02 149 5555 ถึง 60

 

โรคน้ำคั่งในโพรงสมองในผู้สูงอายุ

โรคน้ำคั่งในโพรงสมองในผู้สูงอายุ

เผยแพร่: 23 มี.ค. 2561 16:31: โดย: MGR Online

หากพบผู้สูงอายุมีอาการเดินผิดปกติ ลักษณะเดินช้า ๆ ซอยเท้าถี่ ๆ ดูงุ่มง่าม และหกล้มบ่อย อย่าเข้าใจผิดคิดว่าเป็นโรคในผู้สูงอายุที่รักษาไม่หาย ความจริงแล้ว อาจเกิดจากน้ำคั่งในโพรงสมองที่มีทางรักษาให้กลับมาเดินเป็นปกติได้ รายละเอียดเป็นอย่างไร เรามาทำความรู้จักกับโรคนี้กัน

โรคน้ำคั่งในโพรงสมองในผู้สูงอายุ เป็นภาวะความผิดปกติทางสมองที่เกิดจากโพรงน้ำในสมองมีขนาดใหญ่ขึ้น การขยายตัวของโพรงน้ำไปกดเบียดเนื้อสมองทำให้สมองทำงานผิดปกติ มักเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป เป็นโรคที่มีอุบัติการณ์สูงมาก ถึงระดับที่น่าจะมีผู้ป่วยโรคนี้หลายแสนคนในประเทศไทย จึงควรรู้จักและทำความเข้าใจในการสังเกตผู้สูงอายุในบ้านเพื่อได้ทำการรักษาได้ทันท่วงที

โดยทั่วไปผู้ที่เป็นโรคนี้จะเดินผิดปกติ เดินช้า ก้าวขาไม่ออก ยกขาไม่พ้นจากพื้น เดินซอยเท้า ทรงตัวไม่ดี ล้มบ่อย และมีผู้ป่วยบางรายมาหาหมอด้วยเรื่องล้ม โดยไม่คิดว่าโรคนี้แอบแฝงอยู่ ผู้ป่วยมักจะยืนโน้มตัวไปข้างหน้า ก้มหน้าตัวงอเอียง ปัสสาวะบ่อย บางครั้งเล็ด เข้าห้องน้ำไม่ทัน พูดน้อย เสียงเบาแหบ สำลักน้ำและอาหารบ่อย นั่งไหนหลับนั่น ความจำเสื่อมลง ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ลักษณะดำเนินของโรคจะค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไป และมีผู้ป่วยบางรายที่มีผลการตรวจเอกซเรย์ที่ผิดปกติ และเข้าได้กับภาวะนี้จำนวนมากจะมีอาการภายใน 4-5 ปี ให้คอยสังเกตและระวัง หากรู้เร็วรักษาเร็วสามารถรักษาหายได้เป็นปกติ

ในการวินิจฉัย แพทย์จะทำการซักประวัติ ดูอาการผิดปกติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองหรือ CT Scan หรือการตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสมอง หรือ MRI จะพบโพรงน้ำในสมองมีขนาดใหญ่ และพบร่องผิวสมองบริเวณส่วนบนของศีรษะ และบริเวณแนวกลางสมองมีลักษณะแคบและแน่น ร่วมกับมีความผิดปกติของการเดิน ในผู้ป่วยบางรายเราจะใช้การเจาะระบายน้ำจากโพรงสันหลังและผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น ก็เป็นข้อบ่งชี้ว่าเป็นโรคนี้

สำหรับการรักษา แพทย์จะทำการผ่าตัดใส่อุปกรณ์ระบายน้ำเลี้ยงสมอง - ไขสันหลัง เข้าสู่ช่องท้อง ซึ่งเป็นการผ่าตัดที่ใช้ระยะเวลาสั้นมีผลแทรกซ้อนไม่มาก ผลการรักษาได้ผลดี

เทคนิคที่ใช้มี 2 วิธี คือ

1. ใส่อุปกรณ์ระบายน้ำจากโพรงสมองเข้าสู่ช่องท้อง

2. ใส่อุปกรณ์ระบายน้ำจากโพรงสันหลังระดับเอวเข้าสู้ช่องท้อง

โดยอาการต่าง ๆ ผู้ป่วยจะดีขึ้นจนถึงหายเป็นปกติ รวมทั้งสามารถป้องกันหรือหยุดการดำเนินของโรคที่อาจนำมาซึ่งทุพพลภาพในอนาคตจากการหกล้ม การสำลักอาหารหรือน้ำ ตลอดจนแผลกดทับตามร่างกาย ซึ่งมีผู้ป่วยจำนวนมากไม่ได้รับการวินิจฉัยในระยะแรก ทำให้ผู้ป่วยจำนวนมากเสียโอกาสในการป้องกันหรือรักษาโรคดังกล่าว โรคนี้ไม่เพียงส่งผลต่อสุขภาพผู้ป่วยแล้วยังมีผลกระทบต่อครอบครัว ต่อสังคม และล่าสุดทางโรงพยาบาลศิริราชมีการค้นพบองค์ความรู้ใหม่เกี่ยวกับอาการที่พบบ่อยมาก และได้รับการตีพิมพ์รายงานในวารสารทางวิชาการระดับนานาชาติเป็นครั้งแรกของโลก ได้แก่ เสียงแหบ กลืนสำลัก ซึ่งความเข้าใจอาการเหล่านี้จะช่วยในการวินิจฉัยผู้ป่วยได้มากขึ้นด้วย

หลังการผ่าตัดสำหรับผู้ป่วยที่เดินไม่ได้มาเป็นเวลานาน จะมีกล้ามเนื้อขาลีบและอ่อนกำลัง หลังผ่าตัดแล้วสมองจะสามารถสั่งการมาที่ขาให้เดินแล้วก็ตาม แต่หากกล้ามเนื้ออ่อนกำลังไม่สามารถเดินได้ทันที ต้องทำกายภาพบำบัดเพื่อฝึกยืน ฝึกเดิน พยามยามและอดทนทำอย่างต่อเนื่องหลายเดือนจึงเริ่มเห็นผล ที่สำคัญคือพบแพทย์เพื่อติดตามอาการตามนัดทุกครั้ง

26 March 2561

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By STY_Lib

Views, 2498

 

Preset Colors