02 149 5555 ถึง 60

 

ควันร้าย...ความตายในฤดูร้อน

ควันร้าย...ความตายในฤดูร้อน

16 มีนาคม 2561 | โดย ชุติมา ซุ้นเจริญ

เมื่อคนไทยไม่ได้ปอดเหล็กหรือหัวใจเพชร ลมหายใจในภาวะหมอกควันและมลพิษจึงเป็นภัยใกล้แค่ปลายจมูก

ท้องฟ้าขมุกขมัวปกคลุมด้วยละอองสีขาวอาจดูราวกับหมอกยามเช้าที่ชวนสูดหายใจให้เต็มปอด แต่ถ้าพินิจพิเคราะห์ให้ดีคุณจะมองเห็นฝุ่นขนาดเล็กที่ปะปนอยู่ในนั้น หรือไม่ก็เริ่มมีอาการหายใจขัด แสบจมูก และถ้าลองเปิดดูค่าฝุ่นละอองในอากาศจากแอพพลิเคชั่น (ถ้าเป็นไปได้)หลายคนคงแทบจะหยุดหายใจเลยทีเดียว

นับตั้งแต่ปี 2548 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้จัดทำเกณฑ์แนะนำคุณภาพอากาศ ทั้งเรื่องของฝุ่นขนาดเล็ก 10 ไมครอน (PM10) และเล็กมาก 2.5 ไมครอน (PM2.5) โดยค่าเฉลี่ยในเวลา 24 ชั่วโมง PM10 กำหนดไว้ที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ส่วน PM 2.5 ไม่เกิน 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

สำหรับประเทศไทยได้กำหนดค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM10 ในเวลา 24 ชั่วโมงไว้ว่าจะต้องมีค่าไม่เกิน 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ส่วนค่าเฉลี่ยของฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ตามประกาศของกรมควบคุมมลพิษฉบับที่ 36 (พ.ศ.2553) กำหนดว่าจะต้องไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

ทว่า สถานการณ์ตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์จนถึงมีนาคม หลายจังหวัดทางภาคเหนือนอกจากจะพบจุดความร้อน (Hotspots) เพิ่มขึ้น ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กก็พุ่งสูงขึ้นด้วยเช่นกัน โดยในวันที่ 4 มีนาคม 2561 ที่อำเภอแม่เมาะ จ.ลำปาง ค่า PM2.5 สูงสุดถึง 208 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ส่วนตัวเมืองเชียงใหม่และขอนแก่น มีระดับความเข้มข้นของ PM2.5 สูงสุดมากกว่า 100 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร

กรุงเทพมหานครเองก็ไม่น้อยหน้า ล่าสุดกรมควบคุมมลพิษ รายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 ประจำวันที่ 12 มีนาคม เวลา 12.00 น. ตรวจวัดได้ระหว่าง 69-86 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เกินค่ามาตรฐานทั้ง 6 สถานี ได้แก่ เขตบางนา, วังทองหลาง, ริมถนนพระราม 4, ริมถนนอินทรพิทักษ์, ริมถนนลาดพร้าว และริมถนนพญาไท โดยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกสถานี

ถามว่าตัวเลขเหล่านี้กำลังบอกอะไร จากการศึกษาของธนาคารโลกชี้ว่า มลพิษอากาศในประเทศไทยในปัจจุบันถือเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตก่อนวันอันควรถึง 50,000 รายต่อปี สอดคล้องกับข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่กำหนดให้ฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM2.5) จัดอยู่ในกลุ่มที่ 1 ของสารก่อมะเร็ง ตั้งแต่ปี 2556 อีกทั้งยังเป็นสาเหตุให้ 1 ใน 8 ของประชากรโลกเสียชีวิตก่อนวัยอันควร เพิ่มระดับความอันตรายด้วยการรับรองจากสมาคมโลกหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกาว่า ฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน (PM10) เป็นปัจจัยเสี่ยงของอาการเส้นเลือดหัวใจตีบ

ถามต่อไปว่า...รู้อย่างนี้แล้วคนไทยยังหายใจทั่วท้องอยู่หรือไม่

ทุกลมหายใจคือ ตายผ่อนส่ง

“มลพิษในอากาศอันตรายยิ่งกว่าบุหรี่ เพราะว่ามันส่งผลตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ จนถึงลมหายใจสุดท้ายของชีวิต” ศาสตราจารย์ นายแพทย์ชายชาญ โพธิรัตน์ หัวหน้าหน่วยวิชาโรคระบบการหายใจ เวชบำบัด วิกฤตและภูมิแพ้ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดประเด็น ก่อนจะขยายความถึงผลกระทบต่อสุขภาพจากมลพิษทางอากาศว่า

“มันเล่นกันถึงปางตายเลยนะครับ ไม่ใช่ความเจ็บป่วย ไม่ใช่ความน่ารำคาญ ระคายคอ การแสบผิว คันผิวชิลๆ ไม่ใช่แค่นั้น อย่างที่ทางภาครัฐพยายามพูดหยุดอยู่แค่นั้น ไม่พูดเรื่องความตาย ไม่พูดเรื่องความเจ็บป่วยขั้นรุนแรง ประเภทว่าเล่นเอาทำงานไม่ได้ นอนโรงพยาบาล นอนไอซียู” อาจารย์หมอผู้ศึกษาความตายรายวันที่สัมพันธ์กับปัญหาหมอกควัน บอกว่าหากเชื่อในคำปลอบประโลมที่ว่า คุณภาพอากาศของประเทศไทยยังพ้นขีดอันตราย อาจทำให้เราใช้ชีวิตด้วยความประมาท

“เรามาดูความจริงกันดีกว่าว่า ผลกระทบของหมอกควันในระยะเฉียบพลัน ระยะสั้น และระยะยาวเป็นอย่างไร”

ในภาพรวมมลภาวะที่อยู่นอกอาคาร หากเป็นละอองอนุภาคขนาดเล็ก คือเล็กกว่า 10 ไมครอน จะสามารถเข้าไปในระบบทางเดินหายใจได้ ส่วนอนุภาคที่เล็กกว่า 2.5 ไมครอน จะเข้าสู่กระแสเลือดได้ทันที ซึ่งทั้งสองชนิดส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อสุขภาพ โดยองค์การอนามัยโลกระบุว่า ทุกๆ 10 ไมโครกรัมของฝุ่นละออง จะเพิ่มอัตราการเสียชีวิต (ที่ไม่ใช่อุบัติเหตุ อาชญากรรม และการฆ่าตัวตาย ) 0.6 เปอร์เซนต์ ถ้าเป็นการตายจากโรคระบบทางหายใจ จะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า คือ 1.3 เปอร์เซนต์ ในระยะยาวอัตราการเสียชีวิตจะเพิ่มเป็น 4 เปอร์เซนต์ ในทุกๆ 10 ไมโครกรัมของฝุ่นละอองที่เพิ่มขึ้น

และแม้ว่าผลกระทบจากมลภาวะในอากาศจะส่งผลต่อสุขภาพของแต่ละคนแตกต่างกันไป ตามวัย ความแข็งแรงของร่างกาย รวมถึงโรคประจำตัว แต่นายแพทย์ชายชาญรับรองว่า “ทั่วถึง” ซึ่งแต่ละคนจะได้รับอานิสงส์ไม่มากก็น้อย

“มันไปสะสมเหมือนเราสะสมไมล์สายการบิน สะสมไปเรื่อยๆ รอเป็นมะเร็ง รอป่วย”

นายแพทย์ชายชาญ ให้ข้อมูลการตายรายวันและความเจ็บป่วยของประชาชนใน อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ซึ่งสัมพันธ์กับปัญหาหมอกควันช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ปี 2559 และ 2560 ว่าช่วงเวลาดังกล่าว ในโรงพยาบาลเชียงดาว มีผู้ป่วยเข้ารักษาตัวในห้องฉุกเฉิน 950 ราย สาเหตุจากโรคถุงลมโป่งพอง 360 ครั้ง ปอดอักเสบ 319 ครั้ง กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด 30 ครั้ง โรคหลอดเลือดสมอง (stroke) 221 ครั้ง มีการตายในโรงพยาบาล 68 ราย นอกจากนี้ยังมีการตายในชุมชนถึง 477 ราย

“เราไม่รู้ว่ามาจากมลภาวะหรือเปล่า แต่เมื่อมาใช้วิธีการทางสถิติพบว่า การเสียชีวิตรายวันในโรงพยาบาล มันสัมพันธ์กับระดับซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้น และการเพิ่มขึ้นของ PM2.5 ทุกๆ 10 ไมโครกรัม อัตราการเสียชีวิตจะเพิ่มขึ้น 0.15 เปอร์เซนต์ ซึ่งการเพิ่มขึ้นของ PM10 และ PM2.5 สัมพันธ์กับการนอนโรงพยาบาลที่เพิ่มขึ้นด้วย นอกจากนี้ในปี 2549-2552 ผมได้ศึกษาในตัวเมืองเชียงใหม่ ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลใหญ่ๆ พบว่าคนไข้ที่เป็นหอบหืดกับถุงลมโป่งพองกำเริบมากขึ้นในช่วงนี้”

ตัวเลขดังกล่าวเป็นไปในทิศทางเดียวกับงานวิจัยในต่างประเทศที่ระบุว่า ทุกๆ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรที่เพิ่มขึ้นของ PM2.5 จะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งปอด 8-14 เปอร์เซนต์ และอัตราการตายจากโรคหัวใจและโรคปอดเพิ่มขึ้นประมาณ 4 เปอร์เซ็นต์

“ปัญหาคือ ไม่มีใครบอกหรอกครับว่า ญาติคุณเป็น stroke จากมลภาวะ เป็นกล้ามหัวใจขาดเลือดจากมลพิษ”

หมอกควัน ปัญหาสะสมซ้ำเติม

หากความตายคือปลายทาง แล้วใครคือฆาตกร?

ตอบแบบกำปั้นทุบดินก็คือ ‘มนุษย์’ เพราะสาเหตุของมลพิษทั้งหลายล้วนเกิดจากการดำเนินชีวิตของเราแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น การคมนาคม การผลิตไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรม แต่ดูเหมือนว่า ‘จำเลย’ ที่สังคมมักชี้นิ้วให้เป็นตัวการสำคัญในการก่อฝุ่นละอองขนาดเล็กกลับเป็น ‘การเผาในที่โล่ง’ รวมถึงไฟในพื้นที่ป่า ที่เป็นสาเหตุของหมอกควันในช่วงฤดูแล้ง

“ความตายจากมลภาวะพวกนี้มันกระทบมากในฤดูร้อน ซึ่งมีการเผาพืชเกษตรเยอะ เผาในที่โล่งเยอะ” คุณหมอชี้เหตุผลที่ต้องโฟกัสประเด็นนี้

โครงการติดตามตรวจสอบการเผาในที่โล่งในภาคเหนือของประเทศไทย สำหรับการประเมินการปล่อยและการเคลื่อนที่ของมลพิษทางอากาศเพื่อวางแผนการจัดการปัญหาหมอกควัน โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) พบว่า จังหวัดที่มีการเผาชีวมวลในพื้นที่เกษตรในช่วงฤดูแล้ง ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเมษายนมากที่สุดคือ จังหวัดน่านและพะเยา ส่วนการเผาชีวมวลในพื้นที่ป่ามากที่สุดคือ จังหวัดแม่ฮ่องสอนและเชียงใหม่

และจากการวิเคราะห์การเสี่ยงภัยจากภาวะหมอกควัน โดยใช้ข้อมูลความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM10 ในอากาศที่รายงานโดยกรมควบคุมมลพิษ สรุปได้ว่า ในช่วงเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ มีเพียง 1-5 วันที่ค่าความเข้มข้นของฝุ่น PM10 ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ แต่ในเดือนมีนาคมตลอดทั้งเดือนมีสถานการณ์มลพิษทางอากาศรุนแรงที่สุดที่จะส่งผลต่อสุขภาพ

“จากข้อค้นพบนี้ สามารถนำไปปรับเปลี่ยนรูปแบบการเผาในพื้นที่ได้ และเพื่อเป็นข้อสนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำไปใช้ประโยชน์ในการกำหนดนโยบายในการแก้ปัญหาหมอกควันในอนาคต นอกจากนี้ผลงานวิจัยจะช่วยให้เกษตรกรได้มีทางเลือกในการจัดการกับชีวมวลที่เหลือในพื้นที่ ให้มีการเผาอย่างเป็นระบบ โดยการพยากรณ์อากาศล่วงหน้า เพื่อประเมินสภาพอากาศ และอัตราการระบายอากาศรายวัน โดยจะต้องมีการวางระเบียบการเผาภายใต้การควบคุมอย่างเคร่งครัด” ผศ.ดร.สมพร จันทระ หัวหน้าศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชี้แนวทางบรรเทาปัญหาหมอกควันที่เกิดจากการเผาในพื้นที่เกษตร

อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ปัจจุบันต้องเข้าใจว่า ปัญหาหมอกควันหรือฝุ่นละอองในอากาศ ไม่ได้มาจากการเผาในพื้นที่นั้นๆ เพียงอย่างเดียว แต่อาจเป็นผลมาจากปัจจัยอื่นๆ รวมทั้งการเผาในพื้นที่ใกล้เคียงแล้วถูกกระแสลมพัดพามา โดยมีสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศเป็นเงื่อนไขที่ทำให้หมอกควันหนาแน่นในบางบริเวณ ที่น่าจับตาคือ สภาพหมอกควันที่เกิดขึ้นในกรุงเทพตั้งแต่ช่วงต้นปีเป็นต้นมา

“ผมติดตามดูภาพถ่ายดาวเทียม เดือนธันวา-มกรา ไทยยังไม่เผา เขมรเริ่มเผาแล้ว พอมีนา เผากันหมด มันเป็นรอบของการเกษตร ผมก็ไม่รู้ว่าบริษัทยักษ์ใหญ่ไปจ้างเขมรปลูกข้าวโพดเพราะว่าแรงงานถูกกว่าบ้านเราหรือเปล่า หรือหนีคนด่าก็เลยไปให้เขมรปลูกแทน เขมรก็เลยเผาเยอะเลย แล้วควันจากเขมรมันก็เข้าทางอีสานแล้วไปทางกรุงเทพ ไม่มีใครพูดเรื่องพวกนี้เลยตอนกรุงเทพเจอมลภาวะ”

ทิ้งไว้ให้ขบคิดและแก้ปัญหา ก่อนที่ปอดของประชาชนชาวไทยจะถูกทำลายไปมากกว่านี้ นายแพทย์ชายชาญ ชวนตั้งโจทย์ต่อไปว่า แล้วค่า PM10 และ PM2.5 ที่รัฐบาลไทยกำหนดเป็นมาตรฐานความปลอดภัยนั้น...ปลอดภัยจริงหรือไม่

“ตัวเลขที่องค์การอนามัยโลกแนะนำมีพื้นฐานจากงานวิจัยที่พบว่า อัตราการเสียชีวิตรายวันและความเจ็บป่วยสูงขึ้นเรื่อยๆ เป็นเงาตามตัวมลภาวะที่เพิ่มขึ้น”

“ยิ่งเรายอมปล่อยให้มันสูงๆ จากเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกกำหนด ก็เท่าเรายอมให้อัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น ทำไมเราต้องยอม ทำไมเราไม่พัฒนา ทำไมไม่กำหนดเป้าหมายเพื่อที่จะทำให้มันดีขึ้น”

คุณหมอย้ำว่า สาเหตุการตายของคนไทย 5 อันดับแรก (ข้อมูลปี 2558) คือ 1.มะเร็ง 2.เส้นเลือดในสมองแตก อุดตัน 3. ปอดบวม ปอดอักเสบ 4. กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และ 5. อุบัติเหตุ ทั้ง 4 อันดับแรก มลภาวะมีส่วนทำให้อัตราการตายเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกับคนไข้ที่เป็นความดัน เบาหวาน หรือเส้นเลือดหัวใจตีบอยู่แล้ว

“ต่อไปนี้นอกจากถามว่า คุมความดันดีหรือยัง คุมน้ำหนักดีหรือยัง คุมไขมันในเลือดดีหรือยัง ต้องถามว่า...คุมมลภาวะดีหรือยัง แต่ไม่มีใครพูดถึงเลย เงียบเลย”

ในมุมมองของนักวิชาการ ความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากควันร้ายในอากาศ ไม่ได้จบลงที่ความตายเท่านั้น การนอนโรงพยาบาล การใช้บริการห้องฉุกเฉิน ภาวะความเจ็บป่วย ความเสื่อมสมรรถภาพของอวัยวะต่างๆ การไม่สามารถดำเนินชีวิตตามปกติ การขาดงาน-ขาดเรียน นำมาซึ่งความสูญเสียทางเศรษฐกิจด้วย

เมื่อไม่นานมานี้ ผศ.ดร. วิษณุ อรรถวานิช ภาควิชาเศรษฐศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้นำเสนอผลการศึกษาต้นทุนสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM10 โดยใช้วิธี Subjective Well-Being พบว่า ต้นทุนสุขภาพและสิ่งแวดล้อมต่อฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM10 ที่เพิ่มขึ้นต่อปีทุก 1 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร มีมูลค่าความเสียหายแตกต่างกันในแต่ละจังหวัด เช่น กรุงเทพฯ 51,060 - 52,503 ล้านบาท, เชียงใหม่ 1,155 - 1,187 ล้านบาท, ลำพูน 430 - 443 ล้านบาท, ลำปาง 649 - 667 ล้านบาท, แม่ฮ่องสอน 117 - 121 ล้านบาท

ความสูญเสียเหล่านี้ไม่ควรที่คนไทยต้องรับผิดชอบตัวเองด้วยการเลือกหน้ากากอนามัยที่ใช้ป้องกันฝุ่นควันได้จริงเท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่ภาครัฐต้องหันมาดูแลสุขภาพของประชาชนให้จริงจังและจริงใจมากขึ้นกว่าเดิม

“การที่ประเทศไทยแนะนำมาตรฐานความปลอดภัย ในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยขององค์การอนามัยโลก ไม่ได้หมายความว่า ‘คนไทยปอดเหล็ก’ แต่ประชาชนของประเทศ ลูกหลานของรัฐบาล ‘เสี่ยง’ และเข้าใจผิดมาตลอดว่าค่า PM ยังไม่เกิน ยังปลอดภัย เที่ยวทั่วไทยกันดีกว่า จังหวัดรองลดภาษีด้วย ไปโน่นไปนี่...

เพราะฉะนั้นคิดดูนะครับว่า คนไทยแข็งแรงกว่า หรือว่ารัฐบาลของเราอ่อนแอกว่า”

ถึงเวลาหรือยัง...ที่ทุกลมหายใจของคนไทยจะได้รับการคุ้มครอง!

16 March 2561

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

Posted By STY_Lib

Views, 5661

 

Preset Colors