เราไม่ทราบ ซึ่งหากสารก่อมะเร็งนั้นไม่เข้ามาสัมผัสก็คงไม่เกิดโรคมะเร็ง แต่หากสัมผัสขึ้นมาก็มีโอกาสเกิดมะเร็งขึ้นได้ ซึ่งในอนาคตคงมีการค้นคว้าเพื่อให้ทราบว่า ยีนของเราหรือสารพันธุกรรมของเราแพ้ต่อสารก่อมะเร็งอะไรหรือไม่ ซึ่งนั่นเป็นเรื่องในอนาคต แต่ระหว่างที่ยังไม่ทราบก็ควรพาตัวเองออกจากสิ่งแวดล้อมที่เสี่ยง ยกตัวอย่าง ในครอบครัวมีผู้ป่วยมะเร็งปอด หากสูบบุหรี่ก็อาจมีโอกาสป่วยเป็นมะเร็งปอดมากกว่าคนสูบบุหรี่ทั่วไป แต่หากเราไม่สูบอาจมีความเสี่ยงน้อยหรือไม่เป็น” นายแพทย์ ธีรวุฒิ กล่าว

สำหรับเรื่องของ “พฤติกรรม” ถือว่าค่อนข้างชัดเจน เพราะทำสิ่งใดก็ต้องใดรับผลสิ่งนั้น ดังนั้น หากมีพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง ก็แน่นอนว่ามีโอกาสสูงที่จะเกิดโรคมะเร็งจากพฤติกรรมของตัวเองได้ นายแพทย์ ธีรวุฒิ ระบุว่า โดยพฤติกรรมเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งมีหลายอย่าง เช่น ไม่ออกกำลังกาย ไม่กินผักผลไม้ สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรืออย่างคนอีสานที่รับประทานปลาน้ำจืดดิบ ก็เป็นพฤติกรรมเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งตับชนิดท่อน้ำดี หรืออย่างรับประทานอาหารประเภทเนื้อแดง อาหารเนื้อสัตว์ที่แปรรูป ก็เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งได้ ดังนั้น พฤติกรรมเสี่ยงที่ทำอยู่เป็นประจำ แน่นอนว่าเป็นเรื่องยากลำบากที่จะเปลี่ยน แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่ดื่มกินเลย อย่างเนื้อแดงก็กินได้ แต่ต้องกินให้หลากหลาย ทุกอย่างเดินตามทางสายกลาง ไม่มาก ไม่น้อยเกินไป เพราะ “มะเร็ง” ไม่ได้เกิดขึ้นทันทีทันใน แต่ต้องใช้เวลานานในการเกิด

มะเร็ง เกิดขึ้นจากเวรกรรมในอดีตชาติหรือไม่ ไม่มีใครสามรถตอบได้ แต่จาก “กรรม” ในชาตินี้นั้น สามารถส่งผลให้เกิดโรคมะเร็งได้แน่นอน ทั้งจาก “พันธุกรรม” ที่ติดตัวมาแต่เกิด และ “พฤติกรรม” ที่กระทำในชาตินี้ ดังนั้น เมื่อรู้ว่ามีความเสี่ยงจากการถ่ายทอดมะเร็งทางพันธุกรรมก็ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ยิ่งก่อให้เกิดมะเร็งชนิดนั้น และหมั่นตรวจคัดกรองเป็นประจำ ส่วนพฤติกรรมเสี่ยงที่กระทำอยู่ ก็ต้องลดหรือเลิก เพื่อลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็ง

เท่านี้ก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งลงไปได้มาก เรียกว่าใช้ชีวิตกันด้วยความไม่ประมาท จะดีที่สุด

26 March 2561

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By STY_Lib

Views, 1859

 

Preset Colors