02 149 5555 ถึง 60

 

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ผลิตแบคทีเรียอัดเม็ดกำจัดลูกน้ำยุง

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ผลิตแบคทีเรียอัดเม็ดกำจัดลูกน้ำยุง

สยามรัฐออนไลน์ 23 มีนาคม 2561 12:35

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ศึกษาพัฒนาผลิตภัณฑ์แบคทีเรียรูปแบบผงและ แบบอัดเม็ดกำจัดลูกน้ำยุง ทดสอบแล้วสามารถกำจัดลูกน้ำยุงชนิดต่างๆ ได้แก่ ยุงลายพาหะนำโรคไข้เลือดออก และซิกา ยุงลายสวนพาหะนำโรคไข้ปวดข้อและชิคุนกุนยา ยุงก้นปล่องพาหะนำโรคมาลาเรียได้อย่างรวดเร็ว และไม่เป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตอื่น

นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า โรคที่มียุงเป็นพาหะ เช่น โรคไข้เลือดออก ไข้ซิกา โรคชิคุนกุนยา โรคมาลาเรีย เป็นโรคที่เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย โดยเฉพาะโรคมาลาเรียนั้นมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ซึ่งแม่การะเกดแห่งบุพเพสันนิวาสได้แนะนำวิธีป้องกันโดยการปิดฝาภาชนะใส่น้ำต่างๆ เพื่อป้องกันการเพาะพันธุ์ของยุงพาหะ และนอนกางมุ้งเพื่อป้องกันการถูกยุงกัด ส่วนในปัจจุบันพบว่ามีสถานการณ์การติดเชื้อมาลาเรียสูงบริเวณตามแนวชายแดน เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศ เป็นป่าเขาเหมาะแก่การเจริญเติบโตของยุงก้นปล่อง ซึ่งเป็นพาหะนำโรคไข้มาลาเรีย อันเกิดจากเชื้อพลาสโมเดียมชนิดต่างๆ ซึ่งพบแพร่กระจายอยู่ในประชาชนบริเวณชายแดนที่มีการอพยพอยู่ตลอดเวลา โดยมีรายงานการดื้อยาของเชื้อนี้มาอย่างต่อเนื่อง และล่าสุดองค์การอนามัยโลกได้ประกาศว่าพบการดื้อยาของเชื้อพลาสโมเดียม ฟัลซิปารัม ต่อยาอาร์ตีมิซินิน (Artemisinin) ซึ่งเป็นยาหลักที่ใช้ในการรักษามาลาเรียในพื้นที่ 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย, เมียนมาร์, ลาว, เวียดนาม และกัมพูชา โดยเฉพาะที่บริเวณชายแดน ไทย–กัมพูชานั้น มีรายงานว่าพบเชื้อพลาสโมเดียม ฟัลซิปารัม ที่สามารถต้านยารักษามาลาเรียได้เกือบทุกชนิด เรียกว่า “ซุปเปอร์มาลาเรีย” ซึ่งถ้าหากการดื้อยานี้แพร่กระจายไปสู่ส่วนอื่นๆ ของภูมิภาค ก็จะทำให้การควบคุมและรักษาโรคมาลาเรีย เป็นไปได้ยากมากขึ้นและโรคไข้เลือดออก โรคซิกาจากยุงลาย เป็นต้น

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จึงได้ทำการศึกษาข้อมูลยุงพาหะนำโรคมาลาเรีย ทั้งด้านชนิด, การแพร่กระจาย, ความหนาแน่นในพื้นที่ชายแดน จัดทำเป็นฐานข้อมูลในลักษณะของแผนที่ GIS เพื่อเป็นข้อมูล ในการควบคุมยุง อีกทั้งยังได้ศึกษาพัฒนาวิธีการควบคุมทางชีววิธี ในรูปแบบของผลิตภัณฑ์กำจัดลูกน้ำยุงรูปแบบผงและแบบอัดเม็ด ซึ่งเป็นการนำสิ่งมีชีวิตมาควบคุมกำจัดลูกน้ำยุง โดยใช้แบคทีเรียกำจัดลูกน้ำยุงชนิด Bacillus thuringiensis var. israelensis (Bti) และ Bacillus sphaericus (Bsph) หลักการคือเมื่อลูกน้ำยุงกินแบคทีเรียเหล่านี้เข้าไป ผลึกโปรตีนที่อยู่ภายในเซลล์แบคทีเรีย จะก่อให้เกิดพิษกับลูกน้ำยุง พิษจะเข้าไปทำลายระบบทางเดินอาหารทำให้ลูกน้ำยุงตายอย่างรวดเร็ว ที่สำคัญผลึกโปรตีนนี้สามารถสลายตัวไปเองตามธรรมชาติและไม่เป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตอื่น ซึ่งแบคทีเรียทั้ง 2 ชนิดนี้ ห้องปฏิบัติการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์สามารถผลิตได้อย่างครบวงจร หรือสามารถติดต่อขอซื้อได้จาก บริษัท ทีเอฟไอ. กรีนไบโอเทค จำกัด ชื่อผลิตภัณฑ์ “มอสแท็บ (Mostab)” โทรศัพท์ 032-371357-8 ซึ่งได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ไปผลิตเชิงอุตสาหกรรม เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ได้โดยง่ายขึ้น

“กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของชุมชนในการควบคุม ป้องกันโรคที่มียุงเป็นพาหะ ดังนั้นระหว่างทำการสำรวจและเก็บข้อมูลก็ได้ให้ความรู้กับประชาชนในพื้นที่ชายแดนเกี่ยวกับยุงพาหะชนิดต่างๆ วิธีการป้องกันตัวเองจากการถูกยุงกัด การจัดการกับสภาพแวดล้อมไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง รวมทั้งแจกจ่ายผลิตภัณฑ์แบคทีเรียกำจัดลูกน้ำยุงอัดเม็ด ที่ได้มีการทดสอบแล้วว่ามีประสิทธิภาพในการกำจัดลูกน้ำยุงชนิดต่างๆ ได้แก่ ยุงลายพาหะนำโรคไข้เลือดออกและซิกา ยุงลายสวนพาหะนำโรคไข้ปวดข้อและชิคุนกุนยา ยุงก้นปล่องพาหะนำโรคมาลาเรีย รวมทั้งยุงรำคาญ ” นายแพทย์สุขุม กล่าวเพิ่มเติม

26 March 2561

ที่มา สยามรัฐ

Posted By STY_Lib

Views, 596

 

Preset Colors