02 149 5555 ถึง 60

 

ทำไมถึงต้องออกกำลังกายในผู้สูงอายุ

ทำไมถึงต้องออกกำลังกายในผู้สูงอายุ

การออกกำลังกายในผู้สูงอายุควรทำต่อเนื่องมาตั้งแต่ยังเยาว์วัย จะได้มีสุขภาพที่ดีตอนสูงอายุ ไม่ใช่มาเริ่มออกกำลังกายตอนสูงอายุ แต่การออกกำลังกาย ไม่มีคำว่า สายเกินไป เริ่มออก

เมื่อไหร่ก็ดีทั้งนั้น แต่ยิ่งเริ่มเร็วก็ยิ่งดี ก็เหมือนกับการวางแผนเรื่องการเงิน การออม การลงทุน ยิ่งเริ่มเร็วยิ่งดี

ทำไม ต้องออกกำลังกาย?

เพราะว่าตั้งแต่เราเกิดมาในโลกนี้ ร่างกายจะเสื่อมสภาพตามธรรมชาติ และจะเสื่อมเร็วถ้าเรามีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น หลอดเลือดทั่วร่างกายจะเริ่มต้นตีบทีละน้อย ทั้งที่ยังไม่มีอาการ กระทั่งตีบได้ 70-80% ของเส้นผ่าศูนย์กลางจึงจะเริ่มมีอาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่หัวใจ สมอง ช่องท้องและแขนขา นอกจากนั้น ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อเริ่มต้นลดลงตั้งแต่อายุ 30-40 ปี ความยืดหยุ่นของเอ็นและเอ็นข้อต่อจะเสื่อมลงตั้งแต่อายุ 30 ปี กระดูกเสื่อมลงตั้งแต่อายุ 35 ปี อัตราการเผาผลาญของร่างกายลดน้อยลง ทำให้ปริมาณและสัดส่วนไขมันในร่างกายเพิ่มขึ้น ถ้ายังกินอาหารมากเท่าเดิม ออกกำลังกายเท่าเดิม(ตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป ถ้ากิน ออกกำลังกายเท่าเดิม โดยเฉลี่ย น้ำหนักจะเพิ่มปีละครึ่งกิโลกรัม ฉะนั้นถ้าอยากมีน้ำหนักเท่าเดิม ต้องกินน้อยลง และหรือออกกำลังกายเพิ่มขึ้นจากเดิม) สายตา หู ฟัน เสื่อมลง น้ำตาล ไขมันในเลือด ความดันโลหิตสูงขึ้นตามอายุ เสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน (osteoporosis) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสุภาพสตรีที่ประจำเดือนหมด กระดูกงอกบริเวณหัวกระดูกของข้อ ท้องผูก การทำงานไตลดลง กินอาหารน้อยลง แต่อ้วนง่ายขึ้น มวลและกำลังกล้ามเนื้อลดลง สมองฝ่อ หลงลืม ฯลฯ

การที่จะรู้ว่าอ้วนหรือไม่ ควรดู 1) พุงตนเอง เอวควรเล็กกว่าสะโพก 2) น้ำหนักตนเอง 3) Body Mass Index(BMI) หรือดัชนีมวลกาย คือ น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม หารด้วยความสูงเป็นเมตรกำลังสอง เช่น ผู้ที่มีน้ำหนักตัว 77 กิโลกรัม และสูง 1.78 เมตร = 77 Į 1.782 = 77 Į 3.1684 = 24.30 ค่าปกติอยู่ที่ 18.5-24.9 (องค์การอนามัยโลกแนะว่าชาวเอเชีย BMI ควรไม่เกิน 23) และพุงชาย ควรเล็กกว่า 90 เซนติเมตร, หญิง เล็กกว่า 80 เซนติเมตร

ไขมันที่หน้าท้องมีความเกี่ยวข้องกับโรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจตีบและอุดตัน, มะเร็ง, อ้วนลงพุง ฯลฯ อ้วนที่ไหนก็อ้วน เช่น สะโพก แต่อย่าอ้วนที่พุง

โรคอ้วนทำให้มีภาวะแทรกซ้อนต่างๆ มากมาย เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจตีบและอุดตัน อัมพฤกษ์ อัมพาตหลอดเลือดดำอุดตันที่ขา(และอื่นๆ) และหลุดไปอุดตันหลอดเลือดใหญ่ที่ปอด เบาหวาน ระดับไขมันในเลือดผิดปกติ กระเพาะอาหารเลื่อนขึ้นมาในทรวงอก (hiatal hernia) นิ่วในระบบทางเดินน้ำดี และมีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งของ 13 อวัยวะ คือ มะเร็งของลำไส้ใหญ่ เต้านม ตับ ตับอ่อน หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ถุงน้ำดี ต่อมลูกหมาก มดลูก รังไข่ ไทรอยด์ multiple myeloma (โรคของระบบเลือด) และ meningioma (สมอง) ตับอักเสบจากไขมันในตับ (NAFLD, NASH) ตับแข็ง มะเร็งของตับ คนอ้วนถ้าเป็นโรคตับอ่อนอักเสบจะมีโอกาสเป็นรุนแรงกว่าคนที่ผอม หอบ เส้นประสาทถูกกด นอนกรน ถ้านอนกรนและหยุดหายใจ อาจทำให้มีอันตรายได้ เพราะทำให้เป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ อัมพฤกษ์ อัมพาต สมองเสื่อม ฯลฯ คนอ้วนอาจมีปัญหาในการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ เป็นหมัน ภาวะแทรกซ้อนในการตั้งครรภ์ ข้อกระดูกเสื่อม ขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง ซึมเศร้า ขี้กังวล ฯลฯ

รวมทั้งโรคต่างๆ ที่พบได้ในผู้สูงอายุมีมากมาย อาทิโรคมะเร็ง หลอดเลือดหัวใจตีบและอุดตัน อัมพฤกษ์ อัมพาต ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน สมองเสื่อม กระดูกบาง พรุนและหกล้มทำให้กระดูกหัก โรคอ้วน หู ตา ข้อ ฟัน การขับถ่าย การเคลื่อนไหว โรคข้อ ปวดหลัง การทรงตัว ต่อมลูกหมากโต มะเร็ง ฯลฯ

การออกกำลังกายแบบแอโรบิกอย่างสม่ำเสมอจะสามารถช่วยลดความดันโลหิตได้ประมาณ 5-10 มม.ปรอท โรคความดันโลหิตสูงถูกขนานนามว่า “ฆาตรกรเงียบ” หรือ “Silent Killer” เพราะอาจไม่มีอาการ จะทราบก็ต่อเมื่อเป็นโรคแทรกซ้อนไปแล้ว เช่น โรคหัวใจ อัมพาต ฯลฯ คนไทยเป็นโรคความดันโลหิตสูงถึง 11 ล้านคนและใน 6 ล้านคนการรักษายังไม่ดีพอ (ค่าความดันโลหิตปกติปัจจุบันนี้ควรอยู่ต่ำกว่า 120/80) (American College of Cardiology and American Heart Association 2017) ความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่ป้องกันได้ด้วยการไม่กินเค็มหรือเกลือเกิน 1 ช้อนชาต่อวัน หรือ 3 ช้อนชาน้ำปลา หรือ Na (sodium) ไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัม/วัน ออกกำลังกายและควบคุมน้ำหนักตัว ความดันโลหิตสูงจะทำให้เกิดโรคต่างๆ มากมาย อาทิ โรคหัวใจ อัมพาต ไต ตา ฯลฯ

21 March 2561

ที่มา แนวหน้า

Posted By sty_lib

Views, 816

 

Preset Colors